รอลุ้นหลัง ครม.เห็นชอบร่างพระ ราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เรียบร้อย เหลือแค่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ ขณะที่ “วิษณุ” แจงในที่ประชุมหากประกาศใช้จะส่งผลไม่ต้องขยาย ระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก ส่วนการเปิด ประเทศ 1 ต.ค.นี้ ส่อเลื่อนเปิด 5 พื้นที่ท่องเที่ยวใน 5 จังหวัด “กทม.-เชียงใหม่-ชลบุรี-เพชรบุรี-ประจวบ คีรีขันธ์” ไปอีก 1 เดือน หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังไม่นิ่ง แม้ยอดติดเชื้อใหม่ลดลง แต่ยังเกิน 1 หมื่นคน และตายเพิ่มขึ้น นายกสมาคมโรคติดเชื้อฯคาดกลาง ต.ค.เห็นยอดติดเชื้อพุ่งแต่ไม่ชัน ขณะเดียวกัน มาตามคาด “คลัสเตอร์งานเลี้ยงเกษียณ” ปศุสัตว์สกลนครผุดแล้ว 11 คน กลุ่มเสี่ยงเพียบ ส่วนกรณีเด็กชายกระบี่เสียชีวิต ผอ.รพ.กระบี่ แจงไม่ติดโควิดแต่คาดตายจากภาวะ “MIS-C” อาการอักเสบรุนแรงของระบบในร่างกาย หลังหายจากติดเชื้อโควิด-19 พบน้อยมากในไทย
ข่าวดีเริ่มมีมาต่อเนื่องเมื่อยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงจนเหลือหมื่นต้นๆ แม้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิต กลับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่างพ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เหลือแต่ประกาศ บังคับใช้ ซึ่งอาจมีผลถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุด ในสิ้นเดือน ก.ย.นี้
ร่างแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อผ่าน ครม.
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันนี้ ครม.เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (พ.ร.ก.ควบคุมโรค) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยกำหนด ให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และสามารถตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเป็นกลไกดำเนินงานได้ โดยปัจจุบันยังเป็นการบริหารราชการภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ครม.ไม่ได้มีการ พูดถึงจะยุบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่มีบางสื่อรายงานข่าวไป ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก.ฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการพิจารณาต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่นั้น ทาง ศบค.และ ครม. จะพิจารณาต่อไป
...
ยันไม่ได้นิรโทษปมแก้โควิด
น.ส.รัชดายังกล่าวถึงในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้กำหนดให้ ยกเว้นความรับผิดแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมาย หรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ครอบคลุมไปถึงผู้ช่วย อสม. พนักงาน กู้ภัย) นับตั้งแต่วันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขต ท้องที่ทั่วราชอาณาจักรวันที่ 26 มี.ค.2563 ทั้งนี้ ในร่าง ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย หรือบริหารตามที่มีข้อคำถามอยู่
วิษณุแจงต้องรอประกาศฯก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เต็มคณะ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รายงาน โดยอธิบายเหตุผลที่ต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวให้มากขึ้นในการบริหารงานด้านสาธารณสุขท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และเพื่อทำให้เป็นการบริหารงานด้านสาธารณสุขโดยตรง เพราะไม่เคยมีที่จะให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากำกับงาน ด้านสาธารณสุขเหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และขณะเดียวกัน ก็ต้องเสนอต่อสภาฯเพื่อให้สภาฯเห็นชอบ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาแล้วในเดือน พ.ย. เนื่องจากไม่อยากขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ
จ่อไม่ต้องขยายใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ นายวิษณุยังระบุด้วยว่า ถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากสภาฯ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมา ทั้งนี้ ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อไหร่ จะต้องหารือกับนายกฯ อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว จะส่งผลให้ไม่ต้องขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก
ส่อเลื่อนเปิด 5 พื้นที่ท่องเที่ยว
