สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ออกแถลงการณ์ ขอบคุณรัฐบาล ยังคงนโยบายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ยันติดตามข้อมูลวิชาการใกล้ชิด ชัดเจนผลเสียมากกว่าผลดี บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง แถมสร้างนักสูบหน้าใหม่ ยันนโยบายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเหมาะสมกับไทยที่สุด
วันที่ 5 ตุลาคม สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นำโดยศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้กลุ่มวิชาชีพแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า”
โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขทุกสาขา และบุคลากรจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น องค์กรด้านการศึกษา ด้านแรงงาน เครือข่ายพระสงฆ์ ศิลปินดารา มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม มีความเชื่อมั่นและสนับสนุนรัฐบาลไทยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว ในหลักการที่ว่า “หน้าที่หลักของรัฐบาลคือการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะจากสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบชนิดใหม่ ๆ” เพราะเมื่อประชาชนเกิดการเสพติดยาสูบเหล่านี้แล้ว ส่วนใหญ่จะเสพติดไปตลอดชีวิต ประสบการณ์จากยาสูบชนิดเดิม ครึ่งหนึ่งของคนที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ จะเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งประเทศไทยมีคนที่เสียชีวิตจากยาสูบปีละกว่า 6 ล้านคน
“หลายๆ ฝ่ายในสังคมไทย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน พยายามช่วยกันลดจำนวนคนสูบบุหรี่ชนิดธรรมดา จึงไม่ต้องการให้ประชาชน เยาวชนกลุ่มใหม่ที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ๆ เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเก่าที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน หวังว่า คำชี้แจงนี้จะสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น ทั้งรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ สมาพันธ์ฯ มีสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 924 องค์กร สนับสนุนให้รัฐบาลคงนโยบายการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบชนิดใหม่ต่อไป หากสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้น มีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ชนิดใหม่ต่อสุขภาพ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ชนิดใหม่ที่เหมาะสมต่อไป” ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี ระบุ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสนอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้านั้น สมาพันธ์ฯ ขอยืนยันว่า กลุ่มแพทย์ วิชาชีพสุขภาพต่างๆ มีการติดตามข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับยาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่อย่างใกล้ชิดรอบด้าน เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศ ข้อมูลจากสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติได้วิเคราะห์ผลดีและผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ที่ใช้ความร้อนโดยไม่มีการเผาไหม้ สรุปเป็นข้อแนะนำว่า ประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำหรือปานกลางนั้น นโยบายควบคุมที่ดีที่สุดคือ การห้ามขาย เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดา อีกทั้งยังไม่รู้ผลกระทบระยะยาว ขณะที่เยาวชนรายใหม่ที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าบางส่วนพัฒนาต่อไปสูบบุหรี่ธรรมดา เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีที่จะมีต่อคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น ถือว่าผลเสียมากกว่าผลดี
“การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามีความสลับซับซ้อนทางเทคนิคมาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ประกาศที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อปี 2017 โดยใช้เวลาเตรียมความพร้อมอีก 5 ปี คือภายในปี 2022 แต่ศาลบังคับให้รีบดำเนินการในปี 2021 เนื่องจากความรุนแรงของการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน สถานการณ์การระบาดของยาสูบและการควบคุมยาสูบของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน องค์การอนามัยโลก จึงเสนอทางเลือกนโยบายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ ภาวะแวดล้อม และสมรรถนะในการควบคุมยาสูบของแต่ละประเทศ โดยการห้ามขายเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยเลือกทางนี้ เพราะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ศ.นพ.รณชัย กล่าว