สหกรณ์กองทุนสวนยางที่มีกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรสวนยางพารา เพื่อแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นรมควัน หวังเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
ท่ามกลางสถานการณ์ราคายางมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรเองกลับมีต้นทุนสูงขึ้นจากการผลิตยางแผ่นรมควันที่ต้องใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่การรมควันแบบเดิมบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ แถมกระบวนการนี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น และน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบพลังงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้ เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จ.สงขลา” เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การติดตั้งใช้
งานเทคโนโลยีการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพ พร้อมกับห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวจำกัด อ.เมือง จ.สงขลา
...
“โครงการใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลดค่าไฟในการผลิตยางแผ่น และหมุนเวียนใช้น้ำทิ้งจากระบบมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด เป็นกระบวนการที่อยู่ร่วมกับชุมชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขจัดกลิ่นเหม็นรบกวน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แถมน้ำทิ้งก็อุดมด้วยสารอาหาร สามารถใช้เป็นปุ๋ยน้ำแก่สวนยางโดยรอบได้ด้วย”
ศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการโครงการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเพื่อสหกรณ์กองทุนสวนยาง บอกถึงที่มาของโครงการที่เป็นเสมือนศูนย์เรียนรู้การผลิตยางแผ่นรมควันที่ได้ทั้งคุณภาพดี ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม...โจทย์ในการพัฒนาระบบผลิตและใช้งานก๊าซชีวภาพ และใช้ประโยชน์น้ำเสียอย่างครบวงจร คือการออกแบบที่ต้องดูแลรักษาระบบได้ง่ายที่สุดสำหรับเกษตรกร ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทั่วไปที่หาได้ในท้องถิ่น และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการต่ำที่สุด เพื่อช่วยชาวสวนยางให้สามารถนำไปติดตั้งใช้งานในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพที่พิสูจน์แล้ว
ทั้งนี้ ระบบผลิตและใช้งานก๊าซชีวภาพในห้องรมควันนี้ ช่วยประหยัดต้นทุนไม้ฟืนลงกว่า 30% และช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมมากถึง 30% สามารถควบคุมพลังงานความร้อนได้ทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ จึงลดทั้งต้นทุนการผลิตและยังทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาดี รวมถึงลดระยะเวลาในการรมควันยางแผ่นได้ถึง 1 ใน 3 อีกด้วย
นอกจากนั้น ยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการบำบัดของเสีย ให้เป็นก๊าซชีวภาพ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่แทนไม้ฟืน รวมถึงลดปัญหากลิ่นเหม็นจากน้ำเสียได้มากถึง 90% และทำให้ได้ยางแผ่นรมควันคุณภาพ สูง สีของแผ่นยางเหลืองใสไม่หมอง สามารถนำเข้าสู่ท้องตลาดในราคาดี
...
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวถือเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบสหกรณ์ยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ ให้สมาชิกสหกรณ์ชาวสวนยางในพื้นที่อื่นๆได้เข้ามาศึกษา เพื่อส่งต่อความรู้ในการจัดการสหกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันโครงการขยายผลความสำเร็จโดยติดตั้งเทคโนโลยี และสร้างศูนย์การเรียนรู้เป็นแห่งที่สอง ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านยูงทอง จ.สงขลา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า.
กรวัฒน์ วีนิล