การเตรียมความพร้อมและสร้างประเทศไทยให้กลายเป็น “สีเขียว” เพื่อรองรับการเปิดประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลในเดือน ต.ค.2564
คือสิ่งที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อขานรับ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model วาระแห่งชาติ
ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต การบริการ การบริโภค มุ่งสู่สังคมวิถีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศไทยด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างประเทศด้วยวิถีใหม่ให้เป็นสีเขียวหลังโควิด-19 โดยในส่วนของ ทส.ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิต การบริการและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ G-Green ที่ประกอบด้วย โครงการ Green Product, Green Hotel, Green Office, Green National Park, Green Restaurant, Green Airport และ Green Coffee Shop เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในภาคการผลิต ได้แก่ สถานประกอบการขนาดเล็ก ภาคบริการ ได้แก่ สำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร อุทยานแห่งชาติ และผู้บริโภค ปรับพฤติกรรมมุ่งสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
...
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ในฐานะผู้ผลักดันโครงการ G-Green กล่าวถึงเป้าหมายการสร้างประเทศไทยให้เป็นสีเขียว
ทั้งนี้ การดำเนิน โครงการ G–Green ในปี 2563 ได้แก่ โครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการส่งเสริมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และ โครงการสำนักงานสีเขียว การลดการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และได้มอบรางวัล G-Green ให้กับ 4 โครงการแล้ว
โดยในส่วนของ อุทยานสีเขียว อาทิ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี อุทยานฯ ภูลังกา จ.นครพนม อุทยานฯ ออบขาน (เตรียมการ) จ.เชียงใหม่ อุทยานฯ น้ำตกห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานฯ เวียงโกสัย จ.แพร่ อุทยานฯ เขาพนมเบญจา จ.กระบี่ อุทยานฯ แม่ปืม จ.พะเยา อุทยานฯ ภูสวนทราย จ.เลย อุทยานฯ ภูผายล จ.สกลนคร อุทยานฯ ทับลาน จ.ปราจีนบุรี อุทยานฯ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา อุทยานฯ แม่ยม จ.แพร่ อุทยานฯ ปางสีดา จ.สระแก้ว อุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อุทยานฯ ภูผาเหล็ก จ.สกลนคร อุทยานฯ ตากสินมหาราช จ.ตาก อุทยานฯ น้ำตกหงาว จ.ระนอง อุทยานฯ ตาดหมอก จ.เพชรบูรณ์ อุทยานฯ ป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ อุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า จ.พัทลุง อุทยานฯ ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น อุทยานฯ ขุนแจ จ.เชียงราย อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นต้น
โครงการส่ง เสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญาอาชีพปักธงชัย กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ จ.นครราชสีมา วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดงหนองไชยวาลย์ จ.สกลนคร เป็นต้น
...
โครงการสำนักงานสีเขียว อาทิ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น
โครงการส่งเสริมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ อ่าวนางฟีโอเร่ รีสอร์ท จ.กระบี่ บ้านทะเลดาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงแรมพีพาราไดซ์ จ.กำแพงเพชร เป็นต้น
“ทั้ง 4 โครงการ โครงการ Green Product มีผู้ผ่านการรับรอง 44 ราย โครงการ Green Hotel ผ่านการรับรอง 66 แห่ง โครงการ Green National Park ผ่านการรับรอง 30 แห่ง และโครงการ Green Office ผ่านการรับรอง 184 แห่ง โดยผู้ผ่านการรับรองจะได้ ตราสัญลักษณ์ G-Green ซึ่งกว่าจะได้รับการรับรองไม่ใช่ง่ายๆ เพราะจะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
กระบวนการผลิต การบริการ การบริโภค และการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าควบคู่กับการจัดการของเสียหรือมลพิษ การคัดแยกขยะจากต้นทาง ด้วยแนวคิด Zero Food Waste และ Upcycling เปลี่ยนของเสียมาใช้ประโยชน์ใหม่ โรงแรมหลายแห่งใช้แนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใส่ใจเรื่องพนักงาน วัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัย ลดปริมาณขยะ ขณะที่หลายแห่งมุ่งมั่นกับการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยจะมีการตรวจประเมินเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง คือ สามารถลดต้นทุนและลดมลพิษ มีความเข้าใจในการจัดการสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มโอกาสและช่องทางสำหรับผู้บริโภคในการเลือกบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะนี่คือโอกาสที่จะไปสู่เป้าหมายของประเทศไทย คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในช่วงปี ค.ศ.2065 โดยมี G-Green เป็นเครื่องมือ” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.กล่าว
...
ด้าน นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ G-Green กล่าวว่า G-Green อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือการเติบโตสีเขียว (Green Growth) มุ่งขยายผลให้เกิดมากที่สุดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน โครงการ G-Green ได้ตรวจประเมินและรับรองพร้อมมอบตราสัญลักษณ์ G-Green ให้สถานประกอบการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากกว่า 1,854 แห่งครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงาน ทรัพยากร ลดการปล่อยของเสีย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศอย่างเห็นผลชัดเจน
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า โครงการ G-Green การสร้างประเทศให้เติบโตเป็นสีเขียวภายใต้วิถีใหม่เป็นเรื่องที่ดี และจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการเปิดประเทศไทย หลังวิกฤติโควิด-19
แต่สิ่งที่เราอยากฝากคือความต่อเนื่องและความเข้มแข็งในการจัดการผู้ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนขาดความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร
...
อย่าให้...“วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เป็นแค่คำพูดที่สวยหรูในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ไม่เกิดผลทางปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม