โค้งสุดท้ายปลายฝนต้นหนาวยังเจอ “อิทธิพลพายุโซนร้อน” ที่มีแรงหนุนจากปรากฏการณ์ลานีญาดีดตัวแรงให้ “ฝนตกหนักกระหน่ำ” เกิดมวลน้ำเพิ่มขึ้นเข้าท่วมหลายจังหวัดได้รวดเร็วจนตั้งรับไม่ทัน
ตั้งแต่พื้นที่ “ภาคเหนือตอนล่าง” มวลน้ำไหลหลากทะลักลง “ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” ผ่านยาวถึง “ภาคกลางตอนบน” เพื่อมุ่งหน้าลงอ่าวไทย ในส่วน “ภาคอีสาน” ก็ไม่ต่างกัน “ลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่ง” เข้าท่วมบ้านเรือนไร่นาสาโทเกษตรเสียหาย แล้วมารวมกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ไหลลงสู่แม่น้ำโขง
เท่านั้นยังไม่พอคาดกันว่า “ภายในเดือน ต.ค.นี้น่าจะมีพายุเคลื่อนเข้าใกล้ประเทศไทยอีก 1-2 ลูก” กลายเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดฝนตกหนักสะสมนำมวลน้ำก้อนใหญ่เข้ามาสมทบน้ำรอระบายให้ “เกิดอุทกภัยหนักซ้ำขึ้นในหลายจังหวัด” จนถูกมองว่า “เหตุการณ์ปี 2564 ใกล้เคียงซ้ำรอยน้ำท่วม 2554” หรือไม่
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่า ตามข้อมูลในมหาสมุทรแปซิฟิกมักเกิดพายุโซนร้อนเฉลี่ย 25 ลูกต่อปี แต่ปีนี้มีพายุเกิดขึ้นแล้ว 16 ลูก ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็มีโอกาสก่อตัวเป็นพายุได้อีกราว 9 ลูก ในจำนวนนี้ก็ใช่ว่า “เมื่อเกิดเป็นพายุแล้วจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งหมดได้” ส่วนใหญ่ราว 70% มักเคลื่อนตัวไปประเทศจีนตอนใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นหลักอยู่เสมอ
...
แต่ส่วนที่เหลืออีกราว 30% จะเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น หากคำนวณเร็วๆพายุ 9 ลูกหาร 30% ผลลัพธ์ออกมาเฉลี่ยพายุ 2-3 ลูก มีโอกาสเข้ามาในภูมิภาคบ้านเรา
ทว่า...ปีนี้มีความพิเศษตรง “ประเทศไทยอยู่ในปรากฏการณ์ลานีญา” สภาพน้ำฝนมักมากกว่าปกติ ข้อมูลตั้งแต่เดือน ก.ย.ปริมาณฝนตกหนักกว่าค่าปกติ 30% เดือน ต.ค.นี้ก็คาดว่าจะมีพายุ 2 ลูกเข้ามาใกล้ไทยด้วยทำให้น่าจะมีฝนตกหนักกว่าเดิม แต่มิอาจบอกได้ชัดว่าปริมาณน้ำจะมาสมทบน้ำท่วมค้างเก่ามากเพียงใด
คาดว่า “พายุลูกแรก” จะก่อตัวขึ้นส่งผลกระทบต่อประเทศไทยราวกลางเดือน ต.ค. ต้องจับตาพิเศษในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ในบางจุดอาจเกิดน้ำท่วมหนักกว่าเดิมก็ได้ โดยเฉพาะ “พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” น่าจะมีน้ำจากภาคเหนือไหลเข้ามาสมทบระบายลงอ่าวไทย ทำให้มีระดับน้ำค่อนข้างสูงอยู่ตลอด
ปัญหามีว่าในเดือน ต.ค.นี้ “กลับเป็นช่วงจังหวะของน้ำทะเลหนุนสูง” ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำลงอ่าวไทยได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้ “เขื่อนเจ้าพระยา” จำเป็นต้องรักษาระดับน้ำคงที่ไว้ก่อน
แล้วเวลาไล่เลี่ยกันนี้ก็คาดการณ์กันว่า “พายุลูกที่ 2” จะก่อตัวมีโอกาสเคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยราวปลายเดือน ต.ค. ที่จะนำมวลน้ำขนาดมหาศาลเข้ามาซ้ำเติมเขื่อนเจ้าพระยาให้มีปริมาณน้ำสูงขึ้นอีก