ส่วนประเด็นการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ในวันที่ 1 ต.ค. ที่หลายฝ่ายยังกังวล สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่
นิ่งนั้น วันเดียวกัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมร่วมกับคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองแผนดำเนินการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เพื่อนำบทสรุปนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถาน การณ์โควิด-19 (ศปก. ศบค. หรือ ศบค.ชุดเล็ก) ในวันที่ 22 ก.ย. มีแนวโน้มว่าการเปิดจังหวัดเพื่อรับ นักท่องเที่ยวทั้ง 5 พื้นที่ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ (อ.เมือง, แม่ริม, แม่แตง, ดอยเต่า) ชลบุรี (พัทยา, อ.บางละมุง, อ.สัตหีบ) เพชรบุรี (ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) จากวันที่ 1 ต.ค.2564 อาจต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 พ.ย. เพื่อให้ทุกพื้นที่ระดม ฉีดวัคซีนให้ได้ครบโดสเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ก่อน ประกอบกับขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ยังไม่แน่นอน คณะทำงานจากกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นควรให้เลื่อนกำหนดการอย่างน้อย 1 เดือน จากกำหนดเดิม
เชียงใหม่ปรับแผนรับไม้ต่อภูเก็ต
ด้านนายธเนศวร เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า ขณะนี้เชียงใหม่มีการปรับแผนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเรียบร้อยแล้ว โดยในระยะแรกจะไม่รับนักท่องเที่ยวเองจากเที่ยวบินตรง แต่เข้าร่วมโปรแกรม 7+7 เพื่อรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางในภูเก็ตครบ 7 วันก่อน แล้วจึงเดินทางมายัง เชียงใหม่ได้ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะเปิดตัว การท่องเที่ยวตลาดในประเทศเพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว ผู้ประกอบการจึงให้ความหวังกับตลาดคนไทยที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในฤดูหนาวมากกว่า
...
ติดเชื้อลดแต่ยังเกิน 1 หมื่น
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของไทย เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,919 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,490 คน จากเรือนจำ 422 คน และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 คน มาจากลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 คน เป็นหญิง อเมริกัน อายุ 32 ปี ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จาก สปป.ลาว 1 คน เป็นหญิงไทย อายุ 30 ปี จากมาเลเซีย 4 คน เป็นหญิงไทยทั้งหมด ในจำนวนนี้ เข้ามาช่องทางธรรมชาติ 1 คน และจากเมียนมา 1 คน เป็นชายชาวเมียนมา อายุ 41 ปี เข้ามาทางช่องทาง ธรรมชาติ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,500,105 คน ส่วนผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 11,694 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,352,838 คน อยู่ระหว่างรักษา 131,655 คน อาการ หนัก 5,548 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 759 คน
น่านเฮป่วยใหม่เป็นศูนย์
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,561 คน สมุทรปราการ 858 คน ชลบุรี 629 คน นราธิวาส 379 คน ราชบุรี 361 คน ยะลา 284 คน นนทบุรี 280 คน ระยอง 272 คน สงขลา 267 คน สมุทรสาคร 237 คน อย่างไรก็ตาม มี
1 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ จ.น่าน
ผู้ป่วยดับดีดไป 143 ศพ
ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันเดียว 143 คน เป็นชาย 82 คน หญิง 61 คน เป็นผู้เสียชีวิต ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 101 คน มีโรคเรื้อรัง 24 คน เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล 4 คน แบ่งเป็นที่วัดใน จ.ชลบุรี 1 คน ที่บ้านใน กทม.และฉะเชิงเทรา รวม 2 คน และพบเชื้อหลังเสียชีวิตที่บ้าน 1 คน ที่ จ.พัทลุง โดย กทม.พบเสียชีวิตมากที่สุด 40 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 15,612 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ก.ย.มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 469,052 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 45,211,101 โดส
...
