น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ติดตามการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ คนละ 2,000 บาท ตามโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งตนได้รับข้อมูล ว่าขณะนี้มีสถานศึกษาบางแห่งทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยังไม่จ่ายเงินให้แก่ผู้ปกครอง หรือมีการหักเงินดังกล่าวไว้ส่วนหนึ่ง โดยใช้เหตุผลต่างๆ เช่นระบุว่า เป็นการหักค่าบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมการเรียน ที่ผู้ปกครองค้างชำระสถานศึกษาไว้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนขอทำความเข้าใจว่าทางโรงเรียนไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยานี้ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมีเจตนาให้เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ดังนั้น เงินเยียวยาจำนวน 2,000 บาทนี้ จึงต้องถึงมือของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองอย่างเต็มจำนวน เพื่อนำไปใช้ตามความจำเป็น สถานศึกษาไม่มีสิทธิ์หักเงินนี้ไว้ไม่ว่าจะในกรณีใดๆทั้งสิ้น
“เมื่อรับทราบข้อมูลว่า สถานศึกษาบางแห่งยังไม่จ่ายเงินให้ผู้ปกครอง หรือมีการหักเงินส่วนหนึ่งไว้ ดิฉันจึงได้ประชุมร่วมกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) โดยได้กำชับให้สั่งการไปยังแต่ละส่วนราชการในสังกัดให้ดำเนินการตามหนังสือแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายเงินตามโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้มีหนังสือจากต้นสังกัดแจ้งไปยังสถานศึกษาก่อนหน้านี้อย่างเคร่งครัด รวมถึงดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท ให้ถึงมือนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองเต็มจำนวนโดยเร็ว หากพบปัญหาการแจกจ่ายเงินขอให้แจ้งมาที่สายด่วนกระทรวงศึกษาธิการ 1579” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว.
...