อีกภารกิจของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. นอกจากถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับชุมชน มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ ความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ประเทศไทย 4.0 แล้ว
ในส่วนของงานวิจัยที่ต้องทำในระดับอุตสาหกรรม ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร รวมถึงความชำนาญเฉพาะ จึงจำเป็นต้องถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน
อย่างงานวิจัยตามโครงการ “ถุงพลาสติกแตกสลายได้ทางชีวภาพแบบใช้ครั้งเดียวจากวัสดุฐานเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช” ที่ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน
มุ่งให้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เข้ามาแทนที่พลาสติกทั่วไป หวังลดขยะพลาสติกในประเทศที่ใช้กันปีละกว่า 2 ล้านตัน
เป็นโครงการพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตาม ธรรมชาติ โดยมีส่วนผสมของแป้งมันสำปะหลัง และโพลีเอสเตอร์แตกสลายได้ ทางชีวภาพ เพื่อทดแทนฟิล์มและถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ทั้งถุงใส่เศษอาหาร ในครัวเรือน ถุงใส่ขยะ ถุงกระตุกสำหรับใส่อาหาร ประเภทเนื้อสัตว์และผลไม้ในซุปเปอร์มาร์เกต รวมถึงฟิล์มสำหรับผลิตภัณฑ์อนามัย ที่เกือบ 100% ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ให้กำจัดโดยการฝังกลบได้ โดยไม่ก่อปัญหามลภาวะ
ทั้งนี้ หลังจากงานวิจัยประสบความสำเร็จในการผลิตพลาสติกชีวภาพระดับห้องทดลอง ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนอย่างมาก เพราะการผลิตพลาสติกชีวภาพด้วยเทคโนโลยีนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น และความหนืด อันจะก่อให้เกิดความเสียหายกับเครื่องจักรของผู้ประกอบการ
และไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการผลิตเหมือนพลาสติกชีวภาพทั่วไป.
...
สะ–เล–เต