ยัน 24 ก.ย.นี้มีวัคซีนพอฉีด
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดสในวันที่ 24 ก.ย.วันมหิดล ว่าได้มอบนโยบายให้ 12 เขตสุขภาพดำเนินการ แต่ละเขตจะจัดฉีดเฉลี่ย 1 แสนโดสในแต่ละเขต จะแบ่งวัคซีนจากเขตไปจังหวัด จังหวัดไปอำเภอ ซึ่งวันที่ 24 ก.ย. วัคซีนเพียงพอแน่นอน อย่างไรก็ตาม 3 เดือนครึ่งได้ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 40 ล้านโดส เฉลี่ยเดือนละ 12-13 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีน 24 ล้านโดส และ พ.ย. ธ.ค.อีก 23 ล้านโดส โดยรวมเรามี 124 ล้านโดส ขณะที่เป้าหมายคือ 100 ล้านโดส ดังนั้น ใน 100 ล้านโดสจะทำให้ได้ในปีนี้ ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นกลุ่มประชาชนทั่วไป จะเริ่มวันที่ 24 ก.ย.เช่นกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ได้รับซิโนแวคครบโดสตั้งแต่เดือน มี.ค.และทยอยเรียงกันไป โดยจะแจ้งผ่านระบบหมอพร้อม คาดว่าจะใช้เวลาฉีดประมาณ 1 เดือน
ให้ 3 กลุ่มเสี่ยงมารับชุดตรวจ
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีกระทรวงฯร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระจายชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจเชื้อด้วยตนเอง 8.5 ล้านชุด ไม่ใช่ทุกคนต้องตรวจ คนที่จะรับชุดตรวจ จะต้องประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านแอปเป๋าตังก่อน และเมื่อรับไปแล้วอย่าเก็บไว้ ควรใช้ชุดตรวจทันที และแจ้งผลตรวจให้ สปสช.ทราบ โดยกลุ่มที่จะได้รับชุดตรวจ ATK ได้แก่ 1.กลุ่มคนที่มีอาการ แต่ไม่มีประวัติความเสี่ยงสัมผัสโรค 2.กลุ่มคนไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสโรค และ 3.กลุ่ม 608 ในพื้นที่เสี่ยง ขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยา สถานพยาบาล และควรตรวจทันที และแจ้งผลการตรวจทั้งผลบวกและลบที่แอปเป๋าตังด้วย กรณีผลบวกใน กทม.ให้โทร.แจ้ง สปสช.ที่ 1330 ส่วนต่างจังหวัดให้แจ้งสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือจุดที่รับชุดตรวจ
...
พบผลตรวจบวกร้อยละ 1
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช.กล่าวว่า สปสช.กระจายชุดตรวจจำนวน 6.7 ล้านชิ้น ส่งให้หน่วยบริการต่างๆแล้ว สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ รับชุดตรวจได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 120 แห่ง จะเริ่มกระจายชุดตรวจในวันที่ 27 ก.ย.นี้ และร้านขายยาที่ติดป้ายแจกชุดตรวจ ATK นอกจากนี้ จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขใน กทม.หรือ อสส.ลงพื้นที่ประเมินความเสี่ยงประชาชนในชุมชนแออัด ตลาด ร้านเสริมสวย สปา หากมีความเสี่ยง อสส.จะแจกชุดตรวจให้ และขอร้องว่าเมื่อตรวจแล้วไม่ว่าผลบวกหรือลบ ให้บันทึกผลในแอปเป๋าตังด้วย หากผลเป็นบวก จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปเพื่อให้คำแนะนำการกักตัวที่บ้าน หรือโทร.แจ้งผลตรวจกับ สปสช. ส่วนคนที่ได้ผลเป็นลบ ระบบจะบันทึกไว้และมีคำแนะนำให้ตรวจซ้ำหลังจากนั้น 3-5 วัน หากเป็นลบอีกครั้ง ถือว่าปลอดภัย และหากมีความเสี่ยงอีกครั้งก็ให้ประเมินแอปเป๋าตังได้อีก และตั้งแต่วันที่ 16-20 ก.ย.มีผู้รับชุดตรวจไปแล้ว 80,000 คน คนละ 2 ชุด มีการรายงานเข้าระบบแล้ว 14,000 คน ในจำนวนนี้มีผลเป็นบวก 100 คน คิดเป็นร้อยละ 1
ราชวิทยาลัยฯนำเข้าโมโนโครนอลฯ
วันเดียวกัน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในงาน “การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์” ว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้ายา โมโนโครนอล แอนติบอดี เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนัก เป็นยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองการใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว เป็นยาสังเคราะห์ที่เข้าไปยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าในเซลล์ร่างกาย หากให้ยากับผู้ป่วยระยะเริ่มมีอาการโดยเฉพาะผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง จะลดอาการไม่ให้รุนแรง ลดการเข้าไอซียู และลดการเสียชีวิต ยานี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมากนักหรือป่วยหนักไม่เกิน 7 วัน โดยจะนำเข้าและกระจายยาดังกล่าวให้กับ รพ.ต่างๆ ใช้รักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังร่วมกับโรงพยาบาล 2-3 แห่งทำวิจัยยาต้านไวรัสโควิดด้วย
