โควิดไทยยังไม่นิ่ง แม้ยอดผู้รักษาหายมากกว่า ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง แต่ยอดตายยังกว่า 200 ศพต่อวันตลอดสัปดาห์ อายุน้อยสุดแค่ 7 เดือน ส่วน กทม.กลับมามียอดติดเชื้อพุ่งกว่า 4 พันคน สธ.เตรียมชง ศบค.ออกมาตรการคุมเข้มตลาดสด-ตลาดนัด หลังพบคนติดเชื้อเป็นกลุ่มกระจายใน 23 จังหวัด ส่วนนายกฯ กำชับเจ้าหน้าที่เข้มงวดการรวมตัว ปาร์ตี้สังสรรค์ ให้เอาผิดตามกฎหมายห้ามละเว้น ไม่งั้นเจ้าหน้าที่โดนด้วย ด้านอธิบดีกรมเด็ก เผย 8 เดือนของปีนี้เด็กติดโควิดแล้วกว่า 1 แสนคน เด็กกำพร้า ก็เพิ่ม “หมอประสิทธิ์” คาดกลาง ก.ย. ยอดติดเชื้อใหม่-ตาย อาจเป็นขาลงจาก 3 ปัจจัยหลัก ฉีดวัคซีนได้มาก-ใช้มาตรการสังคม-ส่วนบุคคล ทำให้ลดการแพร่เชื้อ หากไม่เจอคลัสเตอร์ใหญ่มาซ้ำเติม

หลังรัฐบาลโดย ศบค.ขยายเวลาล็อกดาวน์ 29 พื้นที่สีแดงเข้มไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ หวังลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) แต่ตลอดสัปดาห์ที่สามของเดือน ส.ค.ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังพุ่งทะลุวันละกว่าสองหมื่นคน เสียชีวิตกว่า 200 ศพทุกวัน จนยอดสะสมน่าจะทะลุหมื่นศพได้ในไม่ช้า

...

ตายกว่า 200 ศพต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,014 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,808 คน มาจากเรือนจำ 196 คน มาจากต่างประเทศ 10 คน หายป่วยเพิ่ม 20,672 คน อยู่ระหว่างรักษา 200,339 คน อาการหนัก 5,239 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,117 คน มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 233 คน เป็นชาย 140 คน หญิง 93 คน อยู่ใน กทม. มากสุด 71 คน มีผู้เสียชีวิตอายุน้อยสุด 7 เดือน 1 ราย อยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิตที่บ้านและอยู่ระหว่างการนำส่งโรงพยาบาล 4 คน อยู่ที่ กทม. 2 คน ฉะเชิงเทรา 1 คน และชุมพร 1 คน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,049,295 คน หายป่วยสะสม 839,639 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 9,320 คน มียอดฉีดวัคซีนสะสม 26,832,179 โดส

กทม.ยังหนักติดเชื้อกว่า 4 พัน

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 4,399 คน สมุทรสาคร 1,499 คน ชลบุรี 1,092 คน สมุทรปราการ 749 คน นนทบุรี 690 คน นครปฐม 638 คน ราชบุรี 560 คน ฉะเชิงเทรา 488 คน นครราชสีมา 484 คน สระบุรี 390 คน อย่างไรก็ตามมีข้อมูลการตรวจแบบ ATK ของวันที่ 22 ส.ค. มีผลบวก 2,039 คน จำนวนนี้ยังไม่นับรวมกับยอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายวัน เนื่องจากต้องตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ก่อน หากผลยืนยันเป็นบวก จึงจะนำไปรวมกับยอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ในภายหลัง

หนูโอ่ไม่ได้ซิโนแวคอาจหนักกว่า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีผลวิจัยกระทรวงสาธารณสุขว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 ว่า ขอยืนยันว่ายังคงมีประสิทธิภาพที่ดี มีการศึกษา บันทึก วิจัยอย่างเต็มศักยภาพ ทุกวันนี้ผู้ป่วยโควิดหายจากโรคเพราะยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งนั้น ส่วนที่มีผู้ติดเชื้อฯเพิ่มอาจเป็นเพราะมีการกลายพันธุ์ ส่วนการกระจายวัคซีนนั้นเป็นไปตามเป้าหมาย ในเขตกรุงเทพฯคาดว่าประชาชนได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว ส่วนการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่ม 12 ล้านโดสนั้น มองว่าหากไม่ได้วัคซีนซิโนแวคอาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพดีในช่วงต้นปี แต่ตอนนี้มีการกลายพันธุ์ สถานการณ์ ความคืบหน้าด้านวัคซีน คาดว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อย่าไปด้อยค่ายี่ห้อใดเลย มั่นใจวัคซีนมีข้อดีทุกข้อ

