- ศบค.ไฟเขียว ปลดล็อกเฟสแรก 1 ก.ย.นี้ เตรียมเปิดบิน-ขนส่งสาธารณะ เดินทางข้ามจังหวัด แต่ยังคงเคอร์ฟิว
- กระทรวงศึกษาธิการ คาดเริ่มทยอยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี กว่า 4 ล้านคนได้ ปลาย ก.ย.นี้ หลังการเรียนออนไลน์ไม่ได้ผล
- ศบค.ยังเข้มมาตรการโควิด ประชุมพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลัง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้
ภายหลัง ศปก.ศบค.พิจารณามาตรการผ่อนคลายบางส่วนในพื้นที่ "สีแดงเข้ม" ทั้ง 29 จังหวัด หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่ม "ลดลง" ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผ่อนคลายกิจกรรมบางประเภท ให้กลับมาเปิดบริการได้แบบมีเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด ระวังไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงการไฟเขียวเดินทางข้ามจังหวัดโดยเครื่องบินและระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะมีผล 1 ก.ย.นี้ แต่ยังคง "เคอร์ฟิว" เหมือนเดิม!!!
ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อจะชะลอตัวลง สวนทางกับภาพความจริง ที่หลายคนยังมองตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนทะลุหลักหมื่นต่อวัน และยอดตายทะยานพุ่งกว่าสองร้อยศพต่อเนื่อง จนส่งผลให้ไทยติดแรงกิ้งมีผู้ติดเชื้อมรณะสะสม อยู่อันดับที่ 30 ของโลก แต่อย่างไรซะ ก็ยังถือว่ามี "สัญญาณดี" อยู่บ้าง เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าสองหมื่นรายต่อวัน และตัวเลขอัตราครองเตียงผู้ป่วย "สีเหลือง-เขียว" ใน กทม.ลดลง 50% โดยการปลดล็อกในเฟสแรกนี้ ศบค.ยังคงเข้มงวดมาตรการคุมโควิด พร้อมอาจมีข่าวดีตามมาอีก ในการจ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที หาก พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฉบับแก้ไขแล้วเสร็จและประกาศใช้

...
ชง ศบค.ผ่อนปรนกิจการ "เสี่ยงน้อย" เผยยอดตายยังสูง-ติดเชื้อชะลอตัว
โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการผ่อนคลายล็อกในเฟสแรกว่า ที่ประชุม ศบค.สธ.ได้หารือถึงสถานการณ์หลังล็อกดาวน์ผ่านไป 4 สัปดาห์กว่า ได้รับความร่วมมือดี ทำให้การเคลื่อนที่ของประชาชนลดลง แสดงถึงผลการล็อกดาวน์น่าจะมีประสิทธิภาพ แต่ต้องรอดูอีกสักระยะมาจากความร่วมมือของประชาชน ทำให้การติดเชื้อเริ่มลดลงเล็กน้อย ส่วนอัตราการเสียชีวิตยังสูงกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง สามารถลดได้หากเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งฉีด มี กทม.ที่ฉีดในผู้สูงอายุได้ตามเป้า 90% แต่ต่างจังหวัดยังต่ำ
ส่วนการติดเชื้อรายวันนั้น เลยจุดสูงสุดมาแล้ว และเริ่มชะลอตัวลง ทั้งใน กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด จึงจะเสนอ ศบค.พิจารณามาตรการผ่อนคลายการดำเนินกิจการบางอย่างที่มี "ความเสี่ยงน้อย" พร้อมมีมาตรการควบคุม เน้นกิจกรรมที่สำคัญ เช่น ร้านอาหาร กิจการในห้างสรรพสินค้า กีฬากลางแจ้ง การเดินทางโดยเฉพาะสายการบิน มาตรการที่สำคัญ คือ Universal Prevention การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล เป็นการป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา สำหรับสถานประกอบการ/กิจกรรมที่จะเปิดกิจการ จะต้องยกระดับมาตรการเน้นให้ปลอดภัยและยั่งยืนด้วยหลักการ COVID-Free Setting ร่วมกับ Universal Prevention โดย COVID-Free Setting เป็นมาตรการองค์กรที่ต้องดำเนินการ สถานประกอบการต้องควบคุมสภาพแวดล้อม มีระยะห่าง ระบบระบายอากาศ สุขอนามัยสะอาดปลอดภัย
"ผู้ที่จะเข้าไปสถานที่ดังกล่าว ถ้าเป็นผู้ให้บริการ ทุกคนต้องเป็นโควิดฟรี ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือติดเชื้อพ้นระยะแพร่เชื้อหลัง 1 เดือน ไม่เกิน 3 เดือน หรือตรวจเช็กด้วย RT-PCR หรือ ATK ทุก 3 หรือ 7 วัน และยึดหลัก DMHTT ในการให้บริการ"

