โควิดไทยยังไว้ใจยาก เมื่อยอดผู้ติดเชื้อยังยืนกว่า 1.3 หมื่นคนต่อวัน ผู้เสียชีวิตกลับมาพุ่งทะลุ 200 ศพ พบเจ้าหน้าที่สภาฯป่วยตายคาที่พักอาคารรัฐสภา 1 ราย ด้าน “สาธิต” แย้ม ก.ม.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขกระชับขึ้น ไม่กระทบสิทธิประชาชน แต่ให้อำนาจ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเหมือน ศบค. ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดให้สถานศึกษาขอรับวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ฉีดให้ นร.ในสังกัด อายุ 10-18 ปี ไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 5 หมื่นคน เริ่มฉีด 20 ก.ย.นี้ ขณะที่ กทม. ก็เตรียมฉีดไซเฟอร์ให้ นร.ในสังกัด เน้นอายุ 12-18 ปี กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง คาดเริ่มได้ 21 ก.ย.

ไทยยังต้องลุ้นรายวันว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง (โรคโควิด-19) จะลดต่ำหลักหมื่นคน และผู้ป่วยเสียชีวิตจะลดลงเมื่อใด หลังยอดยังสูงต่อเนื่องมาตลอดสัปดาห์ รวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. ... ฉบับแก้ไข ที่จะมาแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เชื่อมฐานข้อมูลผู้ป่วยโควิด

ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการเชื่อมต่อฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อยกระดับการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยระหว่างกรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และภาคประชาสังคม โดยนายสาธิตกล่าวว่า ทั้ง 6 หน่วยงานจะเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วย โควิด-19 ในเขต กทม.และปริมณฑล อาทิ ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลการจัดรถ สถานะรับ-ส่งผู้ป่วยติดตามอาการ การปรึกษาแพทย์ด้วยระบบเทเลเมดิซีน เพื่อให้ทำงานง่ายยิ่งขึ้น โดยจะนำไปใช้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่เข้าระบบแยกกักที่บ้าน หรือ HI และศูนย์พักคอย หรือ CI เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูล จะทำให้ ข้อมูลผู้ป่วยโควิดที่ทุกหน่วยงานมีอยู่เข้ามาสู่ฐานข้อมูลเดียวกันง่ายต่อการบริหารจัดการ ลดปัญหารายชื่อซ้ำซ้อนและตกหล่น บริหารจัดการรับ-ส่งต่อผู้ที่มีอาการมากไปรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาได้ทันท่วงที

...

ให้อำนาจ คกก.โรคติดต่อฯมากขึ้น

นายสาธิตยังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. ...ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อ อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่ได้นำกลับเข้า ครม. เบื้องต้นกฎหมายนี้ได้ออกแบบให้ใช้ได้กระชับมากขึ้น ในกรณีโรคติดต่อร้ายแรงหรือฉุกเฉิน ซึ่งไม่กระทบสิทธิประชาชน ทั้งแก้ไขให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจมากขึ้นในการกำกับนโยบายให้ฝ่ายพื้นที่ได้ปฏิบัติ ก่อนหน้านี้ อาจจะมีปัญหาว่าแต่ละจังหวัดปฏิบัติแตกต่างกัน พ.ร.บ.ที่แก้ไขนี้จะสามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการ โรคติดต่อแห่งชาติ ในระดับนโยบายไปทำเรื่องควบคุม โรคที่ตรงกัน ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนจะเข้า ครม.เมื่อไหร่นั้น ยังไม่ทราบ ต้องรอกฤษฎีกา

คาดประกาศใช้ใน ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขนั้น จะให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจเหมือนอำนาจหน้าที่ของ ศบค.ในปัจจุบัน โดยในยามปกติจะมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่เมื่อมีการระบาดของโรคระบาดและนายกรัฐมนตรีมีการประกาศให้โรคนั้นเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่อฉุกเฉิน คณะกรรมการโรคติดต่อฯจะถูกยกระดับทันทีแบบอัตโนมัติ มีอำนาจในการสั่งควบคุมป้องกันโรค สั่งเคอร์ฟิว สั่งปิดกิจการต่างๆได้ โดยไม่ต้องอาศัยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ต้องตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการที่คล้ายกับ ศบค.ขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด แต่สามารถตั้งคณะทำงานต่างๆ เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ มีนายกฯ เป็นผู้สั่งการ และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับใหม่นี้น่าจะ แล้วเสร็จ และบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.นี้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีอายุการใช้งานถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้

ไทยติดเชื้อ 1.3 หมื่นคน

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 ก.ย.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,821 คน (ไม่รวมผลตรวจด้วย ATK 1,112 คน) เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,297 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,994 คน จากการค้นหาเชิงรุก 1,303 คน จากเรือนจำ 518 คน และมาจากต่างประเทศ 6 คน คือ แทนซาเนีย 1 คน และมาทางช่องทางธรรมชาติ ได้แก่ เมียนมา 3 คน และมาเลเซีย 2 คน

ตายกลับมาพุ่งเกิน 200 ศพ

ส่วนผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 16,737 คน อยู่ระหว่างรักษา 145,465 คน อาการหนัก 4,487 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 985 คน เสียชีวิตเพิ่ม 241 คน จำแนกเป็นชาย 133 คน หญิง 108 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 169 คน มีโรคเรื้อรัง 39 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์ 2 คน อยู่ จ.บุรีรัมย์ และจันทบุรี พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ที่ กทม. 85 คน ในจำนวนนี้ระบุว่ารายงานหลังเสียชีวิตเกิน 7 วัน 17 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,308,343 คน มียอดหายป่วยสะสม ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,149,595 คน มียอดผู้เสียชีวิต สะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 13,283 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 722,377 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 36,635,271 โดส

เมืองหลวงรั้งแชมป์ป่วย-ตาย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ได้แก่ กทม. 3,997 คน สมุทรปราการ 1,140 คน ชลบุรี 718 คน สมุทรสาคร 694 คน ราชบุรี 439 คน ระยอง 357 คน พระนครศรีอยุธยา 311 คน นนทบุรี 249 คน ภูเก็ต 232 คน ปัตตานี 215 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ยังคงเป็น กทม.ที่ 85 ศพ

...

เจ้าหน้าที่สภาฯติดโควิดตาย 1

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นลูกจ้างประจำฝ่ายอาคารสถานที่ เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่บ้านพักอาคารรัฐสภา โดยก่อนหน้านี้ได้มาปฏิบัติงานที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. และภริยาผู้เสียชีวิตยังเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหมู ที่โรงอาหารชั้น 1 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทุกวัน แต่หยุดขายไปตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. เนื่องจากติดธุระ จากนั้นวันที่ 6 ก.ย. ภริยาผู้เสียชีวิตไปตรวจหาเชื้อโควิด พบว่า ผลเป็นบวก ล่าสุดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาออกคำสั่งให้ผู้ขายอาหารในโรงอาหารดังกล่าวทุกรายไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK และแจ้งผลให้ทราบทันที และสั่งปิดร้านอาหารในโรงอาหารทุกร้าน 14 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนบุคลากรสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 1 ราย ที่พักในบ้านพักอาคารรัฐสภา ชั้น 2 ใกล้เคียงห้องพักผู้เสียชีวิต ให้ไปตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี ATK เช่นกัน ส่วนเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้สั่งกักตัว และให้ปฏิบัติงานภายในที่พักอาศัย 14 วันทุกราย

...

