เพลี้ยแป้ง...ศัตรูพืชประจำถิ่นในเขตร้อนชื้น รูปร่างอ้วนสั้น มีผงสีขาวคล้ายแป้งปกคลุมตัว มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สามารถทำลายพืชได้หลายชนิด ด้วยการใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงบนผล ใบ ตาและดอก นอกจากจะทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโตแล้ว เพลี้ยแป้งยังขับถ่ายมูลเป็นน้ำหวานที่ก่อให้เกิดราดำ ส่งผลให้พืชเป็นโรคต่างๆตามมาได้อีกมากมาย

นอกเหนือจากนั้น เพลี้ยแป้งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากการขายผลไม้...เนื่องจากทางการจีนได้เตือนให้ประเทศไทยระงับการส่งออกผลไม้จากสวนและโรงคัดบรรจุที่มีการตรวจพบเพลี้ยแป้ง

เพราะเพลี้ยแป้งเป็นศัตรูพืชควบคุมของจีนที่ไม่อาจปล่อยให้หลุดเข้าไปในประเทศเขาได้...ด้วยเหตุผลจีนไม่มีเพลี้ยแป้ง เลยกลัวว่าศัตรูพืชต่างถิ่นพันธุ์นี้หลุดรอดเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรของจีน

วันนี้ทั้งลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ ที่จะส่งออกไปจีน เลยถูกตรวจเข้มเป็นพิเศษ...ทั้งที่ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องเก่าที่มีมาตั้งแต่ปี 2552 โน่นแล้ว

...

ฉะนั้น ปัญหาสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้มั่นคงจากการขายผลไม้ส่งออกไปจีนได้นานแสนนาน การป้องกันไม่ให้เกิดเพลี้ยแป้งจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะมองข้ามได้

“หนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุด ต้องป้องกันตั้งแต่ระดับต้นน้ำที่สวนผลไม้ เพราะจะไปแก้ปัญหาที่โรงบรรจุคัดแยกหรือล้งไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากล้งไม่มีสถานที่มากพอที่จะมาคัดแยกมาทำความสะอาดผลไม้ไม่ให้มีเพลี้ยแป้งติดไป และวิธีการคัดแยกของล้ง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีคัดแยก ตะกร้าไหนตรวจพบเพลี้ยแป้งจะคัดออกมาขายภายในประเทศเป็นหลัก”

น.ส.อิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการจัดการเพลี้ยแป้งต้องทำที่สวนเป็นหลัก เพราะการไปจัดการที่ล้ง นอกจากจะไม่ค่อยได้ผล ยิ่งจะสร้างปัญหาให้ผลไม้ภายในประเทศล้นตลาดมากยิ่งขึ้น เพราะส่งออกไม่ได้ ล้งต้องเอามาระบายขายในประเทศซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นไปอีก

ส่วนกระบวนการจัดการที่สวนเพื่อไม่ให้มีเพลี้ยแป้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรบอกว่า ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่เกษตรกรต้องขยันหมั่นตรวจสวนให้บ่อยเท่านั้น อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนก่อนผลไม้จะติดผล

เพื่อให้ป้องกันเพลี้ยได้ผลและช่วยให้การจัดการทำได้สะดวก ก่อนอื่นเกษตรกร ต้องพยายามทำให้ไม้ผลในสวนมีต้นเตี้ย เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจหาและกำจัดเพลี้ยแป้ง พร้อมกับพยายามตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพราะถ้าปล่อยให้ทรงพุ่มแน่นทึบไม่มีตัดแต่งให้โปร่ง จะทำให้ไม้ผลของเราเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมด

เพราะมดนี่แหละตัวการสำคัญที่นำพาเพลี้ยแป้งมาแพร่ระบาดให้สวน

“เพลี้ยแป้งเดินไม่ค่อยได้ เคลื่อนไหวช้า ไปไหนมาไหนส่วนใหญ่จะมีมดคาบพาไปเพื่อเพลี้ยแป้งจะได้ดูดกินน้ำเลี้ยงต้นไม้และถ่ายมูลออกมาเป็นน้ำหวานให้มดได้กินเป็นอาหาร”

ดังนั้น วิธีป้องกันไม่ให้มีเพลี้ยแป้งที่ดีที่สุด คือ จัดการไม่ให้มดขึ้นต้นไม้ผลของเรา
วิธีการง่ายๆ น.ส.อิงอร แนะนำให้หาผ้ามาชุบน้ำมันเครื่อง หรือสารเคมีกำจัดมดมาพันรอบโคนต้นไม้ผล รวมทั้งพันรอบโคนไม้ค้ำยันด้วย...เรียกว่าพันไปทุกสิ่งที่เป็นช่องทางให้มดไต่ขึ้นต้นไม้ได้

แต่กระนั้นเพลี้ยแป้งยังมีโอกาสแพร่ระบาดได้ด้วยวิธีอื่นอีก...นั่นคือปลิวมากับลม
นอกจาก 3 เดือนก่อนผลไม้ติดผล หลังมีพายุพัด ลมแรง ก็เช่นกัน เป็นช่วงที่เกษตรกรต้องมั่นตรวจสวนด้วย เพราะเพลี้ยแป้งจากที่อื่นอาจปลิวมาแพร่ระบาดในสวนเราได้

...

“การสำรวจตรวจดูสวนผลไม้ ถ้าจะตรวจกันทุกต้นทั้งสวนเกษตรกรอาจจะทำไม่ไหว พื้นที่ 1 ไร่ สำรวจดู 1 ต้น และสุ่มตรวจต้นละ 10 ช่อ ดูว่ามีเพลี้ยลงหรือยัง ถ้ามีน้อยให้เด็ดช่อที่มีเพลี้ยแปลงไปทิ้ง เผาหรือฝัง แต่ถ้ามีหลายจุดให้ใช้น้ำเปล่าฉีดพ่นเพื่อชะล้างให้เพลี้ยหลุดลงตกมาบนพื้นดิน แต่ถ้าจะฉีดหวังผลให้เพลี้ยแป้งตาย ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมน้ำยาล้างจานจะได้ผลเช่นกัน”

แต่ถ้าสุ่มตรวจดูแล้วพบว่ามีการระบาดมาก ใน 10 ช่อ พบมากถึง 5 ช่อ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้สารเคมี

และหลังจากฉีดพ่นสารเคมีไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ แต่ยังพบการระบาดของเพลี้ยแป้งอยู่อีก...การฉีดพ่นสารเคมีครั้งต่อไปต้องสลับเปลี่ยนไปใช้สารออกฤทธิ์ตัวอื่น ห้ามใช้สารเคมีตัวเดิม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการดื้อยา ฉีดพ่นไปแล้วไม่ได้ผล เกษตรกรจะสูญเงินสูญเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

ช่วยกันทำเพียงแค่นี้จะได้มั้ย เพื่อประโยชน์ของเราเอง ก่อนที่จีนจะแบนผลไม้ไทยจนขายไม่ออก ...สุดท้ายใครล่ะเดือดร้อน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

...