เตรียมกระจาย รพ.รัฐ–เอกชน
ศ.นพ.นิธิกล่าวว่า เบื้องต้นราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำเข้ายาจำนวน 4,000 โดส กระจายให้กับ รพ. ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ยานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของ รพ.เอกชนอาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของ รพ.หรือเงินบริจาคต่างๆมาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามาราคา 50,000 บาทต่อโดส โดย 1 คน ใช้ 1 โดส
กลาง ต.ค.คาดผู้ติดเชื้อพุ่งแต่ไม่ชัน
ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อช่วงนี้ลดลง แต่คาดว่ากลางเดือน ต.ค. อาจจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่ชันเช่นที่ผ่านมา มาจากการเปิดกิจกรรมกิจการ ผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง ในจำนวนผู้ติดเชื้อจะมีร้อยละ 5 ที่มีโอกาสป่วยหนักต้องเข้า ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนไม่ร่วมมือปฏิบัติมาตรการสาธารณสุข อาจจะมีรูรั่วได้ การฉีดวัคซีนต้องให้ครอบคลุมมากที่สุด แม้ไม่ป้องกันการติด แต่ลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การใช้ยาก็ต้องมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัวที่ใช้ ยังไม่มีตัวไหนดีที่สุด รวมถึงฟ้าทะลายโจร การใช้ยาโมโนโครนอล แอนติบอดี เป็นอีกตัวที่น่าสนที่ช่วยยับยั้งการติดเชื้อในระดับเซลล์ ตรงจุด เพียงแต่ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมีราคาแพง จำเป็นต้องมีระบบคัดกรองคนให้กลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุ ภาวะอ้วน เป็นต้น
กทม.หวังฉีดวัคซีนเด็กโต 1 ล้านคน
ส่วนที่อาคารทีปังกรรัศมีโชติ วชิรพยาบาล พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคในกลุ่ม 7 โรคกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ใน กทม.ว่าการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ กทม.ร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดฉีดวัคซีนแบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 800 โดส และฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 700 โดส ทั้งนี้ จากการลงทะเบียนในกลุ่มดังกล่าวมีแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนกว่า 5,000 คน ขณะนี้ฉีดแล้ว 2,000 คน เหลืออีก 3,000 คน หาก กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งฉีดให้ครบ ทั้งนี้ กทม.มีความตั้งใจที่จะฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 12-18 ปีที่อยู่ในกรุงเทพฯทุกคนไม่เฉพาะที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน โดยหากฉีดวัคซีนให้เด็กครบทุกคนหรือร้อยละ 70 ขึ้นไปก่อนเปิดภาคเรียน จะเพิ่มความปลอดภัยและลดความกังวลใจของเด็กและผู้ปกครอง
เครือซีพีผุด รพ.สนาม–ศูนย์พักคอย
