เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เตือนว่า...เรากำลังเผชิญ “วิกฤตการณ์ลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ “ประเทศไทย” เผชิญวิกฤตการณ์ใหญ่และยากมา 3 คลื่น ซึ่งก็เอาตัวรอดมาได้ แต่ทว่า...วิกฤตการณ์คลื่นลูกที่สี่นี้ยากกว่าสามลูกแรก
เพราะเป็นวิกฤตการณ์ความซับซ้อน...ที่ยากเข้าใจ และไม่มีใครเข้าใจ
“ในคลื่นวิกฤตการณ์สามลูกแรก เป็นวิกฤตการณ์ที่เข้าใจได้ง่ายว่าศัตรูคือใคร หรืออะไร ถ้ากำหนดศัตรูหรือสาเหตุของปัญหาได้ ก็สามารถกำหนดยุทธศาสตร์เอาชนะได้ในที่สุด แต่ในวิกฤตการณ์ความซับซ้อนทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันอย่างยาวไกลและซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถกำหนดศัตรูได้”
เมื่อกำหนดไม่ได้ก็ไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะได้ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์เรื้อรัง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลแบบใดๆ จนกระทั่งวิกฤติโควิดมาเยือน
ซึ่งสะเทือนประเทศอย่างรุนแรงในทุกมิติ แต่พร้อมๆกันนั้นวิกฤติโควิดได้เผยให้เห็นว่า...ประเทศไทยมีความอ่อนแอในตัวเองหลายอย่าง คลื่นลูกที่สี่...ที่ว่าไม่รู้ว่าศัตรูคือใครนั้น เผลอๆศัตรูคือตัวเราเอง ซึ่งหมายถึงความอ่อนแอในตัวเอง ประเด็นสำคัญต่อมา...ก็คือ ภูเขา 9 ลูกที่ขวางกั้นประเทศไทย
...
ภูเขาลูกที่หนึ่ง...นิสัยประจำชาติบางอย่างที่เกิดจากที่ตั้งของประเทศ สอง...วัฒนธรรมอำนาจ สาม...โครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ สี่...ขาดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หรือศีลธรรมพื้นฐาน ห้า...ติดกับดักวิธีคิด ขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ
ภูเขาลูกที่หก...ระบบการศึกษาที่ทำให้ด้อยสมรรถนะของชาติ เจ็ด...วิธีการพัฒนาแบบสร้างพระเจดีย์จากยอด แปด...มีความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ หรือขาดความเป็นธรรม
สุดท้าย...ภูเขาลูกที่เก้า ระบบการเมืองไม่มีสมรรถนะ
ทั้ง 9 ประการนี้ เชื่อมโยงและถักทอกันเป็นโครงสร้างที่หนาแน่น ที่กักขังประเทศไทยไว้จากความเจริญ ทำให้คนไทยเป็นประดุจ “ไก่อยู่ในเข่ง” ที่จิกตีกันร่ำไป แต่ถึงจะจิกตีกันจนเลือดตกยางออกหรือล้มตายอย่างไรๆ ก็ออกจากเข่งไม่ได้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจว่า “เข่ง” โครงสร้างที่ขังคนไทยและประเทศไทยไว้คืออะไร
น่าสนใจว่าแต่ละเรื่องมีรายละเอียดมาก ขอยกตัวอย่างขยายความ สรุปเพียงสั้นๆ ดังนี้ ภูเขาลูกที่หนึ่ง...ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีอาหารสมบูรณ์ มีภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหวน้อย และอากาศอบอุ่น ไม่มีใครหนาวตาย หรืออดตาย
ด้านที่ดีคือทำให้คนไทยเป็นคนมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจโอบอ้อมอารี ดังที่ใครๆ ก็อยากมาเที่ยวเมืองไทย แต่อีกด้านหนึ่ง...ทำให้คนไทยตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ตื่นตัว กระตือรือร้น ไม่แสวงหาความรู้ไม่ต้องคิดมากหรือวางแผนอะไร ก็อยู่ได้ไม่อดตายหรือหนาวตาย
บัดนี้ “สังคม” เปลี่ยนไปแล้ว สถานการณ์ใหม่ที่ยาก เช่น เรื่องเศรษฐกิจ สังคม โรคระบาดอย่างโควิด นิสัยประจำชาติที่ขาดความรู้ความสามารถเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นประเทศไทย
“อะไรที่เป็นนิสัยประจำชาติ...แก้ไขได้ยาก แต่ก็ต้องแก้”
ภูเขาลูกที่สอง...อย่างน้อยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ที่สังคมมีความสัมพันธ์เชิงนายกับไพร่ เราจะเห็นความสัมพันธ์ทางดิ่ง หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ทั่วไปในสังคม เป็นสัมพันธภาพแบบท็อป...ดาวน์ที่ใช้อำนาจจากบนลงล่าง หรือสัมพันธภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน
เช่น ระหว่างพ่อแม่กับลูก ครูกับนักเรียน นายจ้างกับลูกจ้าง นายกับลูกน้อง ข้าราชการกับราษฎร พระสงฆ์กับแม่ชี หรือแม้ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย...สัมพันธภาพที่ว่านี้ก่อให้เกิดความบีบคั้น พฤติกรรมเบี่ยงเบน...มีการเรียนรู้น้อย ทำให้ด้อยปัญญาทั้งสองฝ่าย
...
