กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ภายหลังจากที่อาคาร EnCo Terminal ถูกเปลี่ยนให้เป็น “หน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน โดยกลุ่ม ปตท.” เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากที่นี่จะเป็นที่ทำงานของบุคลากรด่านหน้า ที่หมายถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งออกมาช่วยเหลือประชาชนแล้ว ในสถานที่เดียวกันนี้ยังเป็นที่รวมตัวกันของบุคลากรส่วนอื่นๆ อีกมาก ซึ่งทำหน้าที่สัมพันธ์กันอยู่ในระบบเดียวกัน พวกเขาเสมือนเป็นทัพหลัง เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่มาช่วยเติมเต็มภารกิจครั้งนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทว่าน้อยครั้งนัก ที่จะมีใครเอ่ยถึง “บุคคลเบื้องหลัง” พวกเขากำลังทำอะไร ทำไมพวกเขาจึงวางความกลัว และเดินเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่แห่งนี้ คนเบื้องหลังเหล่านี้พวกเขารู้สึกอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ที่มีลมหายใจเดียวกันของผู้คนเป็นเดิมพัน

พร้อมเป็น ‘ที่พึ่ง’ ของคน ‘ไร้ที่พึ่ง’

‘ธนา เดชเลย์’ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยตรวจคัดกรอง ณ อาคาร EnCo Terminal มาตั้งแต่แรกเริ่ม แม้เขาจะได้เข้ามาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้เข้ามารับบริการ ด้วยความบังเอิญ แต่ธนาก็พบว่าในเวลาต่อมาภารกิจของเขาสำคัญต่อผู้คนอย่างมาก โดยเฉพาะในวันที่ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลสะท้อนถึงกันและกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างชัดเจน หนึ่งเสียงสะท้อนจากธนาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลัง เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจไม่น้อย แม้ชีวิตที่นี่จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม

“ผมได้รับการติดต่อเพื่อว่าจ้างให้เข้ามาช่วยเหลืองานส่วนนี้ โดยมีที่พักให้ มีรถรับส่ง เพื่อความสะดวกและให้มั่นใจได้มากขึ้นว่า ถึงเราจะอยู่ในความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง เราก็จะไม่ได้นำความเสี่ยงเหล่านี้ไปให้ใคร ทั้งคนในครอบครัวเราเอง และคนอื่นๆ ภายนอก ผมรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมไปพร้อมกัน เลยตัดสินใจเข้าร่วมรับหน้าที่นี้ทันที”

แม้จะมีความกังวลใจอยู่บ้างในช่วงแรก แต่ธนาก็ค่อยๆ ได้พบว่า งานที่เขาทำอยู่ และพื้นที่ที่เขายืนอยู่มีความหมายอย่างมากต่อใครอีกหลายๆคน และยังเพิ่มมุมใหม่ในการมองชีวิตให้เขาด้วย “การที่ผมมาอยู่ตรงนี้ ทำให้ได้เห็นด้วยว่า คนที่ไม่มีทุนทรัพย์รักษาตัว และต้องการความช่วยเหลือยังมีเยอะมาก พอมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ก็เลยเหมือนได้เข้ามาโอบอุ้มช่วยเหลือ พอมีจุดตรวจโควิด-19 แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย มีโรงพยาบาลสนาม มีคุณหมอคอยดูแล เขาก็อุ่นใจขึ้น รู้สึกว่าเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ การได้มาอยู่ตรงนี้เลยทำให้ผมเห็นคุณค่าของตัวเองด้วยว่า เราไม่ได้มีศักยภาพเเค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว แต่เรายังมีศักยภาพทางจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้คนจริงๆ ผมยังได้มิตรภาพจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานร่วมกันในแบบเดียวกัน สถานที่เดียวกัน อีกด้วยเราได้เเลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามที่รู้สึกเหนื่อย เรายังได้ช่วยเหลือผู้อื่นร่วมกันอีก นับเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่งในชีวิตช่วงนี้เลยครับ”

ธนา เดชเลย์ - ฝ่ายสนับสนุน
(ดูแลอำนวยความสะดวกให้กับทีมงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดตรวจคัดกรอง)

สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรอย่างธนา ภายในหน่วยตรวจคัดกรองที่อาคาร EnCo Terminal แห่งนี้ คือ การทำหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทีมงานที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนในทุกจุดตรวจคัดกรอง ภาพความเหนื่อยหนักก็อาจตามมาได้ โดยเฉพาะหากเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามารับบริการหนาแน่น บุคลากรอย่างธนาก็อาจแทบไม่ได้หยุดนั่งพัก เนื่องจากต้องคอยตระเตรียมทุกอย่างเผื่อเหลือเผื่อขาดเสมอ ไม่ว่าเป็นอุปกรณ์ทางการเเพทย์ต่างๆ ไปถึงจัดหาอาหาร น้ำดื่ม ไว้บริการ เรียกว่าต้องคอยดูเเลภาพรวมทั้งหมด และต้องเเบกรับความรับผิดชอบค่อนข้างมากในแต่ละวัน ธนาจึงต้องอยู่ประจำที่หน่วยคัดกรองเชิงรุกแห่งนี้ ตั้งเเต่เวลา 6 นาฬิกายามเช้า ก่อนจะสิ้นสุดภารกิจของวันนั้นๆ ในเวลา 19 นาฬิกา แม้จะเหนื่อย แต่เขาไม่เคยคิดถอดใจ ยิ่งเมื่อนึกถึงภาพความเหน็ดเหนื่อยของบุคลากรทางการเเพทย์ ความทุกข์ยากของประชาชนอีกหลายๆ คน เขาก็ลืมความเหน็ดเหนื่อยของตัวเองทันที

มินท์มันตา พิศาลอนันวนิช - เจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรองที่ 1
(บริการตรวจเอกสารการลงทะเบียนแก่ผู้ที่มาตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19)

‘มินท์มันตา พิศาลอนันวนิช’ เจ้าหน้าที่สาวท่าทางคล่องแคล่วที่ประจำอยู่ ณ จุดคัดกรองที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่รับตรวจเอกสาร วัน เวลา การลงทะเบียน แก่ผู้ที่มาตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ก่อนจะส่งต่อไปยังจุดที่ 1 ด่านที่ 2 เพื่อซักถามประวัติการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนหน้านี้อย่างละเอียดอีกที เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้พบว่า มุมมองที่มีต่อชีวิตหลายส่วนของเธอเปลี่ยนไป เมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่บุคลากรภายในหน่วยคัดกรองเชิงรุกแห่งนี้ แม้จะเคยกังวลใจเรื่องความเสี่ยง แต่การปฏิบัติหน้าที่ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตแบบนี้ทำให้เธอเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น รวมถึงภูมิใจอย่างมากที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการต่อลมหายใจของผู้คน แม้มินท์มันตาจะไม่สามารถแสดงสีหน้าให้รับรู้ได้ว่าเธอภาคภูมิใจกับภารกิจที่ทำอยู่นี้แค่ไหน แต่แววตาเป็นประกายที่อยู่เหนือหน้ากากอนามัย ก็ฉายชัดด้วยพลังบวกและบ่งบอกว่า เธอมีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำไม่น้อย

สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘กำลังใจ’

ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ อีกปัญหาที่ตามมาก็คือ ภาวะการว่างงาน โดยหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ก็คือ บุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่หน่วยคัดกรองแห่งนี้ด้วย หลายคนจึงเดินเข้ามา พร้อมกับความหวังว่าสักวันจะได้เห็นฟ้าหลังฝนที่สดใส และเมื่อได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เพื่อคนอื่น จากคนที่ต้องการการปลอบโยน ก็กลับกลายเป็นผู้มอบพลังและส่งกำลังใจให้แก่ผู้คนรอบข้างได้มากขึ้น เหมือน ‘เจนณิกา สายเเสง’ เจ้าหน้าที่วัย 24 ปี เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจคัดกรองที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่คอยเเนะนำ สอบถามอาการเบื้องต้น และให้ความช่วยเหลือในเรื่องการกรอกเอกสารใบยินยอมเพื่อรับการตรวจ วันนี้เธอคลายความกังวลเรื่องตัวเองลง และมีความสุขในการทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น

เจนณิกา สายเเสง - เจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรองที่ 2
(บริการสอบถามอาการเบื้องต้น และให้ความช่วยเหลือในเรื่องการกรอกเอกสาร)