แนะฉีด mRNA เด็ก 16 ปีขึ้นไป

ต่อมา ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ผ่านองค์การอาหารและยา (อย.) เท่านั้น ขณะนี้มีเพียงชนิดเดียวคือ mRNA ของไฟเซอร์ โดยแนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุ 16 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 18 ปีทุกราย หากไม่มีข้อห้ามการฉีด เนื่องจากเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงผู้ใหญ่ และมีข้อมูลถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนมากพอ ส่วนกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำฉีดในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ส่วนกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี รวมทั้งวัคซีนชนิดอื่นๆในเด็ก อยู่ระหว่างติดตามผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย

กทม.จ่อฉีดไฟเซอร์ นร.ในสังกัด

วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เผยว่า กทม.เตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้กับนักเรียนโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 โรงเรียน เป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.นี้ โดยให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน QR Code ตั้งแต่วันที่ 6-8 ก.ย.64 สำหรับนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ มีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใดๆที่ระบุว่าเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบด้วยเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกิน 70 กก.และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า โดยสำนักอนามัยจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการให้บริการฉีดในวันที่ 9 ก.ย.นี้

...

ยังเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ใน จ.ภูเก็ต แม้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 900 คน จากการตรวจเชิงรุกในชุมชนทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มประมง ชุมชนแออัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันที่ 6 ก.ย.เจออีก 232 คน แต่เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า คนติดเชื้อเป็นคนที่อยู่ในแคมป์ เป็นชุมชนที่มีการปิดล้อม ไม่ได้ออกมาอยู่ข้างนอก น่าจะแยกออกจากกันได้ จึงยังคงเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต่อไป และจะขยายไปในพื้นที่อื่นตามไทม์ไลน์ที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้

9 ไกด์หาดใหญ่ตายเซ่นพิษโควิด

ส่วนที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มมัคคุเทศก์อาชีพใน อ.หาดใหญ่ นำโดยนายวิทยา ลิ่ม อดีตนายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จ.สงขลา จัดแจกข้าวสารที่ได้รับการบริจาคจากนักท่องเที่ยวในรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย ผ่านศาลเจ้าจี้กงคลองปอม ให้กับมัคคุเทศก์หรือไกด์ในพื้นที่ที่ตกงานมาเกือบ 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 จากนั้นเปิดเผยว่าไกด์ใน อ.หาดใหญ่ มีอยู่ประมาณ 600 คน ตอนนี้ตกงานทั้งหมดต้องอาศัยข้าวสารอาหารแจก และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีไกด์ใน อ.หาดใหญ่ ตกงานและเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตายแล้ว 9 คน หลังจากที่เดินทางกลับไปอยู่ภูมิลำเนาของตัวเอง เช่น ที่ภูเก็ต อ.เบตง และ กทม. นอกจากนี้ บางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย ถูกจับกุม ต้องมาขอความช่วยเหลือจากไกด์ด้วยกัน เป็นเรื่องที่หดหู่มาก จึงต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯช่วยเหลือกลุ่มไกด์ไม่เฉพาะที่หาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องเงินเยียวยาต่างๆ และเรื่องวัคซีน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีด

ผงะคลัสเตอร์ ร.ร.ลามข้าม จว.

ด้าน จ.หนองคาย พบผู้ป่วยคลัสเตอร์ใหม่และ ใหญ่ เป็นครูและนักเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 ต.จุมพล อ.โพนพิสัย ที่พบการติดเชื้อครั้งแรกในนักเรียน 2 คน แต่เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ มีนักเรียนอยู่รวมกันมากกว่าพันคน ทำให้เกิดการ ระบาดรุนแรง โดย สสจ.หนองคายและใกล้เคียง ทั้ง อ.โพนพิสัย อ.ท่าบ่อ และ จ.อุดรธานี ได้เข้าสอบสวนโรคและควบคุมโรค นับตั้งแต่วันที่ 2-7 ก.ย. พบมีผู้ติดเชื้อรวม 353 คน เข้ารักษาที่ รพ.โพนพิสัย 69 คน และ รพ.สนาม จ.หนองคาย 284 คน จากการ สอบสวนโรค คาดว่าสาเหตุมาจากมีเชื้อปนเปื้อนมากับสิ่งของที่ผู้ปกครองฝากเข้ามาให้นักเรียนและจากการที่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งหลบหนีออกนอกโรงเรียนเข้าไปในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อ ประกอบกับ โรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำ มีนักเรียนอาศัยอยู่รวมกันตลอดเวลา มีการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น การรับประทานอาหาร การใช้ห้องสุขา เป็นต้น ทั้งนี้ นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผวจ.หนองคาย สั่งปิด โรงเรียนชั่วคราว ทำบิ๊กคลีนนิ่ง และกำชับให้ดูแล นักเรียนทุกคนให้ดีที่สุด