เมื่อมีปริมาณน้ำมากผลตามมา “ย่อมทำให้เกิดแรงดันน้ำมหาศาล” ที่เป็นผลกระทบต่อ “คันกั้นน้ำท่วมแม่น้ำเจ้าพระยา” มักไม่เคยได้รับการบำรุงรักษาให้แข็งแรงอยู่แล้วอาจทำให้ “คันกั้นแตก” เป็นผลให้เกินการควบคุมสถานการณ์ได้ที่ “ยากต่อการซ่อมแซม” จนรอยแตกขยายเพิ่มออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆได้
มวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนรวดเร็ว ดังนั้น ต้องเฝ้าติดตามพายุ 2 ลูกนี้อย่างใกล้ชิดแล้วจำเป็นต้องมี “แผนบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติล่วงหน้า” เพราะตอนนี้สถานการณ์ “ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” ก็ค่อนข้างมีระดับน้ำตึงสูงเดิมอยู่แล้ว
ยิ่งถ้าพายุกำลังมาในเดือน ต.ค.นี้ถ้ามีระดับคล้าย “พายุเตี้ยนหมู่” ที่วัดปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้ 200-300 มม.ทำให้มวลน้ำมหาศาลเทลงมาเพิ่มขึ้น มีโอกาสเสี่ยงเกิดน้ำท่วม 2 ใน 3 จนสถานการณ์ใกล้เคียงน้ำท่วม 54 เพราะมีบางพื้นที่ซ้ำรอยแล้ว เช่น จ.อ่างทอง มวลน้ำซัดกำแพงกั้นน้ำริมเจ้าพระยาแตกบางจุด
ยกเว้น “ฝนตกเหนือเขื่อนสิริกิติ์” มีพื้นที่รับน้ำทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเหลือ 1 ใน 3 โอกาสเสี่ยงนี้
...
ตอนนี้สิ่งที่ทำได้คงมีแต่ “เฝ้าระวังเตรียมพร้อมเต็ม 100%” เพราะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้จากปัจจัยมีเครื่องมือเดียวในการป้องกันอยู่คือ “เขื่อนเจ้าพระยา” คอยทำหน้าที่เป็นประตูกั้นแบ่งกระจายเข้าคลองฝั่งตะวันออก...ฝั่งตะวันตก แต่ก็มีสภาพเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเต็มพื้นที่ 2 ฝั่งค่อนข้างอ่วมหนักมากด้วยซ้ำ
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะก่อนหน้านี้ “เขื่อนเจ้าพระยาผันน้ำออกวันละ 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที” ดังนั้น ถ้ามีปริมาณน้ำลงมาเติมอีกในเวลา
อันใกล้นี้ก็มีคำถามว่าจะสามารถผันน้ำออกไปทางใดได้บ้าง...?
ตอกย้ำว่า “สถานการณ์น้ำปี 2564 กำลังใกล้เคียงซ้ำรอยปี 2554”...
ในพื้นที่ภาคกลางบางแห่งไม่เคยมีน้ำท่วมก็กลับมาท่วมได้แสดงว่า “น้ำเหนือไม่สำคัญเท่าระดับน้ำ” เพราะช่วง 10 ปีมานี้มีการก่อสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันน้ำมากมาย ทำให้ “มวลน้ำ” ไหลอัดลงแม่น้ำโดยตรง กลายเป็นแรงดันให้คันกั้นน้ำแตกได้เสมอ
ประเด็นที่พูดกันมานี้ “ล้วนส่งผลกระทบภาคกลาง” แต่ก่อนถึงตรงนั้น “ภาคอีสาน” ก็เป็นประตูด่านแรก “เจอพายุเคลื่อนเข้าไทย” อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง...เล็ก ต้องเฝ้าระวังมวลน้ำไหลเติม เช่น “อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง จ.นครราชสีมา” มีความจุ 27 ล้าน ลบ.ม.เมื่อเจอพายุเตี้ยนหมู่เอาฝนมาจนล้นควบคุมไม่ได้
...