“เพื่อนชวนให้ลองมาทำงานกับโครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ช่วงที่ว่างงาน ตัวเราก็เคยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อมาก่อน แต่หายแล้ว ก่อนนั้นเราติดกันทั้งบ้าน เลยทำให้ได้รู้ว่านอกจากการรักษาแล้ว การให้กำลังใจซึ่งกันเเละกัน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดด้วย เมื่อมาทำงานที่หน่วยคัดกรองเชิงรุก ก็รู้สึกว่าการมอบกำลังใจเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน บางคนที่มาที่นี่ พอรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ เขาจะกังวลมาก เราก็เข้าไปให้กำลังใจ พูดปลอบให้เขาผ่อนคลายขึ้น จะบอกกับทุกคนเสมอว่า หนูเคยติดมาแล้วหายได้ พี่ก็ต้องหายได้ เป็นวิธีการช่วยเหลือคนอื่นอีกแบบ โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง เเค่พูดให้กำลังใจ พอเขารู้สึกดีขึ้น เราเองก็พลอยรู้สึกดีกับตัวเอง”

ใบหน้าที่ถูกปกปิดด้วยหน้ากากอนามัยถึง 2 ชั้น แม้จะเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อหยดแล้วหยดเล่า แต่ดูเหมือนพวกเขายังคงสะท้อนให้เห็นรอยยิ้มที่มาจากดวงตา พร้อมช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ที่เดินทางมาเข้ารับการตรวจเสมอ เช่นเดียวกับ ‘ระภีพงศ์ เชาวน์เสริมสุข’ เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจคัดกรองที่ 8 ซึ่งเป็นจุดเฉพาะผู้พบเชื้อ โดยหน้าที่ของระภีพงศ์ คือคอยรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อก่อนดำเนินการเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลปิยะเวทต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เข้ารับการตรวจ X-Ray ปอด รวมไปถึงการเข้ารับคำปรึกษาโดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลปิยะเวท โดยจุดนี้เป็นจุดที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด และเป็นจุดบริการประชาชนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจุดหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน จุดนี้ก็เป็นจุดที่ได้เห็นน้ำตาผู้ป่วยแทบทุกวัน ในขณะที่กำลังใจที่ส่งออกไปจากบุคลากรในจุดนี้ก็สำคัญอย่างมากเช่นกัน

“ผมเคยเจอเคสผู้ป่วยติดเชื้อมากสุด 200 คนต่อวัน บางทีเห็นผู้ป่วยร้องไห้ บางคนสติหลุดเลยก็มี รู้สึกหดหู่มาก เเต่ก็ต้องพยายามซัพพอร์ตเขาให้มากที่สุด ช่วยแนะนำ ช่วยอำนวยความสะดวก ผู้ป่วยบางคนเป็นอัมพาตไม่สามารถเดินได้ เราก็ต้องประคองพาไปตรวจปอดที่รถเอ็กซ์เรย์ เพื่อทำให้เขารู้สึกอุ่นใจขึ้น ถ้าถามผมว่ากลัวติดไหม ก็กลัวนะ แต่ถ้าเรากลัวแล้วหยุดทำ โครงการนี้ก็คงขับเคลื่อนต่อไม่ได้ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เราต้องช่วยกัน ผมยอมรับว่าผมเหนื่อย แต่พอได้ช่วยเหลือคนอื่น ได้ส่งมอบกำลังใจให้คนที่เขาทุกข์ใจ ผมก็รู้สึกได้ว่าตัวเองหายเหนื่อยแล้ว”

ระภีพงศ์ เชาวน์เสริมสุข - เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจคัดกรองที่ 8
(บริการรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อก่อนดำเนินการเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล)

ภายใต้หน้ากากอนามัยมิดชิด และชุดป้องกันตัวที่คลุมจนเกือบทั่วร่างกาย คงมีแต่แววตา คำพูด และภาษากาย จากพวกเขาเท่านั้น ที่บ่งบอกว่า ‘บุคคลเบื้องหลัง’ เหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความเสี่ยงและความเหนื่อยหนัก ด้วยหัวใจ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร มาจากไหน เข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วยเหตุผลแตกต่างกันเพียงใด ทั้งหมดก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของ หน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 จากโครงการลมหายใจเดียวกัน โดย กลุ่ม ปตท. ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน ด้วยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ ความสุขจากการได้เป็นกลไกเล็กๆ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพาคนไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน