นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่าปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับ covid-19 ทำให้เห็นว่าประเทศไหนที่มีการพัฒนานวัตกรรมได้มากกว่า ย่อมได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยต้องเดินหน้า เรื่องเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างจริงจัง และรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้ง ฟื้นฟูประเทศหลังจากสถานการณ์ covid-19 ผ่านไป ซึ่งจุดสำคัญที่สุด คือการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อม มีองค์ความรู้และสามารถปฏิบัติงานได้จริงหลังจบจากรั้วมหาวิทยาลัย โดย มทรส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติและกำลังคนที่มีความรู้ทางวิชาการและมีทักษะวิชาชีพอย่างมืออาชีพเข้าใจแนวคิดการพัฒนา นวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ และเพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ได้มีการกำหนดแผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไว้ด้วย โดยมีจุดเน้น ทิศทาง และเป้าหมายตามสาขาความเชี่ยวชาญของ มทรส.ภายใต้ "แผนพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต" พ.ศ 2566-2570

นายธีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ ได้ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 โดยมีจุดเน้นทางด้านการเรียน การสอน เพื่อผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งระดับปริญญา (Degree) และระดับประกาศนียบัตร (Non-degree) โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน คือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, เทคนิคยานยนต์สมัยใหม่และหุ่นยนต์สมัยใหม่ และด้านเกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปผลิตผลการเกษตรแบบปราณีต และแม่นยำ ซึ่งจะมีศูนย์ เชี่ยวชาญเพื่อผลิตกำลังคนทั้ง 3 ด้าน ควบคู่กับการให้บริการทางวิชาการร่วมกับเครือข่าย เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานจริงด้วย ซึ่งมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ มีการพัฒนาหลักสูตรเป็นการเรียนออนไลน์มากขึ้น บุคลากรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานภายในหน่วยงาน และภายนอกหน่วยงาน ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วทำให้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่นๆ ต้องได้รับการพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการ Re-skill /Up-skill/New-skill อย่างต่อเนื่อง (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหน่วยหลักของประเทศ ในการสร้างคน คุณภาพ เพื่อให้มีการบริหารจัดการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้