แต่โบราณนานมา คราเมื่อบ้านเมืองเกิดเหตุเภทภัย...ผู้คนทั่วไปถ้าไม่โทษดินฟ้าอาเพศ ก็หาเหตุอื่นเป็นแพะ...ไม่เว้นกระทั่งพระ...พระที่ว่าไม่ใช่พระมหาสมปอง มหาไพรวัลย์ แต่เป็นพระพุทธรูป
ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (มติชน พิมพ์ พ.ศ.2548) กล่าวถึงคติโบราณเกิดขึ้นในเขตล้านช้าง เนื่องด้วยพระพุทธรูป เกี่ยวข้องสืบมาถึงตำนานพระพุทธรูป
พวกชาวล้านช้างเชื่อถือกันมาแต่โบราณว่า พระพุทธรูปสำคัญย่อมมีผี คือเทวดารักษาทุกพระองค์ ผู้ปฏิบัติบูชาจำต้องเซ่นสรวงผี เพราะถ้าผีนั้นไม่พอใจ ก็อาจบันดาลให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ
หรืออีกอย่างหนึ่ง ถ้าผีที่รักษาพระพุทธรูปต่างพระองค์เป็นอริกัน ถ้าเอาพระพุทธรูปนั้นมาอยู่ไว้ใกล้ ก็มักเกิดภัยอันตราย ด้วยผีวิวาทกัน เลยขัดเคืองถึงผู้ปฏิบัติบูชา
คตินี้ปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯครั้งแรก ในรัชกาลที่ 1 เมื่อทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้เชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน เมื่อ พ.ศ.2327
ครั้งนั้น โปรดให้เชิญพระบาง อันเป็นพระสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปอยู่เมืองเวียงจันทน์มาไว้ด้วย
เจ้านันทเสน บุตรเจ้าล้านช้าง กราบบังคมทูลว่า ผีซึ่งรักษาพระแก้วมรกต กับผีซึ่งรักษาพระบางเป็นอริกัน
พระพุทธรูปสองพระองค์นั้น อยู่ด้วยกันในที่ใด มักมีเหตุภัยอันตราย
อ้างอุทาหรณ์แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ก็อยู่เย็นเป็นสุข ครั้นพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ด้วยกันที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นขบถต่อกรุงล้านช้าง
แล้วพม่ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายมาอยู่เวียงจันทน์
ครั้นเชิญพระบางมาไว้ด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่างๆบ้านเมืองไม่ปกติมาจนเสียเมืองเวียงจันทน์แก่กองทัพกรุงธนบุรี ครั้นเชิญพระแก้วกับพระบางมาไว้ด้วยกันที่กรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล
...
รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชดำริว่า เมื่อชาวล้านช้างนับถือกัน จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนขึ้นไป ณ เมืองเวียงจันทน์
ต่อมา ครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขึ้นไปติดตามเจ้าอนุฯ ได้พระบางกับพระแซกคำ พระฉันสมอ ลงมากรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 ทรงทราบคติโบราณนี้ดี โปรดให้เชิญไปไว้ตามวัดนอกพระนคร
ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระจากล้านช้างอีกหลายพระองค์ แต่คนทั้งหลายมักกล่าวรังเกียจตามคติชาวล้านช้างอยู่ไม่สิ้น ปีใดฝนแล้งก็มักโทษกันว่า เพราะเชิญพระล้านช้างเข้ามา
ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ.2401 เกิดดาวหาง ฝนแล้ง และความไข้เนื่องกันถึงสามปี
เสียงคนทั้งหลายโทษว่าเพราะพระบางมาอยู่ในกรุงเทพฯ ร. 4 จึงโปรดให้เชิญขึ้นไปไว้ยัง ณ เมืองหลวงพระบาง
สมัยกรุงรัตนโกสิทร์ เกิดคติโทษพระพุทธรูป แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดคติเชื่อคำพยากรณ์
คือดาวเดือนดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง พระคงคาจะแดงเดือดเป็นเลือดนก อกแผ่นดินจะบ้าฟ้าจะเหลือง
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ ทางน้ำก็จะแล้งเป็นทางบก เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ...
เหตุเภทภัยร้ายๆที่ว่า คำพยากรณ์ วรรคต้นๆ เขาแต่งไว้อ่านยาก แปลความได้ว่า เพราะบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม
ผมสรุปเอาเอง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โทษพระ สมัยกรุงศรีอยุธยาโทษคน...คนที่เป็นผู้นำ
บ้านเมืองสมัยใหม่ เจอมาสารพัด ตอนนี้เจอทั้งโรคระบาด เจอทั้งน้ำท่วม ชาวบ้านทุกข์หนักเสียจนไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปโทษใคร.
กิเลน ประลองเชิง