ถ้าการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ใช้เวลาเพียง 5 นาที แต่ซองที่ห่อหุ้มเจ้าบะหมี่ก้อนพอเหมาะกับการอิ่มท้องในแต่ละมื้อกลับต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 80 ปี คงเป็นเรื่องไม่น่าพิสมัยนัก

นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ Holly Grounds นักศึกษาด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆจากสถาบัน Ravens bourne University กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ลุกขึ้นมาคิดค้นและทำโปรเจกต์เพื่อลดขยะที่กำลังจะล้นโลก โดยเลือกออกแบบ ผลิตภัณฑ์ซองบะหมี่ราเม็งที่สามารถละลายน้ำได้และกลายเป็นซอสในตัว แทนการใช้พลาสติก

ผลงานของ Grounds ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการ VDF × New Designers graduate show ที่นำผลงานนักศึกษาที่มีความโดดเด่น 20 ชิ้นจาก 3,000 ชิ้นไปจัดแสดงทั่วสหราชอาณาจักร

แรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้มาจากการที่ต้องเรียนหนักหลายวันหลายคืนติดต่อกัน และต้องพึ่งพาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารหลัก และเห็นว่าซองบะหมี่เป็นปัญหาของโลกในการทำให้ย่อยสลายในธรรมชาติ

คงจะดีไม่น้อยถ้าทั้งบะหมี่และซองบะหมี่สามารถละลายได้พร้อมกันในน้ำร้อนเลยโดยไม่เสียรสชาติ Grounds จึงออกแบบซองบะหมี่ที่ทำจากไบโอฟิล์มที่ไม่มีรสชาติ โดยใช้ส่วนผสมจากแป้งมันฝรั่ง, กลีเซอรีนและน้ำ เมื่อฟิล์มถูกนำมาห่อหุ้มและซีลราเม็งสำเร็จรูปด้วยความร้อนก็จะช่วยปกป้องความชื้น เวลาที่เราแกะซองแล้วนำไปใส่ในน้ำร้อนมันก็จะละลายในเวลาไม่ถึง 1 นาที

...

ส่วนตัวเส้นราเม็งอบแห้งนั้น เธอออกแบบให้มีรูปทรงเหมือน กับโดนัทเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใส่ชาม ต้มได้ง่ายขึ้น และในซองก็จะมีเครื่องปรุงมาให้ พอผสมกับน้ำก็จะกลายเป็นซุปที่มีรสชาติขึ้นมา เมื่อมารวมกับกุ้งอบแห้งก็จะทำให้ราเม็งชามนี้มีรสชาติอร่อยและดูน่าทานขึ้น

จริงๆแล้วการคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยมีงานวิจัยของมหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เอาแป้งมันสำปะหลังมาผลิตเป็นซองน้ำมันเจียวหอม เวลาจะกินก็โยนใส่ในชามที่มีน้ำเดือดทั้งซองแล้วละลายเอง แต่สิ่งนั้นเป็นได้แค่งานวิจัย ไม่มีการต่อยอด เพราะผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่พร้อมลงทุนเครื่องจักรใหม่

แต่สำหรับราเม็งของ Grounds นอกจากจะช่วยลดขยะที่กำลังล้นโลกแล้ว ยังพบว่าช่วยลดเวลาในการต้มเส้น ฉีกซองบะหมี่และซองเครื่องปรุงที่ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที

เรียกว่าง่ายตั้งแต่ตอนกิน จนตอนจบเลยทีเดียวเชียว.