ยันไม่มีล็อกสเปกประมูล ATK

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ส่วนการประมูลชุดตรวจโควิด แบบ ATK ที่มีกระแสข่าวล็อกสเปกนั้น ในตัวหน่วยงานตนมิได้ควบคุมโดยตรง ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมมีประธานบอร์ดควบคุมดูแลอยู่แล้ว มองว่าเป็นอำนาจหน้าที่การตัดสินใจของแต่ละบอร์ด ยืนยันไม่มีการล็อกสเปก

ชี้ช่องเอกชนนำเข้าวัคซีนเอง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 กรณีเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีน เช่น โรงพยาบาลเอกชน ต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน จากนั้นจึงยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เนื่องจากผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับเอกชนรายใดประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด สามารถยื่นขอเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีน โดยมาขึ้นทะเบียนได้ที่ อย. ซึ่งจะเร่งพิจารณาประเมิน ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผลและการบริหารจัดการความเสี่ยงของวัคซีน หากส่งเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 30 วัน

...

สธ.เตรียมชงคุมเข้มตลาด

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากที่กระทรวงสาธารณสุขติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ในส่วนของพื้นที่สีแดงเข้ม พบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงกับตลาดสดและตลาดนัด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ส.ค. ใน 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทำมาตรการป้องกัน ที่ประชุม ศบค.จะพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ มาตรการป้องกันประกอบด้วยมาตรการ 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันคน ป้องกันสถานที่ (ตลาด) และจัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ในส่วนการป้องกันคนจะมีตรวจคัดกรองเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ดำเนินการในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด การประเมินเบื้องต้นคาดว่าครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ ATK 808,040 ชุด มีการสำรองสำหรับกรณีตรวจเชิงรุกอีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ ATK ตามมาตรการนี้รวม 850,000 ชุด

กำชับ จนท.ลุยปาร์ตี้สังสรรค์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า นายกฯห่วงใยหลังรับทราบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ รวมตัวกันมั่วสุมในแหล่งอบายมุขหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทำงานบูรณาการ หากพบการกระทำความผิดขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ห้ามละเว้น มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะมีความผิดด้วย และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด

...

ลดเหมาจ่าย HI เหลือ 600/วัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เดิม สปสช.จ่ายค่าดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านหรือ Home Isolation (HI) หรือการดูแลในระบบชุมชน Community Isolation แบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/วัน เป็นค่าใช้จ่ายที่รวมอาหาร 3 มื้อ ค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา และค่ายาพื้นฐาน หลังใช้หลักเกณฑ์นี้ไประยะหนึ่งมีเสียงสะท้อนว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนอาหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้เกิดการเบิกจ่ายค่าอาหารที่ซ้ำซ้อนกับ สปสช. และมีข้อเสนอให้แยกค่าใช้จ่ายในการให้บริการโดยไม่รวมค่าอาหาร ดังนั้น สปสช.จึงปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถจัดอาหารให้ผู้ป่วยได้ในช่วงวันแรกๆ หรือมีงบ ประมาณจากที่อื่นมาสนับสนุนแล้ว ให้เบิกค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยแบบไม่รวมค่าอาหาร โดย สปสช. เหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท/วัน ซึ่งเงินค่าอาหาร 400 บาทที่ลดทอนลงไปนั้นอ้างอิงจากราคาจากกรมบัญชีกลาง แต่หากหน่วยบริการไหนที่จัดบริการหาอาหารให้แก่ผู้ป่วยด้วยคงเบิกในอัตราเดิมคือ 1,000 บาท/วัน

เพิ่มค่าออกซิเจนวันละ 450 บาท

นพ.จเด็จกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สปสช.ยังเพิ่มรายการจ่ายเพิ่มเติมคือค่าออกซิเจนสำหรับการดูแลรักษา โดยจ่ายให้ในอัตรา 450 บาท/วัน ในส่วนของค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท ค่ายาเฉพาะโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท กรณีที่ต้องมีการส่งต่อ สปสช.จ่ายค่ารถให้ตามจริง บวกค่าทำความสะอาด 3,700 บาท กรณีต้องเอกซเรย์ปอด จ่ายในอัตรา 100 บาท/ครั้ง และรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือค่าออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในอัตรา 450 บาท/วัน และสำหรับการดูแลใน CI เพิ่มเติมค่า PPE หรือค่าอื่นๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อจ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาท/วัน

...

8 เดือนเด็กติดแสนกว่าคน

วันเดียวกัน นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบมีเด็กติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน เฉลี่ยวันละกว่า 2,000 คน มียอดเด็กติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 ส.ค.รวมแล้ว 109,961 คน คิดเป็นร้อยละ 11.21 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ดย.เร่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มเปราะบาง ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเชิงรุก โดยเฉพาะในเขต กทม. เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ได้เสริมทีมเจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดการรายกรณีเพื่อรองรับกับจำนวนการแจ้งเหตุ แบ่งเป็น 6 ทีมตามการแบ่งโซนเขตของ กทม. อาจมีที่ล่าช้าไปบ้างเพราะระบบมีข้อจำกัดที่ไม่เคยมีวิกฤติรุนแรงเช่นนี้มาก่อน และหลายกรณีต้องประสานส่งต่อหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าใจดีถึงความรู้สึกของผู้ที่คอยรับบริการกับความ เร่งด่วนของปัญหา แต่พยายามปรับการทำงานให้ทันสถานการณ์ มีการผนึกกำลังระหว่าง ดย. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือให้เด็กและครอบครัวได้เข้าถึงการดูแลอย่างทันกาลไม่ตกหล่น เปิดช่องทางแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือแอปฯ คุ้มครองเด็ก หรือที่บ้านพักเด็กและครอบครัวทุก จังหวัด หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วประเทศ และไลน์ @savekidscovid19 เพื่อส่งต่อเคสสู่ระบบการช่วยเหลือทันที

กำพร้าพุ่ง-อยุธยามากสุด

นางสุภัชชากล่าวด้วยว่า ในส่วนของเด็กกำพร้าจากผลกระทบโควิด ข้อมูลจนถึงวันที่ 20 ส.ค. มีจำนวน 210 ราย จังหวัดที่มีเด็กกำพร้ามากที่สุดคือ พระนครศรีอยุธยา 16 ราย รองลงมา กาฬสินธุ์ 15 ราย ปทุมธานีและร้อยเอ็ด 13 ราย กำแพงเพชรและสมุทร-ปราการ 10 ราย และชัยภูมิ 9 ราย ดย.ได้เร่งช่วยเหลือต่อเนื่องและครอบคลุมทุกมิติปัญหา ตั้งแต่ให้คำปรึกษา 117 ราย มอบเครื่องอุปโภคบริโภค 75 ราย มอบเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน 66 ราย ประสานขอรับทุนและขอความช่วยเหลือหน่วยงานอื่น 52 ราย มอบเงิน ช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองเด็ก 16 ราย จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ 3 ราย ประสานหาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง 2 ราย รับเข้าอุปการะชั่วคราว 2 ราย ให้การ ช่วยเหลืออื่นๆ 1 ราย และอีก 49 ราย อยู่ระหว่างติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อกำหนดแนวทางการดูแล นอก จากนี้ ดย.ได้ประสานทีมสหวิชาชีพ อาสาสมัคร และ ภาคส่วนต่างๆให้คำแนะนำปรึกษา ดูแลสภาพ จิตใจแก่เด็กและครอบครัว จัดเตรียมสถานที่รองรับเด็กกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องดูแลในระยะกักตัว 14 วัน ทุกรายมีการติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กได้รับการปกป้องดูแล และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

คาดกลาง ก.ย.ติดเชื้อ-ตายลด

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 1.9-2 หมื่นรายต่อวัน ผู้เสียชีวิต 200 กว่าราย ตัวเลขเหล่านี้หากดูวันต่อวัน อาจมองไม่ชัด ต้องดู 7 วันแล้วเฉลี่ย จะเห็นเส้นความชันเริ่มน้อยลงกว่าเดิม ใกล้เข้าสู่ระนาบเส้นตรง เมื่อถึงจุดหนึ่งกราฟจะเริ่มกดหัวเป็นขาลง สิ่งที่ทำให้กราฟลดลงเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1.การฉีดวัคซีน เมื่อฉีดถึงร้อยละ 40-50 จะ เริ่มเห็นตัวเลขปรับลง ขณะนี้ไทยฉีดไปประมาณร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร ถือว่าทำได้ดีเป้าหมายที่คุยไว้จะให้ได้ 15-18 ล้านโดสต่อเดือน มีโอกาสค่อนข้างแน่นอนว่าเดือนหนึ่งจะมีวัคซีนเข้ามา 10 กว่าล้านโดส จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาเติมเต็มเร็วกกว่ากำหนดเดือน ต.ค. เป้าหมายที่จะฉีดให้ถึง 15 ล้านโดส หากเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้กราฟกดหัวลงเร็วขึ้น แต่ต้องควบคู่กับระบบบริหารจัดการ รวมถึงประชาชนต้องเข้ามารับวัคซีน 2.มาตรการสังคม การปกครอง และ 3.มาตรการบุคคล ก็เป็นส่วนสำคัญในการลดการแพร่เชื้อ หากไม่มีระบาดคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นมา ส่วนตัวเชื่อว่ากลางเดือน ก.ย. น่าจะเห็นตัวเลขขาลงทั้งอัตราติดเชื้อและเสียชีวิต

หากสัญญาณดีจ่อคลายเพิ่ม

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ปลายเดือน ส.ค.นี้ หากจะผ่อนคลายมาตรการ มีเวลา 1 สัปดาห์ที่จะดูตัวเลขผู้ติดเชื้อ หากส่งสัญญาณดีขึ้นอาจเสนอ ศบค.พิจารณาผ่อนคลายได้บ้าง แต่ต้องตกลงเงื่อนไขกับผู้ให้บริการ เช่น การแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนในมือถือ หรือให้สถานประกอบการบริการจุดตรวจด้วย ATK ทั้งนี้ ต้องเลือกพื้นที่และกิจกรรมให้เหมาะสม มีการติดตามอย่างเข้มงวด จะแปรผันตามความชุกของการติดเชื้อ คือผู้ติดเชื้อมากก็จะคลายล็อกได้น้อย แล้วค่อยผ่อนคลายตามสถานการณ์ที่ดีขึ้น

ผู้ป่วยสูงวัยทยอยตาย

ส่วนในหลายจังหวัด หลังมีการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และตรวจหาเชื้อเชิงรุกมาตลอดสัปดาห์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยที่ จ.สระแก้ว ที่มีคลัสเตอร์ตลาดโรงเกลือที่พบคนติดเชื้อจำนวนมาก แต่เมื่อวันที่ 22 ส.ค. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้รายงานจังหวัดพบผู้ป่วยรายใหม่ต่ำร้อยเป็นครั้งแรกที่ 96 คน โดยเฉพาะ อ.อรัญประเทศ และตลาดโรงเกลือ พบผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 46 คน แต่ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นชาย อายุ 72 ปี อยู่ อ.วังน้ำเย็น นับเป็นรายที่ 44 ของจังหวัด ขณะที่ จ.นครราชสีมา สัปดาห์นี้เริ่มดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 292 คน เสียชีวิต 1 ศพ เป็นชาย อายุ 84 ปี ชาว อ.ปักธงชัย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 119 ศพ ส่วนการฉีดวัคซีน รพ.มหาราชฯ ระดมฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ให้ประชาชนที่ลงทะเบียนแบบปูพรมทุกคน ที่ห้องโคราชฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา โคราช พร้อมกับที่อบจ.นครราชสีมา จัดฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับชาวบ้านผู้สูงอายุในพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองนครราชสีมา ที่ รพ.สีดา อ.สีดา ส่วน จ.อุบลราชธานี ติดเชื้อเพิ่ม 200 คน จำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในพื้นที่ 68 คน ซึ่งกว่าครึ่งอยู่ อ.เมืองอุบลฯ เป็นคลัสเตอร์จากงานศพ พื้นที่ ต.ไร่น้อย 32 คน และเรือนจำ 12 คน ขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ศพ เป็นหญิงทั้งหมด อายุ 78, 65 และ 53 ปีตามลำดับ

เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มป่วยเรื้อรัง

เช่นเดียวกับ จ.ยะลา พบติดเชื้อเพิ่ม 152 คน อยู่ในลำดับ 7 ในกลุ่ม 14 จังหวัดภาคใต้ รองจาก นราธิวาส สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช ปัตตานี และสุราษฎร์ธานี แต่ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นชายอายุ 74 ปี ชาว ต.สะเตง อ.เมือง รวมยอดสะสมเสียชีวิต 102 ศพ ส่วน จ.นราธิวาส พบผู้ป่วย รายใหม่ 365 คน เสียชีวิตถึง 8 ศพ เสียชีวิตสะสมรวม 129 ศพ ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกอำเภอไม่เว้นวันหยุดราชการ รวมถึงฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค กลุ่มโรคพันธุกรรม อายุ 12 ถึง 17 ปี หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป

เชียงใหม่เลื่อนแผนเปิดเมือง

ด้าน นพ.ทวิช แก้วประเสริฐ ผอ.ศูนย์บริการฉีดวัคซีน ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบฯ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าตลอดวันผู้ประกอบการและพนักงานในธุรกิจท่องเที่ยว ชมรมร้านอาหาร รถเช่า กลุ่มพนักงานภาคการขนส่ง ชมรมธนาคาร สมาชิกหอการค้าเชียงใหม่ ฯลฯ นับพันคนพากันมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายเพราะมีการเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งต้องทำงานในกลุ่มคนจำนวนมาก ต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้มากและเร็วที่สุด ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้จังหวัดเชียงใหม่มีแผนเปิดโครงการชาร์มมิ่งเชียงใหม่ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส เข้ามาท่องเที่ยวใน 4 อำเภอนำร่อง คือ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ แต่ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเลื่อนกำหนดเปิดไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. เนื่องจากการกระจายวัคซีนยังไม่ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรในพื้นที่นำร่อง

ฉีดไฟเซอร์ได้ 3 วันติดโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ รพ.ไชยวาน จ.อุดรธานี วัย 34 ปี ที่เพิ่งฉีดบูสเตอร์โดส หรือกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี Rapid test และ RT-PCR โดยผล Rapid test ไม่พบเชื้อโควิด-19 จากนั้นกักตัวอยู่ห้องพัก แต่ในวันที่ 14 ส.ค.64 เจ้าหน้าที่ รพ.ไชยวาน แจ้งผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาที่ รพ.ไชยวาน ทันที ขณะที่ภาพรวมผู้ติดเชื้ออุดรเพิ่มอีก 124 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ศพ และมีคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง รพ.เอกชนกลางเมืองอุดรธานี ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยตลอดเช้าวันที่ 22 ส.ค. ที่ตลาดปรีชา มีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกกลุ่มแม่ค้าผู้จำหน่ายบริเวณตลาดหนองบัว บริเวณฟุตปาทใกล้เคียง ประชาชนที่ซื้อสินค้าทั้งสองจุดด้วย

ข้องใจฉีดซิโนแวคกลับมาตาย

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานมีชาย 2 คน เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา รายแรกชื่อ นายคำนวณ อุเทน อายุ 56 ปี ชาว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดโคกสว่าง ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ ทั้งนี้ นางอนงค์ ชุมแสง อายุ 57 ปี พี่สาวภรรยาของผู้ตาย เปิดเผยว่า น้องเขย ไปฉีดวัคซีนซิโนแวคพร้อมนางบุญสม อุเทน อายุ 54 ปี ภรรยา ที่หอประชุม ที่ว่าการอำเภอกบินทร์บุรี และเสียชีวิตเมื่อช่วงบ่ายโมงเศษของวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้เสียชีวิตเป็นคนแข็งแรง ทำงานใน โรงงาน เมื่อฉีดกลับมาก็ไปทำงานต่อ พอเลิกงานตอนตี 5 ครึ่ง สีหน้าซีดๆ บ่นว่าเหนื่อยสงสัยจะแพ้ ยาวัคซีนโควิด เชื่อว่าน้องเขยที่เสียชีวิตน่าจะมาจาก การฉีดวัคซีน ส่วนน้องสาวเริ่มมีอาการชาอีกคนตอนนี้ส่ง รพ.เรียบร้อยแล้ว

หนุ่มดับหลังฉีดไม่ถึง 24 ชม.

รายที่สอง ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนาง กาหลง ณรงค์มี อายุ 72 ปี ชาว อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ว่า ตนและลูกชาย คือ นายสมบูรณ์ ณรงค์มี อายุ 48 ปี ไปฉีดวัคซีนชิโนแวคเป็นเข็มแรก เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เวลา 09.00 น. ที่ รพ.หนองฉาง หลังฉีดเสร็จ นายสมบูรณ์บอกว่ามีอาการมึนหัว และเมื่อถึงบ้านนายสมบูรณ์มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย เหนื่อยหอบ และบ่นแน่นหน้าอกทั้งคืน กระทั่งเช้าอาการยังไม่ดีขึ้น ญาติๆจึงพานายสมบูรณ์กลับไป รพ.หนองฉาง มีการ นำตัวนายสมบูรณ์เข้าห้องฉุกเฉินทันที แต่หลังจากนั้น ไม่นานร่างกายนายสมบูรณ์ไม่ตอบสนอง เจ้าหน้าที่พยายามปั๊มหัวใจแต่ไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้ ต่อมามีการ ส่งศพไปชันสูตรที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ที่ระบุสาเหตุ การตายว่าหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจแข็งกระด้างทำให้เสียชีวิต ทำให้ญาติๆคาใจอย่างมาก เพราะผู้ตายมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงทำงานได้ปกติ แม้จะ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน แต่กลับเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนไม่ถึง 24 ชั่วโมง

