หลังจากมีการประกาศผลรางวัลเลิศรัฐประจำปีแล้วสำนักงาน ก.พ.ร.ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากรางวัลเลิศรัฐสู่การขยายผลเรื่อง “สร้างอนาคต : เทคโนโลยี 3D เพื่อผู้พิการ” ผ่านช่องทาง Facebook Live

วิทยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มาร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แก่ นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ดร.ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน โรงพยาบาลชลบุรี นางณฐอร อินทร์ดีศรี กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายเอกภพ รุจิระประภาส บริษัท Astride Bionic และ พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ ผู้ก่อตั้งโครงการ

นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวในงานนี้ว่า รางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่ทุ่มเทพัฒนาการให้บริการ ซึ่งปี 2563 ผลงาน Thai Reach ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ ได้รับรางวัล Best of the Best สาขาบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมการสร้างกายอุปกรณ์มือเทียมด้วยการใช้ 3D Printing ที่มีคุณค่า สร้างโอกาสให้คนพิการได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ จึงเป็นโอกาสที่ดีและเป็นตัวอย่างของความท้าทายที่จะต่อยอดขยายผลเพื่อชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยสิ้นสุดความพิการหรือสร้างโอกาสในการมีความสุขอย่างเท่าเทียม

ในช่วงของการบรรยาย นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ Thai reach : ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มก่อการดี กลุ่มก่อการดีสากลและมูลนิธิสายใจไทย ซึ่งริเริ่มนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ผลิตแขนเทียม โดยนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่ และขยายสู่ผู้พิการและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันโครงการผลิตกายอุปกรณ์มากกว่า 300 ชิ้น จัดพิมพ์ชุด PPE มากกว่า 2,000 ชิ้น รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายกระจายองค์ความรู้ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ

...

จากนั้น ดร. ธนาพร เต็งรัตนประเสริฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ Thai reach เกิดจากการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการสนับสนุนจากอาสาสมัคร โดยมีการถ่ายทอดทักษะ และขยายผลสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ มีความท้าทายในการสร้างความร่วมมือระหว่างบุคคล พัฒนาบุคคลจนสามารถให้ผู้พิการหรือเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถพัฒนากายอุปกรณ์ได้ด้วยตนเอง

นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน โรงพยาบาลชลบุรี ได้เล่าถึงการนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ในการแพทย์ว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย เวลา และผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายสาขา ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแพทย์ในอนาคต รวมถึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาให้ยั่งยืน โดยให้ผู้มารักษาที่ต้องใช้ 3D Printing สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3D ด้วย

ส่วน นางณฐอร อินทร์ดีศรี จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้นำเสนอถึงการดูแลผู้พิการให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ขจัดอุปสรรคในการอยู่อาศัย การเดินทาง การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ การฃพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งแขนเทียม จาก 3D Printing นี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ รวมไปถึง นายเอกภพ รุจิระประภาส บริษัท Astride Bionic ที่ได้นำเสนอถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ในหลายรูปแบบเพื่อทดแทนสรีระของมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้พิการ

นี่เป็นผลงานอันน่าชื่นชมของระบบราชการไทยที่ จนท.สำนักงานก.พ.ร.กรุณาสรุปมาให้รับรู้.

“ซี.12”
c12thongchai@gmail.com