กลายเป็นประเด็นร้อนระอุขึ้น “ในกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย” ต่างต้องออกมาจับตาอย่างใกล้ชิดกันอีกครั้ง เมื่อ “ภาครัฐ” เปิดทางให้มีการนำเข้า “เศษพลาสติกอีก 5 ปีข้างหน้า” ด้วยการยืดเวลาผ่อนผันแบบลดสัดส่วนลงรายปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 ก่อนจะห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด
นับเป็นการขยายให้นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศอีกได้ “องค์กรภาคประชาสังคม” ต้องขยับตัวเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนหยุดนำเข้าเด็ดขาดในปีนี้พร้อม “ออกแถลงการณ์คัดค้านการผ่อนผัน” โดยยื่นหนังสือต่อ “รัฐบาล” เรียกร้อง 7 ข้อ 1.ทบทวนยกเลิกมติ 25 ม.ค.2564 ในมาตรการกำกับนำเข้าเศษพลาสติก
2.แก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรีห้ามนำเข้า มุ่งเน้นใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน 3.ออกกฎกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าภายในปี 2565 4.ต้องเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า 5.นำเข้าเฉพาะเม็ดพลาสติกสำเร็จรูป 6.ห้ามให้ไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุ 7.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำงานตรวจสอบ
พุ่งเป้าคำนึงถึง “ผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม” เป็นปัจจัยสำคัญ “เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะโลก” รองรับเศษซากขยะจากประเทศอื่นในอนาคตอันใกล้นี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า ปัญหาขยะพลาสติกในไทยเกิดเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐบาลจีนห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ
...
แล้วก็ทำให้ “ผู้ประกอบการรีไซเคิลเศษพลาสติกในจีน” ย้ายฐานผลิตมายัง “กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศไทย” จนในปี 2561 ปริมาณนำเข้าเศษพลาสติกถูกแฝงด้วยขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 5 แสนกว่าตัน เรื่องนี้มีผลให้ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ตรวจสอบจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าลักษณะการสำแดงเท็จหลายรายตามมา
ไม่นาน “รัฐบาล” ก็ตั้ง คกก. เพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบขึ้นมาแก้ปัญหานี้ ต่อมาวันที่ 15 ส.ค.ในปีนั้นเพื่อให้โอกาสผู้ถือใบอนุญาตเดิมนำเข้าตามโควตาคงเหลือได้จนครบก่อนแล้วก็มีมติยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ย.2563 เป็นต้นไป
กล่าวคือ “ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกเด็ดขาด” แต่ในระหว่างนี้ “กลุ่มโรงงานรีไซเคิลเศษพลาสติก” เรียกร้องผลักดันให้เปิดนำเข้าอ้างว่า “ขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ” ต้องนำเข้าเศษพลาสติก 6 แสนตันต่อปี
กระทั่งในวันที่ 25 ม.ค.2564 “คกก.นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก” ปรับนโยบายไม่ประกาศยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกตามมติในปี 2561 ทั้งยังมีประเด็นมติใหม่ “กำหนดแผนควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติก” ตั้งเป้าจะห้ามนำเข้าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 เป็นต้นไป
ล่าสุดต้นเดือน ส.ค.มานี้ “คกก.ชุดเล็ก” ได้ประชุมหารือทำรายงานสรุปเงื่อนไขแนวทางผ่อนผันขยายการนำเข้าเศษพลาสติกเตรียมนำเสนอ “คกก.ชุดใหญ่” พิจารณาในวันที่ 30 ส.ค.นี้ต่อไป
ประจวบเหมาะกับในปีที่แล้วก็มี “ประกาศตั้งเขตปลอดอากร” มีนัยจากข้อสังเกตระเบียบประกาศกรมศุลกากรที่ 59/2564 ข้อ 1 ประเภทหรือชนิดแห่งของที่ห้ามนำเข้าไปในเขตปลอดอากร เศษพลาสติกตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 39.15 เป็นเศษตัดที่ใช้ไม่ได้เป็นพลาสติกไม่ว่าใช้แล้วหรือไม่นำเข้าจากนอกราชอาณาจักร... เว้นแต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่เป็นการนำเข้าไปโดยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ต้องใช้พลาสติกผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ทั้งการนำเข้าต้องแยกประเภทชนิดไม่ปะปนกันเข้าสู่การผลิตได้ไม่ต้องผ่านการทำความสะอาดอีก
โดยเฉพาะต้องเป็นการนำเข้าไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ไม่สามารถนำเข้ามาเพื่อขาย หรือจำหน่าย หรือโอน หรือวัตถุประสงค์อื่นใด
...
เรื่องนี้กลายเป็นคำถามว่า “เขตปลอดอากร” จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานการรีไซเคิลรองรับการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศหรือไม่ เพราะมีกฎหมายควบคุมแยกต่างหากชัดเจน แสดงให้เห็นถึงช่องว่างใหญ่สนองตอบความพยายามกลุ่มโรงงานที่เรียกร้องขอให้อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกได้อย่างต่อเนื่อง
ไม่เท่านั้น “เขตปลอดอากรที่ตั้งโรงงานรีไซเคิลเศษพลาสติกบางแห่ง” ก่อปัญหามลพิษต่อชุมชนใกล้เคียงไม่น้อย เมื่อมีการคัดค้านเรียกร้องความเป็นธรรม “นายทุน” กลับฟ้องชาวบ้านกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทให้เสียประโยชน์ลงทุน” ไม่เว้นแม้แต่ “สื่อมวลชน” นำเสนอผลกระทบต่อชุมชนก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน
หากย้อนไปก่อนหน้านี้ “ประเทศไทย” มีการนำเข้าเศษพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2555-2559 เฉลี่ยราว 5 หมื่นตันต่อปี นับตั้งแต่ต้นปี 2560 “รัฐบาลจีน” ออกกฎหมายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ในช่วงปลายปีนั้นมีเศษพลาสติกเข้ามาในไทยสูงขึ้นราว 1.5 แสนตัน และในปี 2561 พุ่งขึ้นถึง 5.5 แสนกว่าตัน
...
