นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจเฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ อาหารประเภทเส้น และผักผลไม้สดจากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 93 ตัวอย่าง
ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม ไส้กรอก 57 ตัวอย่าง ตรวจพบ ดีเอ็นเอ (DNA) ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน 10 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.5 อาหารประเภทเส้น เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ 15 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทนี้ แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิก 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 60 ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 304-855 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ส่วนผักและผลไม้สด เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แครอท มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล มันญี่ปุ่น 21 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส้มและแอปเปิ้ล 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23.8 ทั้งนี้ การกินเจเพื่อให้มีสุขภาพดี ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ หลากหลายชนิด และปรุงสุก.