เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษาของ ศธ. และรัฐบาล
โดย น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติในปัจจุบัน ศธ.ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงคุณครู ศธ.จึงได้ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครองทั่วประเทศ มาตรการที่ 1 การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.นี้ มาตรการที่ 2 อินเตอร์เน็ตฟรีใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเตอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท เป็นเวลา 2 เดือน และมาตรการที่ 3 ลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32%
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หลังจากสถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ ดังนั้น วิธีการวัดผลประเมินผลที่ให้เลือกคำตอบ ที่ถูกต้อง ก ข ค ง จึงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม ต้องมีการปรับรูปแบบการทดสอบให้เกิดความยืดหยุ่น ผ่านใบงาน การปฏิบัติ แฟ้มสะสมงานแทน เป็นต้น ส่วนภาคเรียนที่ 2 ซึ่งเป็นการสอบเพื่อเลื่อนชั้นและจบการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 หากไม่มีการวัดและประเมินผลด้วยการสอบก็จะไม่มีคะแนนใช้ศึกษาต่อได้ ดังนั้น เราต้องไม่ทำให้เด็กช่วงชั้นเหล่านี้เสียสิทธิ์ แต่ต้องหาวิธีการวัดและประเมินผลที่ยืดหยุ่น.
...