เหตุนี้ “จนท.รัฐ” ปราบปรามผู้ลักลอบสำแดงเท็จนำเข้าขยะพลาสติกอย่างหนัก “รัฐบาลสั่งห้ามนำเข้าเด็ดขาด” ทำให้ปี 2562 การนำเข้าลดลง เหลือ 3 แสนตัน ปี 2563 กำหนดให้เฉพาะผู้มีโควตาคงเหลือ 1 แสนตัน... แต่ช่วงนี้ “กลุ่มโรงงาน” พยายามเรียกร้อง “หน่วยงานภาครัฐ” เปิดการนำเข้าเศษพลาสติกอย่างหนัก “เครือข่ายภาคประชาสังคม” เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ ต.ค.2563 ถึงปัจจุบัน ปรากฏพบการนำเข้าอีกแล้ว 7 หมื่นกว่าตันจาก 46 ประเทศ ในประเทศส่งเข้ามามากสุด คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ
ทว่าสิ่งนี้ดูเหมือนย้อนแย้ง “นโยบาย” เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิดในปี 2562 ลดใช้พลาสติก 7 ชนิด ทั้งหลอดดูด กล่องโฟม ในปี 2565 แต่กลับปล่อยให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกมารีไซเคิลในประเทศ
ประการสำคัญมีการขยายเวลาการนำเข้าต่ออีก 5 ปี อันเป็นการกลับมติห้ามนำเข้าในปี 2563 โดยสิ้นเชิง ทั้งยังเปิดช่องว่างผ่านกฎหมายศุลกากรให้สามารถส่งเศษพลาสติกเข้ามารีไซเคิลในเขตปลอดอากรได้อย่างเสรี เพื่อส่งออกในประเทศไทยได้อีก ทำให้ภาคประชาสังคมลงรายชื่อ 32,000 คน และองค์กรคัดค้านเรื่องนี้
“นัยสำคัญการประกาศจัดตั้งเขตปลอดอากร...เปิดช่องทางออกให้สามารถนำเศษพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามารีไซเคิลแบบไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขเวลาอีกต่อไป เสมือนเป็นการทลายกำแพงการห้ามนำเข้าทิ้งโดยสิ้นเชิง แม้ในปี 2569 ผ่านไปแล้วก็ยังสามารถนำเข้ามาในเขตปลอดอากรได้ดังเดิม” เพ็ญโฉม ว่า
...
ประเด็นสำคัญมีว่า “แล้วทำไมคนไทยต้องยอมผ่อนผันให้ประเทศอื่นนำขยะพลาสติกมาทิ้งบ้านเรา?” อันกระทบต่อ “อาชีพซาเล้ง...ร้านรับซื้อของเก่าจนต้องเลิกกิจการ” เพราะขยะพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกมาก จนทำให้ราคาพลาสติกรีไซเคิลในประเทศตกต่ำอย่างมากด้วยซ้ำ
ทั้งยังซ้ำเติม “ปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแฝงเร้นด้วยอันตราย” กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ จากการประกอบกิจการไม่ได้มาตรฐาน ไม่คำนึงถึงผลกระทบมลพิษ มีทั้งสารโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย สารมลพิษตกค้างไหลลงแหล่งน้ำ ทำลายไร่นาใช้ทำมาหากิน และปนเปื้อนอากาศด้วย
ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ถูกนำเข้ามาคือ “ขยะพลาสติกของต่างชาติ” ไม่มีใครต้องการแล้วส่งออกไปกำจัด แต่ประเทศไทยกลับให้ใช้คำว่า “เศษพลาสติก” ที่เป็นวาทกรรมสร้างมาลดทัศนคติ “คนไทย” รู้สึกไม่มีการนำเข้าขยะ ส่วน “ศุลกากร” ไม่ว่าจะเป็นเศษพลาสติก หรือขยะพลาสติก ก็ใช้เป็นหน่วยเดียวพิกัดศุลกากร 39.15
เช่นนี้แล้ว “องค์กรภาคประชาสังคม” ต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเพราะ “โรงงานรีไซเคิลเศษพลาสติก” เป็นกิจการที่มีมลพิษสูงมาก ทั้งการคัดแยกมีสารก่อมะเร็ง และเป็นแหล่งกำเนิดพีเอ็ม 2.5 ที่ประเทศต้นทางมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวดไม่ยอมรับต้องขับออกไปยังประเทศอื่น
ย้ำว่าการหยุดยั้งธุรกิจค้าของเสียต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ และยิ่งประเทศพัฒนาควรจัดการของเสียทุกชนิดของตัวเอง ไม่ใช่รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการผลักขยะและภาระการจัดการให้ประเทศอื่น หรือใช้ประเทศอื่น
เป็นถังขยะโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมอ่อนแอกว่า
“รัฐบาลไทย” ต้องมองให้ฉลาดลึกซึ้ง “สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ” ควบคุมเข้มงวด อย่ายอมปล่อยให้ขยะพวกนี้เข้ามาโดยง่าย และปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้.