กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศ 11 รายชื่อหนังไทย ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2564 จากทั้งหมด 317 เรื่อง
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม แถลงข่าวประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2564 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคม 2564 ว่า ในปีนี้ มีผู้เสนอรายชื่อภาพยนตร์ไทยเข้ารับการพิจารณา เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ จำนวน 1,500 คน รวมภาพยนตร์ จำนวน 317 เรื่อง โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ ให้เหลือ จำนวน 11 เรื่อง เพื่อได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 11 ประจำปี 2564 ดังนี้
1. โสกันต์พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (ปี 2471) 2. ห้วงรักเหวลึก (ปี 2498) 3. คำปราศรัยในวันครบรอบปีที่ 2 แห่งการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2503 (ปี 2503) 4. สุรีรัตน์ล่องหน (ปี 2504) 5. นิสิตพัฒนา (ปี 2505) 5. โฆษณาเพียว (ปี 2506-2508) 7. การเดินทางอันแสนไกล (ปี 2512) 8. ทอง (ปี 2516) 9. วิมานดารา (ปี 2517) 10. สาย สีมา นักสู้สามัญชน (ปี 2524) และ 11. Goal Club เกมล้มโต๊ะ (ปี 2544) ทั้งนี้ ปัจจุบันมีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรวม 221 เรื่อง
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ล้วนมีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ความทรงจำทางด้าน การเมือง มานุษยวิทยา สังคม และวัฒนธรรม อาทิ เรื่องห้วงรักเหวลึก สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีในสังคมไทยยุคแรกเริ่ม ทั้งการตอบโต้การกดขี่ทางเพศ เรื่องสุรีรัตน์ล่องหน ภาพยนตร์แนวนิยายวิทยาศาสตร์กึ่งแฟนตาซีที่สร้างจากบทละครวิทยุได้รับความนิยมอย่างมากโดยดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลัก ขณะที่ เรื่องนิสิตพัฒนา ถ่ายทอดการออกค่ายอาสาพัฒนาในยุคแรกของนิสิตนักศึกษาไทยที่สร้างขึ้นโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน
เรื่อง การเดินทางอันแสนไกล ภาพยนตร์ที่มีการบันทึกการมาเยือนเมืองไทยของนีล อาร์มสตรอง พร้อมด้วยคณะนักบินอวกาศชาวอเมริกันที่ไปสำรวจดวงจันทร์ได้เป็นกลุ่มแรกของโลก โดยเล่าผ่านเรื่องราวของอรนุช พาชื่น เด็กหญิงจากจังหวัดสุรินทร์ เรื่องทอง ภาพยนตร์บู๊ระทึกผลงาน ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่ได้มีการทุ่มทุนสร้างนำดาราชื่อดังจากต่างประเทศมาร่วมงานจนได้รับความสำเร็จอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ
เรื่องสาย สีมา นักสู้สามัญชน สร้างจากนวนิยายเรื่องปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ โดยกลุ่มนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ตัวแทนในโลกภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวของวรรณกรรมที่ส่งอิทธิพลต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทยและผู้คนทุกยุคสมัย ส่วน เรื่องเกมล้มโต๊ะ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของคนทำหนังในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดช่วงหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ผ่านการเล่าเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นชายยุคมิลเลนเนียม และกระแสความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลในเมืองไทย เป็นต้น
...
"หอภาพยนตร์ จะมีการนำภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์จัดโปรแกรมฉายตามช่องทางต่างๆ ในเดือนตุลาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์ หอภาพยนตร์ ศาลายา สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.fapot.or.th หรือ ชมทางออนไลน์ บางส่วนในช่อง ยูทูบ หอภาพยนตร์ playlist มรดกภาพยนตร์ของชาติ" รมว.วัฒนธรรม กล่าว