วันเดียวกัน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่าเครือซีพีในฐานะบริษัทเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจบนผืนแผ่นดินไทยมาหนึ่งศตวรรษใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ขอประกาศความตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เป็นการน้อมรำลึกพ่อหลวงของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต 5 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการจะผนึกกำลังกับภาครัฐและเอกชนสร้าง รพ.สนามและศูนย์พักคอย เพื่อรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รวม 3 แห่ง จำนวนกว่า 1,000 เตียง ได้แก่ 1.รพ.สนาม ซีพี-WHA-จุฬารัตน์ โดยเครือซีพีร่วมกับ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) สร้างโรงพยาบาลสนามสีเหลือง-ส้ม เฟสที่ 1 จำนวนกว่า 600 เตียงบนพื้นที่คลังสินค้าของ WHA ย่านบางนา-ตราด กม.19 2. รพ.สนาม กรมการแพทย์-เลิดสิน โดยสนับสนุนกรมการแพทย์และโรงพยาบาลเลิดสิน สร้างโรงพยาบาลสนามสีเหลือง-แดง จำนวน 170 เตียง บนถนนสีลม 3.ศูนย์พักคอย ซีพี-รามคำแหง-นพรัตน์ราชธานีโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและ รพ.นพรัตน์ราชธานี สร้างศูนย์พักคอยฯจำนวน 172 เตียงขึ้นที่โรงยิมเนเซียม 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมถึงโครงการปันปลูกฟ้าทะลายโจรบนที่ดิน 100 ไร่ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิตยาฟ้าทะลายโจรจำนวน 30 ล้านแคปซูล แจกฟรีในช่วงวิกฤติโควิด-19
ญาติเด็ก 13 ขอความชัดเจน
ส่วนความคืบหน้ากรณี ด.ช.ชาวกระบี่ วัย 13 ปี เสียชีวิตที่ รพ.กระบี่ เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 รอบ 2 นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายวุฒิภัทร รอดเกิด อายุ 39 ปี น้าชายของเด็กชายที่เสียชีวิต ที่นำเอกสารรับรองการตายของ ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 13 ปี มาร้องขอความชัดเจนผ่านผู้สื่อข่าว เนื่องจากทาง รพ. ออกเอกสารระบุสาเหตุการตายว่า ด.ช.เอ มีภาวะปอดมีเลือดออกจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งญาติไม่ปักใจเชื่อ เพราะก่อนนี้ ด.ช.เอ เข้ารับการรักษาอาการป่วยครั้งแรกที่ รพ.คลองท่อม เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีอาการติดเชื้อโควิด รพ.คลองท่อม ก็ยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด แต่ยอมรับว่าหลานเคยติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการเมื่อประมาณ ก.ค.ที่ผ่านมา กักตัวรักษาจนปลอดเชื้อ 21 วัน จากนั้นไม่เคยมีอาการป่วยจากโควิดอีก แต่ทาง รพ.กลับระบุว่าเกิดจากโควิด ทำให้ญาติและชาวบ้านสับสนว่าน้องติดโควิดรอบ 2 หรือไม่ เพราะทาง รพ.ไม่แจ้งให้ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของญาติ เพราะถูกชาวบ้านในพื้นที่แสดงความรังเกียจ จึงอยากให้ทาง รพ.ออกเอกสารชี้แจงสาเหตุการตายที่แท้จริง และขอให้นำผลตรวจหาเชื้อโควิดมาแสดงให้ญาติเห็น หากติดเชื้อรอบ 2 จริง ก็ยอมรับจะได้ปฏิบัติตัวถูก
ไม่ติดโควิดคาดตายจาก MIS-C
ต่อมา นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.รพ.กระบี่ ชี้แจงกรณีนี้ว่าการเสียชีวิตของ ด.ช.วัย 13 ปี จากการสอบถามแพทย์ที่รักษา ทราบว่าเด็กมีประวัติเคยติดเชื้อมาแล้วในครั้งแรก ซึ่งการติดเชื้อดังกล่าว แม้จะรักษาหายออกไปแล้ว แต่อาจจะเกิดภาวะอาการ “มิสซี” MIS-C (Multisystem inflammatory syndrome in children) หรือกลุ่มอาการอักเสบของระบบในร่างกาย เป็นอาการอักเสบรุนแรงในเด็ก หลังหายจากติดเชื้อโควิด-19 อาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เป็นอาการที่หายจากโควิดไปแล้ว 2-8 สัปดาห์ ซึ่งพบน้อยมากในไทย คาดว่าผู้ป่วยรายนี้น่าจะเป็น “มิสซี” และไม่ได้เป็นการติดเชื้อรอบ 2 จึงอยากฝากให้ประชาชนอย่าตื่นกลัวจนเกินไป ขอให้เข้าใจญาติของผู้ป่วยด้วย
ทัณฑสถานนครศรีฯ จ่อป่วย 2 พัน
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในทัณฑสถานวัยหนุ่มนครศรีธรรมราช นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ตามหลักการระบาดวิทยา คาดว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อประมาณ 2,000 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 2,310 คน ในจำนวนผู้ป่วยจะมีร้อยละ 50 ที่เป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ร้อยละ 20-30 มีอาการเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10 จะมีอาการเชื้อลงปอดและรักษาหายได้ และร้อยละ 5 ที่มีอาการหนัก ส่วนอัตราสูญเสียจะไม่เกินร้อยละ 5 เช่นเดียวกัน และคาดว่าภายใน 28 วัน จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในสถานที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ภาพรวมของจังหวัด ณ วันที่ 21 ก.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 399 คนในจำนวนนี้เป็นคลัสเตอร์นักโทษจำนวน 231 คน
