สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก รวมถึงครัวเรือนภาคเกษตรไทย ที่ส่วนใหญ่เดือดร้อนจากการขายผลผลิตได้ราคาต่ำ ฉะนั้น การปรับตัวลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนช่องทางการหารายได้ และใช้การจัดทำบัญชีเป็นภูมิคุ้มกัน ช่วยวางแผนการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ในครัวเรือนตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ติดขัดภายใต้วิกฤติครั้งนี้
นายไชยยา วิมูลชาติ เกษตรกรดีเด่นระดับภาค สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี พ.ศ.2564 ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.ไผ่หูช้าง อ.บางเลน จ.นครปฐม เผยว่า ทำนามานาน รายได้ที่ได้มาก็นำไปใช้จ่าย กิน เที่ยว จนก่อให้เกิดหนี้สิน และไม่มีเงินออม จนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครปฐม และสมัครเป็นครูบัญชีอาสาตั้งแต่ปี 2559 ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องจัดทำบัญชี การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย การวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชี
...
นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ถึงหลักการทำบัญชี 3 มิติ ได้แก่ รู้ตนเอง รู้สภาพแวดล้อม รู้อนาคต สอดคล้องกับกรอบแนวความคิด 3 พอ : น้ำพอดี ดินพอเหมาะ คนพอเพียง มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ยึดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพึ่งตนเอง รู้จักความพอประมาณ และไม่ประมาท สามารถคิด วางแผน แล้วนำไปพัฒนาอาชีพของตนเองได้ โดยมีบัญชีเป็นภูมิคุ้มกันและคู่มือชีวิต
จากนั้นจึงเริ่มหันมาจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ โดยจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนาอย่างต่อเนื่อง และนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้วิเคราะห์วางแผนการเพาะปลูกในพื้นที่ 54 ไร่ ของตัวเอง ดูว่าแต่ละรอบการผลิตมีรายได้เท่าไหร่ มีต้นทุนตัวไหนที่เกินความจำเป็น ก็จะนำมาวางแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไป เช่น ค่าปุ๋ยเคมี และสารเคมี ที่ถือเป็นต้นทุนหลักของการทำนา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็หันมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพที่ทำเองได้ ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ข้อมูลทางบัญชียังทำให้คิดปรับเปลี่ยนจากการขายข้าวเปลือกให้โรงสี
ที่ราคารับซื้อไม่แน่นอน มาแปรรูปข้าวเอง โดยเน้นผลิตข้าวคุณภาพปลอดภัย พันธุ์ กข 43 และข้าวไรซ์เบอร์รี ซึ่งเป็นข้าวเพื่อสุขภาพและตลาดมีความต้องการสูง ขณะเดียวกัน การทำบัญชีครัวเรือนทำให้รู้รายรับรายจ่ายทุกวัน ส่วนใด ที่เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นก็ตัดออกไป จึงมีเงินเหลือเก็บออมไว้ใช้
ทั้งนี้ จากการใช้หลักการทางบัญชีมาเป็นกลไกในการวางแผนประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ในแต่ละรอบมาได้ เพราะมีข้าวที่ปลูกเอง สีเองไว้บริโภคในครัวเรือน มีเหลือพอที่จะแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง และขายผลผลิตได้ทั้งหมด สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้ทุกวัน จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้ ที่สำคัญคือยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน พอใช้.