ไม่หวั่นผ่อนคลายกิจกรรม-จ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
มีรายงานจาก ศบค.ว่า ที่ประชุม ศบค.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ หลังจากมีข้อกังวลเรื่องของการอนุญาตให้เปิดบริการร้านอาหาร กิจกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ที่จะเริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้ ตามที่สมาคมภัตตาคารไทยและภาคธุรกิจร้องขอมา มีการเสนอมาตรการที่ภาคธุรกิจปฏิบัติเพื่อให้กิจการเปิดและเดินหน้าได้อย่างสมดุล ทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อและนำไปสู่มาตรการขั้นสูงสุดอย่างช่วงที่ผ่านมา สำหรับแผนในการดูแลแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดนั้น ยังคงขอให้ทุกส่วนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคไปพร้อมกับการเร่งจัดหาวัคซีน โดยเฉพาะจัดหาให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษา
"ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยถึงความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถ้าแก้ไขเสร็จแล้วประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจะได้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำมาใช้ควบคุมป้องกัน-ระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่อไป"
...

เปิดบิน 1 ก.ย.-บขส.เตรียมรถวิ่ง 26 เส้นทาง ข้าม จว.
ส่วนด้านการเดินทางนั้น นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ สายการบินต่างๆ จะเริ่มบินเพื่อให้บริการผู้ที่มีความจำเป็น สามารถเดินทางออกจากพื้นที่สีแดงเข้มได้ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อการเดินทาง คือ เอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือเอกสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 วิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK) หรือเอกสารที่ได้รับการยกเว้นตามที่จังหวัดปลายทางกำหนด เช่น ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วไม่เกิน 90 วัน ผู้ผ่านการกักตัวแล้ว เป็นต้น ซึ่งแต่ละเที่ยวบินรับผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 75 ของที่นั่ง

...
ขณะที่ นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ย.นี้ บขส.จะเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางภาคเหนือ อีสาน และใต้ จำนวน 26 เส้นทาง จำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 75 ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินรถได้ ผ่านเว็บไซต์ บขส. และโทร.1490 และต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการติดเชื้อ

ศธ.วางแผนฉีดไฟเซอร์ นักเรียน ปลาย ก.ย.นี้
นอกจากนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ตั้งกระทู้ถามสด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ว่า การฉีดวัคซีนโควิดให้นักเรียนจะดำเนินการได้เมื่อใด ทุกวันนี้เปิดเรียนไม่ได้ การเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ กระทรวงศึกษาธิการมีงบฯ ซื้อวัคซีนฉีดให้นักเรียนโดยเฉพาะหรือไม่
โดย นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวชี้แจงแทนว่า ครูและบุคลากรการศึกษามีเกือบ 9 แสนคน ยอดล่าสุดวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรการศึกษาไปเกือบ 6 แสนคน เหลืออยู่ 3.2 แสนคนยังไม่ได้วัคซีน ส่วนนักเรียนอายุ 12-18 ปี กว่า 4 ล้านคน แม้ ศธ.ไม่ได้ตั้งงบฯ ซื้อวัคซีนฉีดให้เด็กนักเรียน แต่ประสานกระทรวงสาธารณสุขว่า ทันทีที่วัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดให้เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี เข้ามาปลายเดือน ก.ย. 2-3 ล้านโดส เมื่อเข้ามาถึงจะวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระจายวัคซีนฉีดให้นักเรียนกว่า 4 ล้านคนโดยเร็วที่สุด คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนกว่าถึงจะฉีดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้เพื่อเปิดโรงเรียนได้ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยช่วงนั้นๆ ว่าจะเปิดเรียนได้หรือไม่
...

ประชาชน 3 ล้านคน เริ่มบูสเข็ม 3 ปลาย ก.ย.
สำหรับการฉีดวัคซีนบูสเข็มที่ 3 ให้ประชาชนทั่วไปนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ของประชาชนทั่วไป ทางอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 มีมติให้เริ่มฉีดในช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. 2564 จะเป็นวัคซีนใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์วัคซีนที่มีในขณะนั้น ผู้ที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ.
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun