“น้ำยางสดโดยทั่วไปมักจะมีปัญหาเรื่องไอออนแมกนีเซียมในน้ำยางทำปฏิกิริยากับกรดอินทรีย์ หรือคาร์บอกซีเลตบนผิวน้ำยาง ทำให้คุณภาพของน้ำยางลดลง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูป เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตลาดสินค้าเกษตร จึงได้กำหนดปริมาณไอออนแมกนีเซียมก่อนนำไปผลิตน้ำยางข้น ต้องมีค่าต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) เพื่อให้ได้น้ำยางมีคุณภาพตรงตามข้อกำหนด แต่การวิเคราะห์หาปริมาณแมกนี เซียมมีวิธีการซับซ้อน อีกทั้งผู้วิเคราะห์ต้องมีทักษะ มีความเชี่ยวชาญ และต้องทำ ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เราจึงคิดประดิษฐ์ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา ที่ใช้งานได้ง่ายและรู้ผลได้รวดเร็ว”
รศ. ดร.ปุริม จารุจำรัส ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกถึงที่มาของงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดทดสอบสำหรับวิเคราะห์ปริมาณแมกนีเซียมในน้ำยาง ด้วยการตรวจวัดทางสีที่สามารถอ่านค่าได้ด้วยตาเปล่า รู้ผลภายใน 1 นาที โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการวิเคราะห์
...
อีกทั้งยังใช้ปริมาณตัวอย่างน้อย แต่ให้ผลการวิเคราะห์เชิงกึ่งปริมาณที่มีความถูกต้องแม่นยำ ใช้สารเคมีและตัวอย่างเพียงเล็กน้อย จึงทำให้มีปริมาณของเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน
เป็นนวัตกรรมที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่แปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นที่ต้องมีการตรวจวัดแมกนีเซียมก่อนและหลังการผลิตน้ำยางขั้นต่อไป จะช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ดียิ่งขึ้น
ใน 1 ชุดตรวจแมกนีเซียมภาคสนาม ประกอบไปด้วย น้ำยา A, น้ำยา B, ขวดทำปฏิกิริยา, ช้อนตักตัวอย่าง, คู่มือฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ส่วนขั้นตอนการนำมาใช้งาน... ดูดน้ำยา A ใส่ลงไปในขวดทำปฏิกิริยา จากนั้นตักตัวอย่างน้ำยางด้วยช้อนที่ให้มาใส่ลงไปในขวดทำปฏิกิริยา ตามด้วยหยดน้ำยา B ลงไปทีละ 1 หยด เขย่าให้เข้ากัน (งานวิจัยนี้ได้ออกแบบให้น้ำยา B 1 หยด มีค่าเท่ากับปริมาณแมกนีเซียม 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามค่ากำหนดมาตรฐานของตลาดสินค้าเกษตรและกรมควบคุมมลพิษ)...หยดน้ำยา B ไปเรื่อยๆ จนกว่าสีของตัวอย่างจะเปลี่ยนจากสีม่วงไปเป็นสีฟ้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้น้ำยา B จำนวน 2 หยด แสดงว่าตัวอย่างของเรามีปริมาณแมก นีเซียมอยู่ที่ประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร
หากหยดน้ำยา B เกิน 2 หยดขึ้นไป หมายความว่าค่าแมกนีเซียมเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โรงงานอุตสาหกรรม น้ำยางจะต้อง ใส่สารไดแอม โมเนียมไฮโดรเจนฟอสเฟต เพื่อให้ น้ำยางตกตะกอน แล้วปฏิบัติตามขั้นตอนของโรงงานเพื่อลดค่าแมกนีเซียมต่อไป
“ชุดทดสอบนี้จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาค่าแมกนีเซียมเบื้องต้นให้กับโรงงาน นอกจากจะช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ โรงงานได้ประหยัดค่าใช้จ่าย ในอนาคตเกษตรกรอาจได้ราคาน้ำยางเพิ่มขึ้น”
โดยชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นมานี้ สามารถ เก็บรักษาได้มากกว่า 18 เดือน ขณะนี้ได้จด อนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และได้นำผลงานตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการนานาชาติ อยู่ใน ฐานข้อมูล Scopus และ web of science ...สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 0-4535-3300, 09-0287-5363.
กรวัฒน์ วีนิล