วันนี้ผมขอแสดงความชื่นชม คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้ ขึ้นภาษีบุหรี่ ในที่ประชุม ครม. วันอังคารที่ 28 ก.ย. มีผลตั้งแต่วันนี้ 1 ตุลาคม 2564 เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชน การขึ้นภาษีบุหรี่ ผมถือเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งของรัฐมนตรีคลังและนายกรัฐมนตรี เพราะการขึ้นภาษีบุหรี่ในทุกประเทศ จะถูกต่อต้านจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ด้วยการล็อบบี้ผลประโยชน์ก้อนโตผ่านนักการเมืองไปจนถึงการต่อต้านของผู้ค้ารายย่อย
สิ่งที่ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติกลัวมากที่สุด ก็คือ คนเลิกสูบบุหรี่จึงต้องพยายามหาทุกวิถีทางเพิ่มคนสูบบุหรี่ให้มากที่สุดด้วยการขายในราคาถูก ไปจนถึงการพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าที่เติมกลิ่นรสได้สารพัดชนิดเพื่อเพิ่มผู้สูบ แต่ทำให้ผู้สูบเสียชีวิตเร็วขึ้นก่อนวัยอันควร
การขึ้นภาษีบุหรี่ของ กระทรวงการคลัง ครั้งนี้ ปรับขึ้นทั้งสองฐานคือ ด้านปริมาณจากมวนละ 1.20 บาท ขึ้นเป็นมวนละ 1.25 บาท เท่ากับขึ้นซองละ 1 บาท ถือว่าขึ้นน้อยมาก และปรับฐานภาษีขายปลีกจากซองละไม่เกิน 60 บาท ภาษี 20% เป็นไม่เกินซองละ 72 บาท ภาษี 25% ส่วนราคาขายปลีกเกินซองละ 72 บาท ภาษีเพิ่มจาก 40% เป็น 42% ส่งผลให้ราคาขายปลีกจากซองละ 55 บาท ขึ้นเป็น 64 บาท ซองละ 60 ขึ้นเป็น 70–72 บาท กลุ่มบุหรี่ราคาแพงที่ได้รับความนิยมซองละ 95 บาท ขึ้นเป็นซองละ 110–115 บาท
ผมลองเทียบกับ ราคาขายปลีกบุหรี่ในสหรัฐฯ ผู้ส่งออกบุหรี่รายใหญ่ของโลก บุหรี่ในไทยขายถูกเทียบกันไม่ได้เลย บุหรี่ในสหรัฐฯขายซองละ 7 เหรียญ ประมาณ 231 บาท ยังไม่รวมภาษีท้องถิ่นของแต่ละรัฐ เช่น รัฐนิวยอร์กเก็บภาษีบุหรี่ซองละ 4.35 เหรียญ 143.55 บาทนี่ยังไม่รวม ภาษีของรัฐบาลกลาง ทำให้ราคาบุหรี่ในสหรัฐฯแพงมาก แพงจนชาวอเมริกันก็สูบน้อยลง
...
มีพ่อค้าบุหรี่จงใจพูดให้คนเข้าใจผิดว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง โดยเอาตัวเลขภาษีบุหรี่ย้อนหลังมาโชว์เป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือน
เพราะ ตรรกะของการขึ้นภาษีบุหรี่ รัฐไม่ได้ต้องการรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีบุหรี่ แต่รัฐขึ้นภาษีบุหรี่ เพื่อให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น คนไทยจะได้สูบบุหรี่น้อยลง หรือ เลิกสูบบุหรี่ไปเลย โดยเฉพาะคนจน เพื่อรักษาและปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะ คนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่กลับต้องได้รับควันบุหรี่มือสองจากผู้สูบในที่ต่างๆ ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพเช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่
ข้อมูลสาธารณสุขจากสหรัฐฯ ระบุว่า การสูบบุหรี่ในสหรัฐฯได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ราว 10 ล้านล้านบาท เป็น ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ เช่น ปอด ถุงลมโป่งพอง ปีละกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์ ราว 5.6 ล้านล้านบาท และ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกราว 156,000 ล้านดอลลาร์ ราว 5.14 ล้านล้านบาท จากผู้ที่เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ก่อนวัยอันควร และเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่จนไม่สามารถทำงานได้
ในเวทีประชุม เอเชีย แปซิฟิก คอนเฟอร์เรนซ์ ออน โทแบคโค เฮลท์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนกันยายน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้เปิดเผยถึงฉากทัศน์การควบคุมการสูบบุหรี่ของไทยว่า ต้องการเป็น Smoke Free Thailand และ Smoke Free Generation ในอนาคต เพื่อลดการบริโภคยาสูบในไทยลงเป็นศูนย์ การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนไทยสูบบุหรี่ลดลงเฉลี่ย 72,000 คนต่อปี และยังพบ ผู้ป่วยโควิดในช่วงกลุ่มอายุ 35 ปี กว่าครึ่งมีประวัติการสูบบุหรี่ ทำให้ปอดติดเชื้อได้ง่าย และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง
นี่คือเหตุผลที่ต้องขึ้นภาษีบุหรี่ทุกปี เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย ไม่ใช่เพื่อเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น อย่างที่พ่อค้าบุหรี่ให้ข้อมูลบิดเบือน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”