สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้ยังคงพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของ เกี่ยวกับเด็ก ม.2 อายุ 14 ปี คนหนึ่งโอนเงินซื้อโทรศัพท์มือถือกับแม่ค้าออนไลน์ เพื่อนำมาไว้ใช้เรียนออนไลน์ แต่กลับถูกแม่ค้าออนไลน์โกง ไม่ส่งโทรศัพท์มือถือให้กับเด็ก ทำให้เด็กเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต ทำให้สังคมสังคมให้ความสนใจและตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของแม่ค้ารายนี้
ต่อมาตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ โดยมีอายุเพียง 18 ปี และ 19 ปี เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่เด็กโอนเงินค่าโทรศัพท์มือถือเข้าบัญชีธนาคาร และให้การซักทอดถึงตัวการที่อยู่เบื้องหลังว่า เป็นผู้หญิง อายุเพียง 19 ปี และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว และศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว
เบื้องต้นหญิงสาวรายนี้ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าไม่รู้จักกับเด็กอายุ 14 ปี ที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาจะให้การอย่างไรก็ได้ หรือจะไม่ให้การก็ได้ หรือจะไม่ลงลายมือชื่อในคำให้การก็ได้ แต่พนักงานสอบสวนจะต้องบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐานประกอบสำนวน
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้ คือ
ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการใหญ่อ้างว่า ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพูดคุยกับผู้เสียหาย ข้อกล่าวอ้างในลักษณะนี้ จะทำให้หลุดคดีฉ้อโกง คดีฉ้อโกงประชาชน และคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือไม่
ในคดีอาญาหน้าที่นำสืบตกแก่โจทก์ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของพนักงานสอบสวนที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นข้อสงสัยว่า ผู้ต้องหาในคดีอาญานั้น เป็นผู้กระทำความผิดจริง
...
จากประสบการณ์ของผม คดีในลักษณะแบบนี้ ตัวการใหญ่มักจะไม่เคยพูดคุยกับเหยื่อ จึงค่อนข้างยากที่จะปรากฏหลักฐานเชื่อมโยง หรือหลักฐานการสนทนาระหว่างเหยื่อกับตัวการใหญ่ และส่วนใหญ่แล้ว ตัวการใหญ่มักจะไม่ลงมือทำเอง แต่จะใช้ลูกน้อง ทีมงาน หรือแอดมินในการสนทนากับเหยื่อ แต่ผมเชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะสามารถหาหลักฐานเชื่อมโยงระหว่างผู้ร่วมขบวนการกับตัวการใหญ่ได้ โดยเฉพาะเส้นทางการเงิน การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ตลอดจนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับพฤติการณ์ในอดีตของตัวการใหญ่ ทั้งนี้ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสนทนาระหว่างตัวการใหญ่กับเหยื่อ ผมเชื่อว่าก็สามารถที่จะเอาผิดตัวการใหญ่ได้ หากในการสืบสวนสอบสวนปรากฏว่า มีลักษณะของการกระทำความผิดเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ และปลายทางสุดท้ายของเส้นทางการเงินตกอยู่กับตัวการใหญ่หรือคนรอบข้างตัวการใหญ่
นอกจากนี้ กรณีที่มีบุคคลที่ร่วมขบวนการ หรือ ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนในการฟอกเงิน จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สิน หรือถือครองทรัพย์สินแทนผู้ต้องหาในคดีนี้ ก็อาจจะมีความผิด และถูกดำเนินคดีร่วมไปด้วย
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
มาตรา 5 ผู้ใด
(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
(2) กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
มาตรา 60 ผู้ใดกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สุดท้ายนี้ ในการทำนิติกรรมใดๆ ก็ตาม ที่อยู่ในระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีมิจฉาชีพแอบแฝงอยู่ในโลกออนไลน์มากมาย และนับวันยิ่งพัฒนาความแนบเนียนในการโกง หรือสรรหาวิธีโกงที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หาตัวได้ยากมากขึ้น ดังนั้น ผู้ปกครองควรที่จะดูแลผู้เยาว์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กหรือผู้เยาว์มักจะมีอารมณ์อ่อนไหวกับเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่าผู้ใหญ่ การสร้างความเข้าใจกับเด็กจึงเป็นวิธีที่จะทำให้เด็กสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดีครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
...
Instagram: james.lk