จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) หรือเหมาะสมน้อย (S3) เพื่อเกษตรกรจะได้ปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามความสมัครใจ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนที่ทางเลือกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุนการให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลการประเมินการดำเนินโครงการ ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 63 จังหวัด พบว่ามีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 17,611 ราย ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม 133,758 ไร่ เป็นการเลี้ยงปลา พืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้า ข้าวโพด หม่อนไหม และพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงเกษตรผสมผสาน เช่น ผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ผล

โดยในฤดูการผลิตปี 2563/64 เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมอื่น ร้อยละ 37.53 ได้รับผลผลิตทั้งหมดแล้ว เช่น หญ้า อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนร้อยละ 30.96 ได้ผลผลิตบางส่วน อีกร้อยละ 31.51 ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากอยู่ในระหว่างรอการเก็บเกี่ยว หรือเป็นไม้ผลไม้ยืนต้นซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 93 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

...

และพบว่าเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปีไปทำการเกษตรอื่นๆ จะได้รับผลตอบแทนสุทธิหรือกำไรเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะได้กำไรมากที่สุดเฉลี่ยไร่ละ 2,918.34 บาท ตามด้วยอ้อยโรงงาน กำไรไร่ละ 2,411.85 บาท หญ้าเลี้ยงสัตว์ กำไร ไร่ละ 2,328.36 บาท เกษตรผสมผสาน กำไรไร่ละ 2,058.46 บาท หม่อนไหม กำไรไร่ละ 2,019.85 บาท ประมง กำไรไร่ละ 1,165.12 บาท ในขณะที่การทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะได้กำไรเฉลี่ยแค่ไร่ละ 356.56 บาทเท่านั้นเอง

รองเลขาธิการ สศก.เผยอีกว่า การดำเนินโครงการนี้ได้สร้างผลตอบแทนสุทธิในภาพรวม (ไม่รวมไม้ผล ไม้ยืนต้น) คิดเป็นมูลค่า 56 ล้านบาท และในปีต่อไปคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลผลิตที่เป็นพืชระยะสั้นเพิ่มขึ้น จะทำให้มีผลตอบแทนสุทธิ 187 ล้านบาท

“โดยภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากมีทางเลือกในการผลิตเพิ่มจากการผลิตข้าวเพียงอย่างเดียว ได้ลองปรับเป็นการผลิตสินค้าอื่นที่ไม่เคยทำมาก่อนสำหรับเกษตรกรที่ได้รับการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีความพึงพอใจเนื่องจากพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้น สามารถใช้น้ำในการทำเกษตรผสมผสานได้ ช่วยลดรายจ่ายการบริโภคในครัวเรือน และลดค่าอาหารสัตว์อีกทั้งมีรายได้เพิ่ม โดยเกษตรกรต้องการให้มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง” นางอัญชนา กล่าว.