“Active Learning” หลายคนอาจรู้จักเป็นอย่างดีว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากในยุคปัจจุบัน แต่กับอีกหลายๆคน Active Learning ยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยได้ยิน และยังไม่เคยได้ลงมือปฏิบัติจริง

นักวิชาการด้านการศึกษาได้ให้คำนิยามของการเรียนการสอน แบบ “Active Learning” คือ “กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการทำกรณีศึกษา เป็นต้น”

ซึ่งกิจกรรมที่จะนำมาใช้ต้องช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การสื่อสาร/นำเสนอ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม เมื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวแล้ว ผลลัพธ์ที่ดีจึงจะตกอยู่ที่เด็กนักเรียน

ด้วยเหตุนี้เอง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ. ทั้งเจ้ากระทรวง ตรีนุช เทียนทอง และ 2 รมช.ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รวมถึงผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. จึงร่วมกันประกาศชูธงเดินหน้าพลิกโฉม สร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤติโควิด-19 แบบ “Active Learning” ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ “GPAS 5 Steps” อย่างเป็นทางการ หลังมีการพูดกัน มานาน แต่ขาดการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างจริงๆจังๆ ที่สำคัญคือ ดูเหมือนว่าการผลักดัน “Active Learning” ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูง เชิงระบบ “GPAS 5 Steps” ในครั้งนี้จะมีพลังมากกว่าครั้งไหนๆ

...

เริ่มจาก ศธ.ได้ดำเนินการนำร่องปฏิรูปการเรียนรู้ผ่านโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบ Active Learning ด้วยกระบวน การคิดขั้นสูงเชิงระบบ “GPAS 5 Steps” ให้กับครูและบุคลากรการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้รูปแบบการพัฒนาตลอดแนวร่วมกับเครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) พัฒนาครูอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการใช้ห้องเรียนเป็นฐานในการพัฒนา มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 30 แห่งใน 10 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งจังหวัดปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว

พบความสำเร็จทั้งนวัตกรรมของผู้เรียน และครูผู้สอน เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องคุณภาพ ที่ชัดเจน มีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จถึง 1,500 ผลงาน และคาดการณ์กันว่าในปีการ ศึกษา 2565 จะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกถึง 5,000 ผลงาน

“ศธ.ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาได้แม้ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 สามารถ เดินหน้าตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตร อิงมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบันให้เน้นการเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะ นำการเรียนรู้แบบ Active Learning ไปใช้ออกแบบระบบในการใช้ห้องเรียนเป็นฐานการพัฒนา จนสะท้อนให้เห็นว่านักเรียนสามารถ บูรณาการความรู้ ความถนัด ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะ รวมถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น มาคิดค้นสร้างนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ผมถือว่าการจัดการเรียนการสอน แบบ “Active Learning” ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ “GPAS 5 Steps” เป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนวิถีใหม่ที่เข้ากับสถาน การณ์ในปัจจุบันที่จะทำให้นักเรียนฉลาดขึ้น จึงขอให้ ศธ.เร่งขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ” ดร.วิษณุ กล่าวย้ำระหว่างเป็นประธานการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของ ศธ. เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤติโควิด-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ที่หอประชุมคุรุสภา

...

น.ส.ตรีนุช ระบุว่า จากความสำเร็จในการนำร่องการจัดการเรียนการสอนแบบ “Active Learning” ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ “GPAS 5 Steps” ศธ.จะเร่งขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยเร็ว และเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษา เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ ปฏิบัติตามนโยบายปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

ขณะที่กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กล่าวว่า ต้องชื่นชม น.ส.ตรีนุชที่กล้าพลิกโฉมประเทศด้านการศึกษา เดินตามแผนแม่บทของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเน้นปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับ พหุปัญญาและตอบโจทย์ราชกิจจานุเบกษา รวมถึงปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะ โดยมี นัยสำคัญคือให้ผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหาร ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน การบริหารการจัดการเรียนรู้ จากรูปแบบ Passive Learning มาเป็นรูปแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ และกำหนดระดับคุณภาพให้นักเรียนระดับประถมศึกษาให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สามารถต่อยอดนวัตกรรมได้ ระดับมัธยม ศึกษาตอนปลายสามารถพัฒนานวัตกรรมและปฏิบัติการเชิงวิจัยบูรณาการเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นได้ ส่งผลให้เห็นคุณภาพของนักเรียนชัดเจน ไม่ใช่การท่องจำเพื่อมาสอบเหมือนที่ผ่านๆมา

...

“ทีมการศึกษา” มองว่า ที่ผ่านมา ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดถึงการจัด การเรียนการสอนแบบ Active Learning กันมาโดยตลอด แต่เหมือนยังคงติดกับดักที่ไม่สามารถนำสู่การปฏิบัติที่เห็นผลชัดเจน โดยเฉพาะจากปัญหาการเปลี่ยนผู้บริหารแต่ละครั้งก็จะเปลี่ยนนโยบายแทบทุกครั้ง เราจึงได้แต่หวังว่าครั้งนี้ เมื่อทุกฝ่ายเล็งเห็นตรงกันแล้วว่า Active Learning เป็นแนวทางที่ดีในการจัดการเรียนการสอนสำหรับประเทศไทย การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวก็ควรได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง และจริงจังเพื่อพลิกโฉมสู่การศึกษาคุณภาพที่เกิดผลเป็นรูปธรรมได้เสียที...!!!

ทีมการศึกษา