“ทั้งภูเขาลูกที่หนึ่งและภูเขาลูกที่สองทำให้สังคมโดยรวมเป็นสังคมที่ขาดการเรียนรู้ ขาดความรู้ไม่เป็นสังคมอุดมปัญญา วิกฤติโควิดเห็นได้ชัดว่า สังคมที่ขาดความรู้ไม่สามารถเผชิญสิ่งยากได้”
ตัดตอนข้ามไปที่...ภูเขาลูกที่หก ระบบการศึกษาไทยที่ทำมาร้อยกว่าปี เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เน้นการท่องแทนที่จะเอาความจริงของชีวิตเป็นตัวตั้งและเน้นที่การทำหรือปฏิบัติจริง ทำให้สร้างคนไทยที่ไม่รู้ความจริงของประเทศไทย ทำไม่เป็น คิดไม่เป็น จัดการไม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น
กลายเป็นคนอ่อนแอทั้งชาติ เป็นเหตุให้สมรรถนะของชาติต่ำ
ส่วน...ภูเขาลูกที่เจ็ด อย่างที่รู้กันว่า “พระเจดีย์” ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงๆ ถ้าไม่มีฐานรองรับ
“ประเทศไทยพัฒนาประดุจสร้างพระเจดีย์จากยอด อะไรๆ ก็จะเอาแต่ข้างบน โดยทอดทิ้งข้างล่าง หรือแย่งชิงทรัพยากรของคนข้างล่างมาให้คนข้างบน ทั้งนี้เพราะชนชั้นนำไม่เข้าใจสังคมข้างล่าง เมื่อสังคมข้างล่างหรือชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานของประเทศอ่อนแอ ก็ไม่สามารถรองรับสังคมทั้งหมดให้มั่นคง”
...
สังคมจึง “ทรุด” และ “แตก” กระจาย เศรษฐกิจของเกษตรกรล่มสลาย ความเหลื่อมล้ำและการขาดความเป็นธรรมกลายเป็นวิสัย
ภูเขาลูกที่แปด...ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากเป็นที่ 1 หรือที่ 3 ในโลก เพราะเหตุใหญ่หรือภูเขาทั้ง 7 ลูกข้างต้น อะไรที่เหลื่อมล้ำหรือเสียสมดุลมากจะเกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วน รุนแรง เกิดความไม่ปกติสุขและไม่ยั่งยืน เป็นปัญหาใหญ่ประดุจภูเขาอีกลูกหนึ่งไปถักทอกับภูเขาอีกเจ็ดลูก รวมเป็นภูเขาแปดลูกล้อมเอาไว้
“ประเทศไทย” ยิ่งเหมือนโดนมัดรัดให้ออกจากสภาวะวิกฤติไม่ได้
แล้วยังถูกกระหน่ำซ้ำด้วย...ภูเขาลูกที่ 9 “ระบบการเมืองไม่มีสมรรถนะ”
ด้วยว่า...ปัญหาทั้ง 8 ทำให้การเมืองไม่ดีและจะไม่มีวันดี ถ้าพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองเท่านั้นโดยไม่แก้เหตุที่ทำให้การเมืองไม่ดี ดังที่เป็นมาเกือบร้อยปีที่การเมืองของไทยยังลงตัวไม่ได้ เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศ จะนับเป็น “ภูเขาลูกที่ 9” ก็ได้
ถ้าพิจารณาดูโครงสร้างของปัญหาทั้งหมด ก็จะเข้าใจได้ว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายเดียวสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่า...รัฐบาลใดๆ หรือกองทัพ หรือภาคธุรกิจ ภาคราชการ ภาควิชาการ หรือภาคประชาสังคม มีทางเดียวที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะร่วมกันข้ามภูเขาทั้ง 9 ลูกให้ได้ คือ...คนไทยทั้งประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะก้าวข้าม
...
มุ่งมั่นร่วมกันทำ 7 เรื่องใหญ่ๆที่ถักทอกันเป็นรูป “พระเจดีย์แห่งการพัฒนาประเทศไทย” หรือ “พระเจดีย์ประเทศไทย” ที่ตั้งตระหง่านเหนือยอดเขาทั้ง 9 ลูก
“ยอดพระเจดีย์”...การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลเป็นสิ่งสูงสุด, การตื่นรู้สู่จิตสำนึกใหม่, พลังพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะ “ฐานพระเจดีย์”...ชุมชนเข้มแข็ง คือ ฐานของประเทศ “ตัวองค์พระเจดีย์”...ระบบต่างๆที่เชื่อมระหว่างฐานและยอด เช่น ระบบการเมืองการปกครอง...เศรษฐกิจ...การศึกษา...สุขภาพ...ความยุติธรรม
อีก 2 ส่วน ระบบนโยบายสาธารณะ ที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ และ...ระบบการสื่อสาร ที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้ความจริง มีความจริงทำให้เกิดความถูกต้อง
สุดท้ายนี้ตั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “คนไทย” จะเอาชนะวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พลิกฟื้นทุกวิกฤติให้ผ่านพ้นไปให้จงได้.