คลัสเตอร์ รง.เย็บผ้าอุบลฯพุ่ง
สำหรับ จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 และสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ อสม.บ้านจั่น ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ นำรถชีวนิรภัยพระราชทานตรวจคัดกรองชาวบ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 จำนวน 234 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีคนในหมู่บ้านเป็นพนักงานเย็บผ้ากับโรงงานเย็บผ้าส่งออก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน ผลการตรวจด้วย ATK พบผลบวก 2 คน และจะได้ตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำก่อนนำตัวเข้ารับการรักษา ขณะที่ภาพรวมจังหวัดพบผู้ป่วยติดเชื้อ 43 คน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ 28 คน และ 3 คน เป็นผู้ติดเชื้อจากโรงงานเย็บผ้าโดยตรง อีกส่วนเป็นการนำเชื้อไปแพร่สู่คนในครอบครัว ทำให้ในรอบ 1 สัปดาห์ มีคนติดเชื้อจากคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้าแห่งนี้แล้ว 75 คน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขได้เข้าทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อควบคุมโรคแล้ว
งานเกษียณปศุสัตว์สกลฯ ป่วยแล้ว 11
ส่วนสถานการณ์ จ.สกลนคร กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง โดยผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 21 ก.ย. พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 23 คน นอกจากนี้ จากไทม์ไลน์ผู้ป่วยติดเชื้อรายหนึ่ง อายุ 23 ปี อาชีพลูกจ้างสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร พบว่าไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานจำนวน 50 คน ในสถานที่ราชการ ซึ่งมีผลตรวจยืนยันพบเชื้อเมื่อวันที่ 19 ก.ย.หลังจากที่ร่วมวงสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์จังหวัดสกลนคร ต.พังขว้าง อ.เมือง ทำให้มีผู้เสี่ยงสูง 22 คน และจากการตรวจสอบเชิงลึกยังพบว่า งานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าวคืองานเกษียณอายุราชการของข้าราชการสำนักงานปศุสัตว์ 5-6 คน ที่มีผู้มาร่วมงานกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในกรมปศุสัตว์ เช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร สำนักงานปศุสัตว์อำเภอจากทั้ง 18 อำเภอของสกลนคร และยังมีข้าราชการหน่วยงานอื่นๆอีกที่ร่วมในงานด้วยซึ่งจากรายงานการตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงสูงที่ร่วมในงานดังกล่าว พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 11 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร รวมทั้งบุคลากรสำนักงานเกษตรจังหวัด และเมื่อไปตรวจสอบที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร พบว่าปิดทำการชั่วคราวโดยไม่ได้มีการชี้แจงใดๆ และภายในอาคารก็ไร้วี่แววเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
หนุ่มกรุงเก่าฉีดแอสตราฯดับ