ต้องเข้าใจว่า “พายุแต่ละลูกมีมวลน้ำมหาศาล” เช่น “เตี้ยนหมู่” นำน้ำมาในภาคกลาง 500 ล้าน ลบ.ม. แต่ถ้าพายุ 1-2 ลูกเข้ามาอาจทำให้อ่างขนาดเล็กรับน้ำไม่ได้ ระบบเตือนภัยจึงจำเป็นต่อประชาชนมาก
“โจทย์ใหญ่นี้จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงน้ำท่วมให้ดี อย่าชะล่าใจกับน้ำเหนือมาน้อยกัน เพราะมีตัวแปรสำคัญอยู่กับพายุจ่ออีก 1-2 ลูกที่ไม่ควรรอเหตุการณ์มาแล้วจะทำให้แก้ไขยาก...ไม่ทัน เพราะถ้ามีความรุนแรงเหมือนพายุเตี้ยนหมู่จะสร้างความเสียหายมหาศาลในพริบตา แต่ถ้าพายุไม่เข้ามาก็ถือว่าโชคดีไป”
ย้อนมาดู “สัญญาณเสี่ยงให้ กทม.น้ำท่วม” รศ.ดร.เสรี ย้ำว่า ต้องแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก...“อิทธิพลพายุ” ที่ต้องลุ้นจะเคลื่อนผ่านพื้นที่ใด ถ้าเป็นน้ำฝนตกหนักเทลงมาในภาคกลาง ก็จะมีมวลน้ำมหาศาลส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯได้ เรื่องที่สอง...“ถ้าปรากฏการณ์คันกั้นน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกแตก”
ตั้งแต่คันกั้นน้ำท่าเรือนครหลวง หรือพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
จ.ปทุมธานี จะมีน้ำหลากขยายไหลเข้าคลองรังสิต คลองเปรมฯ เข้าคลองสาขานำไปสู่ความเสี่ยงกรุงเทพฯเกิดน้ำท่วมได้ ฉะนั้นต้องจับตา 2 สัญญาณนี้ที่ไม่มีใครคาดล่วงหน้าได้...ทั้งต้องภาวนาเดือน ต.ค.นี้ระดับน้ำเจ้าพระยาต้องไม่ควรสูงเกิน 1 เมตร
...
เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเหลือ 40 ซม.ทะลักคัดกั้นถ้ามีฝนตกหนักสูง 50 ซม. เทียบเท่าปี 2554 แล้วจะเป็นแรงดันน้ำทำลายคันกั้นแตกเร็วขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ “จุดเสี่ยงน้ำท่วมหนัก” มีตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี
ส่วน “กรุงเทพฯชั้นใน” ไม่กังวลเพราะมีระบบคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ แต่มักมีปัญหาน้ำรอการระบายอันเกิดจาก “มวลน้ำฝน” ไม่สามารถเข้าอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ได้ที่มีปัจจัยผสมผสานหลากหลาย
อย่างไรก็ดีแม้ว่า “การเกิดคันกั้นน้ำแตกมีความเป็นไปได้น้อย” แต่ถ้าไม่ตรวจสอบความแข็งแรงให้พร้อมอยู่ตลอดก็เป็นไปได้เสมอ อย่างข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา “เขื่อนเจ้าพระยา” ระดับน้ำค่อนข้างวิกฤติปล่อยน้ำ 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 17 ม.รทก.ในปี 2554 ระดับน้ำอยู่ที่ 18 ม.รทก.ปล่อยน้ำ 3,700 ลบ.ม.ต่อวินาที...แล้วปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาที
ถ้าเพิ่มขึ้นอีก 400 ลบ.ม.ต่อวินาที มีความเสี่ยงล้นคันกั้นน้ำทำให้คันแตกในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ได้เช่นกัน ทำให้เห็นว่า “ปัจจัยความเสี่ยงมวลน้ำสมทบยังมีอยู่” การเกิดน้ำท่วมก็ได้สูง จนกว่าผ่านพ้นวันที่ 25 ต.ค.2564 ที่เป็นจุดปลอดภัยสูงสุดสามารถเบาใจได้
ปัจจัยเหล่านี้มาจาก “เป็นช่วงปลายลานีญาและทะเลมหาสมุทรอินเดียอุณหภูมิสูงขึ้นฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ร่องมรสุม...พายุโซนร้อนยกระดับความรุนแรงยิ่งขึ้น
“ภัยธรรมชาติ” เราไม่สามารถคาดการณ์การเกิดพายุ เส้นทางพายุและปริมาณฝนได้อย่างแม่นยำ แต่เราสามารถ “บริหารความเสี่ยง” เพื่อลดผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายได้แน่นอน.