โดรน...เทคโนโลยีที่ไม่ได้มีไว้แค่สำหรับถ่ายรูปมุมสูง หรือใช้เฉพาะทางการทหารเท่านั้น หลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้ว สามารถเข้ามาช่วยปฏิวัติการทำงานของหลายๆอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาควิศวกรรมสำรวจ และภาคภูมิศาสตร์
ล่าสุดยังถูกพัฒนาขีดความสามารถเพื่อนำไปใช้กู้ภัยในเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่
“เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการทำเกษตรกรรม เพื่อก้าวสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้ แนวคิดทำโดรนเกษตรเพื่อชุมชนจึงเกิดขึ้น เราจึงได้เริ่มต้นทำแพลตฟอร์มสำหรับการจัดหาโดรนเข้าไปใช้ในการทำการเกษตรให้แก่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID) จังหวัดอุบลราชธานี”
ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโดรนชุมชน บริษัท นวัตกรรมเพื่อสังคมและเทคโนโลยีเกษตร จำกัด บอกถึงที่มาของโดรนชุมชนที่กำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้เข้าไปช่วยให้การทำเกษตรมีความแม่นยำ ช่วยคำนวณปริมาณสารเคมี ปริมาณพันธุ์ข้าวที่จะใช้ต่อไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมี
...
และในอนาคตโดรนจะมีความสำคัญและบทบาทมากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้โดรนในระบบขนส่ง โลจิสติกส์ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ว่าจะเป็นกล่องพัสดุ เวชภัณฑ์ยา โดยในอนาคตน่าจะถูกพัฒนาให้แม่นยำ มีความทนทานที่จะส่งของหนักได้ หรือใช้โดรนเพื่อซ่อมแซม บำรุงแผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้สามารถซ่อมแซมได้ตรงจุดและปลอดภัย สอดรับกับอนาคตที่ไทยจะหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านแรงงานที่กำลังขาดแคลนในปัจจุบัน
ด้าน นายกฤตธัช สารทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโนวี่ (2018) จำกัด อีกหนึ่งสตาร์ตอัพ ที่เข้าร่วมโครงการ UAV Startup 2017 ที่จัดขึ้นโดย NIA และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มองไปในทิศทางเดียวกัน...ในอนาคตโดรนจะสามารถเข้าไปช่วยทำให้ระบบการทำงานในภาคส่วนต่างๆเกิดความคล่องตัว รวดเร็ว แม่นยำ และช่วยลดความสูญเสียได้มากยิ่งขึ้น โดยหลังจากได้เข้าร่วมโครงการ ทีมก็ต่อยอดและพัฒนาโดรนสำหรับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตรมาจนปัจจุบัน
“ปัจจุบันโดรนของโนวี่สามารถให้ บริการภาคการเกษตรได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการพ่นยา พ่นปุ๋ย ช่วยให้กระบวนการการทำการเกษตรสะดวกรวดเร็ว ประหยัดการใช้แรงงานคนได้มาก เพราะโดรน 1 ตัว สามารถทำงานได้เร็วกว่าแรงงานคนถึง 10 เท่า”
นายกฤตธัช ยังมองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โดรนจะเข้าไปมีบทบาทกับภารกิจอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโดรนในระบบโลจิสติกส์ โดรนเพื่อการขนส่ง แท็กซี่โดรน หรือแม้แต่กระทั่งโดรนกู้ภัยพิบัติต่างๆ เพราะการใช้โดรนหรือหุ่นยนต์กู้ภัยสามารถช่วยลดความสูญเสียจากการเข้าไปทำงานในจุดเสี่ยงอันตราย จากประโยชน์อันหลากหลายนี้ ทางทีมจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้โดรนสามารถทำงานแทนเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกิจกรรมต่างๆ และพร้อมเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มภาคสังคมในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างเช่นที่ผ่านมา.
...
กรวัฒน์ วีนิล