นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเป็นหนึ่งในความนิยมและตกเป็นเป้าหมายการครอบครองของนักสะสมทั่วโลกผ่านขบวนการค้าโบราณวัตถุข้ามชาติที่มีทุนทรัพย์และเส้นสายโยงใยจนสามารถลักลอบนำโบราณวัตถุล้ำค่าออกจากแหล่งกำเนิดไปได้ ซึ่งการติดตามทวงคืนมรดกศิลปวัตถุของแผ่นดิน ไทยในต่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก กรมศิลปากรจึงดำเนินงานเชิงรุกผ่านโครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในครอบครองของวัด ภาครัฐและเอกชนทั่วราชอาณาจักร โดยสำรวจ จัดทำข้อมูลทะเบียนพร้อมภาพถ่ายเป็นหลักฐานเก็บไว้ เมื่อตรวจสอบแล้วจึงประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาเป็นสมบัติของชาติที่อยู่ในความดูแลหรือครอบครองของวัดและเอกชนด้วยจุดมุ่งหมายป้องกันมิให้โบราณวัตถุเหล่านั้นถูกทำให้เสื่อมค่า ชำรุด หรือสูญหายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ครอบครอง และเป็นหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรว่าโบราณวัตถุเหล่านั้นมีใครเป็นเจ้าของเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ตรวจสอบ ติดตามในภายหลัง

นายพนมบุตรกล่าวอีกว่า โครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้รับความร่วมมือจากวัดต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ตลอดจนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ช่วยดำเนินงานมาด้วยดีจนถึงปัจจุบันกว่า 80 ปี มีโบราณวัตถุได้รับประกาศขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7,049 รายการ ภายใต้ผู้ครอบครองทั้งหมด 1,605 ราย

ทั้งนี้ นายประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้แนวทางการดำเนินงานคุ้มครองสมบัติของชาติไว้ ด้วยความเป็นห่วงสภาพโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชนซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้จะเสื่อมค่าจึงมอบหมายสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ติดตามตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุดังกล่าวทั่วประเทศ ทำให้ได้ข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 22 ก.ย.64 พบว่า มีโบราณวัตถุจำนวน 314 รายการ ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ครอบครอง และมี 74 รายการที่ยังตรวจสอบไม่พบ โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ทั้งให้คำแนะนำในการซ่อมสงวนรักษาที่ถูกวิธี ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ติดตามตรวจสอบต่อเนื่องและจริงจัง ตลอดจนการดำเนินงานเชิงป้องกัน โดยให้คำแนะนำแก่ผู้ครอบครองในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่องทุกปี.

...