ติดเชื้อลดแต่ยังทะลุหลักร้อย

ส่วนจังหวัดกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มยังพบผู้ติดเชื้อ จำนวนมาก อาทิ จ.ยะลา ติดเชื้อเพิ่ม 144 คน ไม่มี เสียชีวิตเพิ่ม ส่วน จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่ยังทะลุหลักร้อยที่ 175 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ศพ เป็นชายทั้งคู่อายุ 42 ปี และ 58 ปี ผู้เสียชีวิตสะสม 148 ศพ และยังต้องจับตา 5 คลัสเตอร์ ใน อ.ปากช่อง 2 แห่ง อ.ครบุรี อ.สูงเนิน และ อ.จักราช ขณะที่ จ.สุพรรณบุรี พบผู้ป่วยรายใหม่ 53 คน เสียชีวิต 2 ศพ รวมเสียชีวิต 173 ศพ ส่วน จ.ระยอง ผู้ติดเชื้อ รายวัน 357 คน ดับเพิ่มอีก 2 ศพ เป็นชายทั้งคู่อายุ 79 และ 90 ปี ขณะที่ จ.สมุทรสาคร ยอดผู้ติดเชื้อ ลดลงต่อเนื่องเหลือ 695 คน แต่ผู้เสียชีวิตยังสูงถึง 15 ศพ รวมผู้เสียชีวิตสะสม 690 ศพ นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครร่วมกับอ.กระทุ่มแบน นำชุดโมบายเคลื่อนที่มาจัดตั้งจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่โรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง ต.อ้อมน้อย เป็นการฉีด วัคซีนให้กลุ่มคนไทย อายุ 18-59 ปี ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของ อ.กระทุ่มแบน หรือเป็นคนนอกจังหวัดแต่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีที่ตั้งอยู่ใน อ.กระทุ่มแบน เป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรกทั้งหมดและ ใช้สูตรแบบไขว้คือเข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็มสอง เป็นแอสตราเซเนกา หลังจากนี้อีกประมาณ 3 สัปดาห์

ปากพนัง–ตลาดโรงเกลือน่าห่วง

ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 7 ก.ย. เจอผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 210 คน โดยมีคลัสเตอร์น่าห่วง คือตลาดบางวัง อ.ปากพนัง ที่พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกเพิ่มไม่หยุด โดยตรวจเชิงรุก 4 วัน 5,206 คน ผลติดเชื้อรวม 265 คน ทำให้ คกก.โรคติดต่อจังหวัดมีคำสั่งปิดพื้นที่ หมู่ 1-3 ต.แหลมตะลุมพุก วันที่ 7-13 ก.ย.นี้ เช่นเดียวกับ จ.สระแก้ว พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 115 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ศพ เป็นหญิงอายุ 77 ปี ชาวกัมพูชา อาชีพค้าขายอยู่ในตลาดโรงเกลือ และชายไทย อายุ 52 ปี ใน อ.วังน้ำเย็น และต้องขยายล็อกดาวน์ตลาดโรงเกลือไปอีก 7 วัน ไปสิ้นสุดวันที่ 14 ก.ย.นี้

ผวจ.ชลบุรีตรวจมาตรการในห้าง

วันเดียวกัน นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี นำคณะตรวจเยี่ยมการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-FREE Setting) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซาชลบุรี เทสโก้โลตัส และห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี โฮมโปร โดยผู้ประกอบการได้นำเยี่ยมชมสถานที่ พร้อมบรรยายแนวทางปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวใน 3 ประเด็น คือ 1.การรักษาความสะอาด การเว้นระยะห่าง และการระบายอากาศ 2.การฉีดวัคซีนพนักงานร้านค้า และจัดหาชุดตรวจ ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน และ 3.คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแอปพลิเคชัน TST (Thai Save Thai) และให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ ผวจ.ชลบุรียังได้เข้าไปให้กำลังใจพนักงานขนส่งอาหาร ที่กำลัง รอรับอาหารเพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าในช่วงเช้า และมอบ อาหารแห้งและของใช้จำเป็นเพื่อการดำรงชีพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ปตท.สผ.-เออาร์วีหนุนวัคซีนใบยา

