สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและจำเป็นจะต้องนำมาแจ้งเตือนให้กับท่านผู้อ่านได้ทราบ สืบเนื่องจากมีข่าวการจับกุมผู้ผลิตสมุนไพรฟ้าทะลายโจรปลอม และยังมีอีกหลายรายโฆษณา หรือจำหน่ายสมุนไพรในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสมุนไพรและมีคำโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือเป็นเท็จ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย นอกจากนี้ยังพบการกระทำความผิด โดยจำหน่ายสมุนไพรอ้างว่า เป็นฟ้าทะลายโจร แต่ปรากฏว่า ส่วนผสมกลับไม่ใช่ฟ้าทะลายโจร ซึ่งถือว่าเป็นการจำหน่ายสมุนไพรปลอม โดยการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น มีอัตราโทษแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการกระทำความผิด เช่น ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้โฆษณา หรือผู้ที่แอบอ้างหลอกลวง เป็นต้น
การผลิตหรือจำหน่ายสมุนไพรมีกฎหมายควบคุม คือ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิตที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตโดยไม่มีมาตรฐานหรือมีสารปนเปื้อน ซึ่งอัตราโทษขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ที่ได้กระทำความผิด เช่น มาตรา 58 (1) ผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 102 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือ ความผิดตามมาตรา 70 โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 74 โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือเป็นเท็จ มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 114 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
การโฆษณาอวดอ้างสมุนไพรเกินจริง หรือสมุนไพรปลอม มีความผิดในข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
...
หากมีการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนจะต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้การโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือหลอกขายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมาย
สุดท้ายนี้ ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนกำลังเดือดร้อน และต้องการยารักษาโรคอย่างมาก เมื่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สินค้า ยา สมุนไพร ตลอดจนค่าครองชีพก็สูงตามขึ้นไปด้วย จึงไม่ควรอาศัยช่วงจังหวะเวลานี้ทำกำไรหรือเอาเปรียบผู้อื่นนะครับ และจากประสบการณ์ของผม หากประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติแบบนี้ การกระทำความผิดที่มีลักษณะฉวยโอกาส หรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นในลักษณะนี้ ศาลมักจะไม่รอลงอาญานะครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk