สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ไปเกาะหน้ารถเก๋ง และรถเก๋งคันดังกล่าวก็ขับบนถนนจนไปหยุดจอดในซอย มีพลเมืองดีเข้าไปสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกับบันทึกภาพวิดีโอไว้ และได้โพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์จนเป็นข่าวโด่งดัง และประชาชนให้ความสนใจ

เบื้องต้นฝ่ายชายอ้างว่า คบหากับฝ่ายหญิง และได้มีการโอนเงินให้กับฝ่ายหญิงตลอด ซื้อรถให้กับฝ่ายหญิง ไปไถ่ถอนรถให้ เนื่องจากฝ่ายหญิงเอารถไปจำนำไว้กับนายทุน ยอมทำทุกอย่าง แต่ฝ่ายหญิงกลับไม่ยอมอยู่ด้วย ในวันที่เกิดเหตุฝ่ายชายอ้างว่าฝ่ายหญิงขับรถหนี และไม่ยอมอยู่ด้วย จึงกระโดดเกาะที่หน้ารถ หวังว่าฝ่ายหญิงจะหยุดรถและยอมพูดคุยกันก่อน

ส่วนฝ่ายหญิงเบื้องต้นก็ให้เหตุผลผ่านรายการทีวีและให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า ตอนแรกก็รักฝ่ายชาย เนื่องจากเป็นผู้ชายที่ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี แต่ในตอนหลังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จึงอึดอัดที่จะอยู่ด้วย และยังอ้างว่าฝ่ายชายมีพฤติกรรมชอบตามตื๊อ ไปไหนก็จะชอบติดตาม

จากข่าวดังกล่าวมีอุทาหรณ์ที่เป็นประเด็นน่าสนใจอยู่ คือ การให้เงิน ให้สิ่งของ ให้ทรัพย์สินแก่ผู้อื่นไปแล้ว เราจะขอคืนได้หรือไม่ หากฝ่ายผู้รับไม่ยอมคืน เราจะใช้สิทธิ์ทางศาลได้หรือไม่

เมื่อเราให้เงิน ให้สิ่งของ ให้ทรัพย์สินแก่ผู้อื่นไปแล้ว ต่อมาเราจะไปขอคืนไม่ได้ เรามักจะเรียกกันจนติดปากว่า เป็นการให้โดยเสน่หา แต่การให้โดยเสน่หาก็สามารถที่จะฟ้อง เพื่อเรียกเงิน เรียกสิ่งของ หรือทรัพย์สินคืนจากผู้รับได้ หากมีเหตุประพฤติเนรคุณ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดเหตุเพิกถอนการให้ไว้ ดังนี้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 531 "อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้"

...

ดังนั้น หากไม่มีเหตุเพิกถอนการให้ ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้ก็ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิ์ฟ้องเรียกเงิน เรียกสิ่งของ หรือเรียกทรัพย์สินจากผู้รับการให้ได้

นอกจากนี้ กรณีแบบนี้ถอนคืนการให้ไม่ได้เช่นกัน

มาตรา 535 "การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
(1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
(2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
(4) ให้ในการสมรส"

ในกรณีที่ผู้ให้เสียชีวิต ทายาทของผู้ให้ก็สามารถที่จะเพิกถอนการให้ได้ หากมีเหตุตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 532 "ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้ แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้"

มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการสละสิทธิ์เรียกร้อง ในการเพิกถอนคืนการให้ หรือ หากผู้ให้ให้อภัยผู้รับ หรือ เวลาผ่านไป 6 เดือนนับแต่เกิดเหตุเกิดเพิกถอน จะถอนคืนการให้ไม่ได้ ดังนี้

มาตรา 533 "เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่ อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น"

สุดท้ายนี้ อยากฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ครับ สำหรับผู้ที่ทุ่มเทเพื่อความรัก การให้ทรัพย์สินเงินทองไม่อาจจะแลกความจริงใจจากใครบางคนได้ ดังนั้น การให้อะไรกับใครสักคนหนึ่ง แบบไม่หวังสิ่งตอบแทน ส่วนตัวผมเชื่อว่านั่นคือความรักที่งดงามที่สุด ความรักที่ไม่ได้หมายถึงการครอบครอง แค่ได้เห็นคนที่เรารักมีความสุขก็เพียงพอแล้ว

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

Instagram: james.lk