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ย. นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) และนายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) บริษัทในเครือ ปตท.สผ. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง สนับสนุนงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ “จุฬาฯ-ใบยา” กับนายณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิ ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ และนางสุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม โดยนายพงศธรกล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน จุฬาฯ-ใบยาครั้งนี้ เพื่อให้คนไทยมีวัคซีนต้านโควิด ที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ สะท้อนถึงความ สำเร็จและความสามารถของไทยในการพึ่งพาตนเอง ขณะที่นายณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ประธานมูลนิธิ ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา อยู่ระหว่างทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 เบื้องต้น 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากเป็นไปตามแผน ภายในไตรมาส 3 ของปี 2565 จะสามารถผลิตวัคซีนจากฝีมือคนไทยในประเทศได้เองสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน หรือ 60 ล้านโดสต่อปี

“รพ.จุฬาภรณ์” เปิดฉีดวัคซีน นร. 10–18 ปี

วันเดียวกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศจัดโครงการ “VACC 2 School” ฉีดวัคซีนบริจาค “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กอายุระหว่าง 10-18 ปี โดยเปิดรับสมัคร “สถานศึกษา” ยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ให้แก่กลุ่มนักเรียนในสังกัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 50,000 ราย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ เปิดยื่นลงทะเบียน เวลา 08.08 น.วันที่ 8 ก.ย.2564 จนกว่าจะเต็มจำนวน สำหรับคุณสมบัติของสถานศึกษาที่จะยื่นขอรับวัคซีน เบื้องต้นต้องเป็นสถานศึกษาระดับประถมและมัธยม ศึกษาในระบบ ตั้งอยู่ใน กทม.และปริมณฑลเท่านั้น นัดฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.เป็นต้นไป และเข้าฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บมจ.โทรคมนาคม อาคาร 9 ถนนแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ นักเรียนที่สามารถเข้าฉีดวัคซีนต้องมีอายุระหว่าง 10-18 ปี ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ไม่มีประวัติแพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของสารที่อยู่ในวัคซีน ไม่มีประวัติมีโรค ประจำตัวก่อนเข้าร่วมโครงการ หากมีโรคประจำตัว ต้องแจ้งและมีใบรับรองจากแพทย์ว่าสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ บุตรและผู้ปกครองตามกฎหมายสมัครใจลงนามเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ฯลฯ

ชิลีอนุมัติซิโนแวคฉีดเด็ก 6 ขวบ

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 220,050,553 คน เสียชีวิตรวม 4,590,280 คน เป็นการติดเชื้อในวันเดียว 404,360 คน เสียชีวิตในวันเดียว 6,703 คน ที่เวียดนาม ศาลจังหวัดก่าเมา ทางภาคใต้ พิพากษาจำคุก ชายวัย 28 ปี เป็นเวลา 5 ปี ฐานละเมิดมาตรการกักตัวและห้ามเดินทาง เป็นเหตุให้มีผู้ติดเชื้อโควิด 8 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน ด้านชิลีกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอเมริกาใต้ ที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนแวคของจีนกับเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ขณะที่อิตาลีเตรียมฉีดวัคซีนเข็มสามแก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และเตรียมใช้มาตรการบังคับฉีดวัคซีน หากภายในสิ้นเดือน ก.ย. ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนครบโดสแก่ประชากรได้ตามเป้าร้อยละ 80 ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงซื้อวัคซีนยี่ห้อโนวาแวกซ์ของสหรัฐฯ 150 ล้านโดส วางแผนใช้งานปีหน้า