สุขทุกข์ของเรา ดูจะผกผันผูกพันกับตัวเลข...ตัวเลขคนติดเชื้อ คนหาย คนตาย วันสองวันนี้คุณหมอที่แถลงข่าวใช้คำว่า “เล็กลง” ก็คงจะเบาใจขึ้น ตามด้วยตัวเลขวัคซีนหลายยี่ห้อ ที่ทำท่าพอจะมีให้ฉีด
เป็นชาวบ้าน ฟังตัวเลขแล้วผ่านหูเสียก็ได้ ถ้าเป็นข่าวบางครั้งเป็นประเด็นก็ต้องจำ
เจอตัวเลขเรื่องน้ำเข้าอีก...ได้ยินอาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ บอก ตัวเลขน้ำมากน้อยสำคัญก็จริง แต่ปีนี้น้ำมาทางร่องมรสุม ผิดทิศผิดทาง... ไม่ใช่มาทางแม่น้ำอย่างที่เคย
ใครบอกปีนี้กรุงเทพฯน้ำจะไม่ท่วมหนัก เหมือนปี 2554 ฟังได้ แต่อย่าปลงใจเชื่อนัก
ขอเปลี่ยนบรรยากาศตัวเลข...มาเป็นเรื่องตัวหนังสือบ้าง ฟังข่าวน้ำท่วมชัยภูมิหนักหนา...พอถึงเรื่องท่วม แถวอำเภอบ้านเขว้า...ผมจึงเห็นประเด็นที่จะคุย
สิบยี่สิบปีที่แล้ว อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์น้ำท่วม บ้านเขว้า...ก็ไม่แน่ใจ เอ! อ่านยังไง อ่านเข-ว้า หรืออ่านควบขว...เป็นเขว้า (เฝ้า) มาตอนนี้ ฟังข่าวทีวี เขาอ่าน “เขว้า” ก็หมดเรื่อง
แต่คำถามก็ตามมา...เขว้า คำนี้ แปลว่า อะไร แปลก และแปร่งหูมานาน
ในหนังสือเล่มหนา ภูมิบ้านนามเมือง คำใครไทยมอญเขมร รวมเล่มพิเศษ (ชมรมมิตรสุวัณภูมิ 2563) ประสิทธิ์ ไชยชมพู คนนี้เคยเป็นเพื่อน ตอนนี้ภูมิรู้เป็นครู ค้นคว้ามาอธิบายไว้ละเอียดลออ
ประวัติ “บ้านเขว้า” ทางการบันทึก ราว 300 ปีที่แล้ว พรานชื่อเชียงสี เชียงทอง เชียงหวิง เชียงย้อย คนบ้านข่าว อำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา รอนแรมล่าสัตว์มาถึงป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีที่ลุ่มหนองน้ำ ลำห้วยเหมาะจะตั้งบ้านเรือน
กลับไปชวนญาติมาตั้งบ้าน ส่งข่าวบอกญาติในถิ่นต่างๆมาอยู่เพิ่มเรื่อยๆเอาชื่อบ้านข่าว ถิ่นกำเนิดเดิมตัวเอง มาตั้งชื่อบ้านใหม่ไว้เป็นอนุสรณ์
...
พ.ศ.2349 ทางการสำรวจหมู่บ้านเรียกชื่อ “บ้านข่าว” เพี้ยนเป็น “บ้านเขว้า”
พ.ศ.2493 ตำบลบ้านเขว้า ตำบลตลาดแร้ง รวมกันขอตั้งกิ่งอำเภอ ตอนแรกเอาบ้านจากตำบลชีลอง ตำบลบ้านเขว้า รวมกันตั้งเป็นตำบลลุ่มลำชี ต่อมายกเป็นกิ่งอำเภอบ้านเขว้าเมื่อ 30 ธ.ค.2497
มีบางข้อบ่งชี้ ประวัติบ้านเขว้า ชัยภูมิ อิงชื่อบ้านข่าว อำเภอสีคิ้ว โดยอ้างสยามประเทศในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รบกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ บรรพชนรุ่นนั้นได้ส่งข่าวสงครามแก่ญาติ
ปัจจุบัน ภูมิใจในฉายา บ้านเขว้าแห่งเมืองผ้าไหม แต่ยังคงอนุรักษ์คำเรียกหมู่บ้านข่าว
ประสิทธิ์ ไชยชมพู มีข้อสังเกต 4 ข้อ ข้อ 1 ผู้นำหมู่บ้านสี่คนเป็นพรานเรียกเชียงนำหน้าชื่อ เห็นจะมีคนลาวกับชาวกูยใช้เรียกยกย่อง ข้อ 2 ชาวบ้านข่าวสีคิ้ว อยู่มาสืบเนื่องร่วม 300 ปี เชื้อสายขยายไปตั้งชุมชนใหม่ที่ชัยภูมิ
ข้อ 3 ชาวเขว้ามีฝีมือทอผ้าดี คงสืบทอดวิทยาการจากสยามโบราณ และข้อ 4 ยังสืบไม่พบ บ้านข่าวในอำเภอสีคิ้ว พบแต่บ้านตำบลหนองหญ้าขาว
ประสิทธ์ิตั้งสมมติฐาน บรรพชนบ้านข่าว อาจเป็นบ้านเดียวกับบ้านหนองหญ้าขาว คงมีเชื้อสายกูยหรือมีสายสัมพันธ์กับกูย
นามบ้านข่าวอาจเกิดจากสำเนียงชาวกูย ที่อาศัยอยู่ใกล้กลุ่มไท-ลาว จึงเกิดการผสมเสียงกลายเป็นเอกลักษณ์ ตัวอย่างสำเนียงลาวศรีสะเกษ เสียงห้วน อักษรกลางมักใส่เสียงตรี เช่น กิ๊น (กิน) ดี๊ (ดี) ไป๊ (ไป)
ตามนัยนี้ “ต้นเขวา” (ต้นไม้ ถิ่นอื่นเรียก กว้าว กระทุ่มแดง ตุ้มก้านแดง) เสียงจัตวา ก็กลับใส่วรรณยุกต์เอก ดังที่ไทบุรีรัมย์ ไทโคราช เรียก “ข้าว” เป็น “เข่า” หรือ “ข่าว” อีกเหตุผล ต้นเขวา ภาษาปากหลายถิ่น เรียก “เขว้า” เหมือนกัน
หากพิสูจน์ได้ เกิดจาก “เขวา” เพี้ยนเป็น “ข่าว” แล้วเขียนเป็น “เขว้า” ก็เท่ากับสวนทางกับประวัติชุมชน
อ่านเรื่องนี้จบ ผมชัดเจนทั้งคำเรียก และความหมาย ฟังข่าวน้ำท่วมครั้งต่อไป มโนภาพบ้านเขว้าได้ลึกซึ้งกว่าที่เคย ภาวนาให้น้ำลดในเร็ววัน ตัวเลขโควิด–19 ที่รุมเร้าก็ให้เล็กลงๆจนได้อยู่ปกติสุข กันเสียที.
กิเลน ประลองเชิง