รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) เผยถึงโครงการส่งเสริมการประกวดผลงานวิชาการสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาสามารถคว้ารางวัลมาแล้วนับร้อยรางวัล สำหรับในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 29 ผลงาน สามารถคว้ารางวัลระดับโลกด้วยกัน 3 ผลงาน ได้แก่

ภาชนะจากเส้นใยหญ้าแฝก Eco–friendly containers from vetiver fibers...ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวที 2020 International Innovation & Invention Competition (2020IIIC) ประเทศไต้หวัน เป็นงานวิจัยร่วมกับชุมชนเครือข่ายกลุ่มหัตถกรรมจักสานหญ้าแฝก จ.พะเยา อุดรธานี และสุรินทร์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแปรรูปใบหญ้าแฝก ให้นำไปใช้ได้หลากหลายขึ้น หรือมีคุณลักษณะทางกายภาพสูงขึ้น

จนได้ผลงานจานจากกระดาษหญ้าแฝก ที่มีคุณสมบัติเหนียว แข็งแรงทนทานต่อการดึงและการฉีกขาดได้ดี สามารถนำไปใช้เป็นภาชนะใส่อาหารที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตเพื่อการค้าได้

...

กระดาษจากสาหร่ายในนากุ้ง RE–NO–WASTE...ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวที 2020 IIDC Hong Kong International Invention and Design Competition เกาะฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการนำวัชพืชจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง ที่เมื่อมีมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสีย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมักจะตักทิ้งทำให้เน่าเสียส่งกลิ่นรบกวนโดยรอบบริเวณ จึงนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้

จุดเด่นและเอกลักษณ์คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ สามารถใช้ทดแทนกระดาษในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ความโปร่งแสงสามารถผลิตเป็นโคมไฟได้ ดูดซับน้ำดีสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระจายน้ำหอมปรับอากาศ หรือที่รองแก้ว มีเส้นใยยาวจำนวนมากสามารถนำมาทำแผ่น
ซับเสียง หรืออัดขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหาร พื้นผิวและสีที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต่างๆได้

กระดาษจากเปลือกถั่ว Peanut shell Paper...ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวที X European Exhibition of Creativity and Innovation : E U R O I N V E N T 2021 ประเทศโรมาเนีย เป็นกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ชาวบ้านสามารถทำได้เอง คล้ายกับการทำกระดาษสา แต่เรามีสูตรพิเศษที่ต้องผสมซังข้าวโพด ที่มีความเป็นเส้นใยสูงในอัตราส่วนที่เหมาะสม จะได้กระดาษที่มีพื้นผิวสวยงาม.