นอกจากนี้ มีรายงานคนฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตเพิ่มอีก โดยที่วัดใหม่หนองคต ต.วังพัฒนา อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.เพียงเพ็ญ ม่วงใจเพ็ชร อายุ 54 ปี ขณะเตรียมจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพนายอรัญชัย ลอยลม อายุ 25 ปี ลูกชาย ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้าเสียใจ โดย น.ส.เพียงเพ็ญระบุว่า ตนมีลูกชายเพียงคนเดียว ทำงานภายในโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ และเคยฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แอสตราเซเนกา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. และมารับเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งเวลาประมาณ 02.00 น. วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ยินเสียงคล้ายคนโวยวาย เมื่อหันไปดูที่ห้องนอนลูกชายที่เปิดประตูไว้ เห็นเป็นลูกชายนอนดิ้นไม่รู้สึกตัว จึงเข้าไปเขย่าตัว เรียกชื่อลูกตลอดเวลา แต่ลูกก็ไม่ตอบสนอง และเรียกคนมาช่วย พอขึ้นมาดูลูกหายใจเฮือกใหญ่ๆ 2-3 ครั้งก็นิ่งไป จากนั้นรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลใน อ.เสนา แต่ไม่ทันลูกเสียชีวิตแล้ว แพทย์ระบุในหนังสือรับรองการตายว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติร่วมกับกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติและเริ่มอุดตัน” ส่วนตัวเชื่อว่าสาเหตุที่ลูกชายเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะปกติลูกชายเป็นคนแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ตอนฉีดเข็มแรกมีไข้ ปวดเมื่อย กินยาพารา หยุดงานไป 2 วัน ก็ทำงานปกติ พอมาเข็มที่ 2 ตนมารู้จากเพื่อนที่บอกว่าลูกบ่นให้เพื่อนฟังหลังจากฉีดครั้งนี้มีความรู้สึกเหนื่อยๆ ตอนนี้เสียใจมากที่ลูกจากไปแบบกะทันหัน เครียดมาก อยากให้มีคนออกมารับผิดชอบ เพราะการสูญเสียครั้งนี้ใหญ่มาก เราอยู่กัน 2 คนแม่ลูก เคยดูแต่ข่าว ไม่คิดว่าจะมาเกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเอง
ภูเก็ตเปิดเข้าได้ทุกช่องทางเริ่ม 1 ต.ค.
ต่อมาช่วงค่ำวันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต โดยนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต เป็นประธาน มีมติปรับปรุงคำสั่งจังหวัดภูเก็ต เรื่อง การคัดกรองบุคคลที่จะเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคลายล็อก การเดินทางเข้าจังหวัดให้ทุกคนสามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้ทุกช่องทาง ทั้งสนามบินภูเก็ต ผ่านด่านตรวจภูเก็ต (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) และทางเรือทุกท่าเรือ แต่ต้องฉีดวัคซีนชนิดต่างๆครบโดส หรือเคยป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 6 เดือน และจะต้องมีใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบด้วยวิธี RT-PCR หรือวิธี Antigen Test ภายใน 7 วัน ส่วนกรณีที่เดินทางผ่านด่านตรวจนำชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ที่ได้มาตรฐานรับรองจาก อย.มาตรวจเองและยืนยันผลกับเจ้าหน้าที่และใช้รับรองผลได้ 7 วัน รวมไปถึงโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป
มะกันรับ 33 ชาติฉีดวัคซีนแล้ว
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก วันที่ 21 ก.ย.สหรัฐอเมริกาประกาศอนุญาตให้ผู้โดยสารทางอากาศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วจากอังกฤษ ไอร์แลนด์ ยุโรป 26 ประเทศ จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ อิหร่าน และบราซิล เข้าประเทศได้โดยไม่ต้อง
กักตัว ตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป โดยจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบถ้วนก่อนขึ้นเครื่องบินไปยังสหรัฐฯ และผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบใน 72 ชม.ก่อนเดินทาง ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นแก่เด็กและผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้เนื่องจากสถานการณ์พิเศษ รวมทั้งไม่ใช้กับผู้เดินทางที่ข้ามพรมแดนทางบกจากเม็กซิโกและแคนาดา ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (ซีดีซี) ผู้ตัดสินใจว่าวัคซีนใดได้รับการยอมรับตามกฎใหม่ ระบุเพียงว่าเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ รวมถึงวัคซีนใดก็ตามที่องค์การอนามัยโลกอนุญาต