ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด-19 ส่วนใหญ่ลงไปที่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนติดเชื้อถึง 1.4 แสนกว่าคน และมีเด็กกำพร้าถึง 369 คน 2 ปีที่ผ่านมาพบเด็กครอบครัวยากจนและยากจนพิเศษถึง 1.8 ล้านคน โดยเฉพาะยากจนพิเศษมีถึง 1.1 ล้านคน เพิ่ม 10% หาก กสศ.ไม่เข้าไปช่วยเด็กจะหลุดจากระบบการศึกษามากน้อยเท่าไหร่ โดย กสศ.เข้าไปดูแลจัดสรรทุนการศึกษาให้เด็กรายหัวละ 1,000 กว่าบาท เร่งเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงจาก 8 แสนคนที่อยู่ช่วงรอยต่อประมาณ 294,484 คน ในจำนวนนี้ 242,081 คน หรือ 82% กลับมาเรียนได้ ขณะเดียวกันยังมี 43,060 คน หรือ 14.6% หายไปจากรอยต่อการศึกษา เป็นระดับมัธยมต้นจำนวน 33,170 คน ป.6 จำนวน 8,699 คน ต้องติดตามค้นหา เพราะถ้าเด็กหลุดแล้ว จะกลายเป็นเด็กนอกระบบ เกิดปัญหาสังคมต่างๆรุมเร้า สุดท้ายจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ค้นพบการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อภาวะถดถอยทางการศึกษาถึง 50% หรือครึ่ง-1 ปีการศึกษา อาจจะเกิดการสูญเสียต่อจีดีพีถึง 30% ของเด็กรุ่นนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น การถดถอยด้อยคุณภาพ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้ รวมถึงระบบการเรียนรู้ผ่านหน้าจนเกิดภาวะความเครียดจะมีวิธีการแก้ปัญหา อย่างไร และเมื่อเปิดภาคเรียนครูจะมีวิธีจัดการและระบบแนะแนวทำอย่างไร ในการรับมือเด็กที่อาจจะมีภาวะซึมเศร้า เด็กยากจนเปราะบาง
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การที่เสาหลักผู้ดูแลเด็กในครอบครัวเสียชีวิตจากโควิดส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก สถาบันได้เสนอแนวทาง 1 บ้าน 1 โรงพยาบาล ซึ่งเรามีเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งเป็นบ้านพักเด็กฯ หลายพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับ รพ. มีชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่ทั่วถึง.
...