ติดต่ำพันให้เปิดร้านตัดผม

สำหรับยอดผู้ติดเชื้อ จ.สมุทรสาคร ณ วันที่ 22 ส.ค.ยังสูงถึง 1,499 คน ผู้เสียชีวิต 17 ศพ ด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน จะขอให้เปิดร้านตัดผมก่อนเป็นอันดับแรก ขณะที่ จ.ชลบุรี แม้ผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมง จะลดลงแต่ยังเกินพันคนอยู่ที่ 1,092 คน เสียชีวิตอีก 2 ศพ ด้าน จ.นนทบุรี ติดเชื้อเพิ่ม 728 คน พบส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท เจ้าหน้าที่ รพ.และบุคลากรทางการแพทย์รวมอยู่ด้วย ส่วน จ.สุพรรณบุรี พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 91 คน เสียชีวิต 2 ศพ รวมเสียชีวิตสะสม 128 ศพ ด้าน จ.ราชบุรี รายงานสถานการณ์ โควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 541 คน มากเป็นลำดับที่ 1 ของโซนภาคตะวันตก ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 และขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 7 ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ศพ รวมเสียชีวิตสะสม 119 ศพ

กะเหรี่ยงป่าละอูป่วยอื้อ

ด้านนายพัลลภ สิงหเสนี ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยกรณีพบคลัสเตอร์ใหม่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่หมู่ 3 บ้านป่าละอูบน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ว่า มีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดพบชาวกะเหรี่ยงติดเชื้อโควิดแล้ว 46 คน เป็นเด็กเล็กหลายราย จึงออกคำสั่งประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวและสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ โดยปิดหมู่บ้านป่าละอูบน ห้ามคนเข้าออกหมู่บ้าน พร้อมตั้งจุดตรวจบริเวณสามแยกโค้งค่ายฤทธิ์ฤาชัยและเส้นทางไปอ่างเก็บน้ำป่าเลา รวม 14 วัน ถึงวันที่ 4 ก.ย.2564 จากนั้นแจ้งให้ รพ.หัวหิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 60 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย เดิมให้กักตัวอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนต้นตอการแพร่ระบาด น.ส.นิภาพร ทักษิณธานี ปลัด อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มวัยรุ่นจากจังหวัดเพชรบุรีเดินทางมาหาเพื่อนในหมู่บ้าน ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิดและแพร่ระบาด ขณะที่ภาพรวมของจังหวัด พบผู้ป่วยเพิ่ม 75 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 ศพ รวมเสียชีวิตสะสม 44 ศพ

อังกฤษรอผลลดปริมาณเข็มสาม

วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 212,236,588 คน เสียชีวิตรวม 4,438,061 คน เป็นการติดเชื้อในวันเดียว 566,349 คน เสียชีวิตในวันเดียว 8,766 คน โดยที่อิสราเอล ยอดติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 988,010 คน เสียชีวิตรวม 6,782 คน หากดูการติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 7,200 คนแล้ว จะทำให้ภายในวันที่ 24 ส.ค. อิสราเอลจะกลายเป็นประเทศที่ 35 ของโลก ที่พบผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 1 ล้านคน ส่วนที่อังกฤษ คณะกรรมาธิการด้านการฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันของรัฐบาลอังกฤษ หรือเจซีวีไอ อยู่ระหว่างพิจารณาลดปริมาณโดสของวัคซีนเข็มสาม เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน หลังรัฐบาลอาจอนุมัติให้เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนเข็มสาม หรือบูสเตอร์โดส ประมาณต้นเดือน ก.ย.นี้ พร้อมเผยด้วยว่าเจซีวีไอ อยู่ระหว่างรอผลทดสอบด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงจากการฉีดเข็มสามแบบลดปริมาณ