เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดการก่อสร้าง โรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรในประเทศไทย เป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานพลาสติกชีวภาพ คืออะไร และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

ทั้งนี้ บริษัท GC International Corporation บริษัทย่อยของ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC และ Cargill Incorporated ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 50 ในบริษัท Nature Works LLC ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในการสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก ภายใต้การสนับสนุนของ บีโอไอ เนื่องจากเป็นโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่สำคัญคือจะเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด

รายละเอียดตามที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีทีที โกลบอล เคมิคอล ชี้แจง ประเทศไทยเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์และผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความสมดุลและการเติบโตไปข้างหน้าในมิติความเป็นมิตรระหว่าง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายคือการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนของโลก

โรงงานพลาสติกชีวภาพ ครบวงจร ใช้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลก ใช้น้ำตาลจากอ้อย ที่ปลูกโดย เกษตรกรในประเทศ เป็นวัตถุดิบ ข้อแรกเลยเป็นการขยายฐานพันธมิตรในตลาด Bio-Polymer เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะใช้วัสดุที่ยั่งยืน

โครงการนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นครสวรรค์ ไบโอ คอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ เป็นโครงการนำร่องที่จะยกระดับการแข่งขัน ตามนโยบายรัฐบาลที่จะขยายโอกาสทางการค้าร่วมกับพันธมิตรในเวทีโลก

การผลิตพลาสติกชีวภาพโพลีแลคติก แอซิด PLO ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อการค้า Ingeo เป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลายอยู่แล้ว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการเกษตรในประเทศ ยังเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ ตอบสนองการขยายตัวของตลาด ที่คาดว่าจะเห็นผลในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567

...

เนื่องจาก พลาสติกชีวภาพเป็นพลาสติกโพลิเมอร์ ที่สามารถย่อยสลายได้ นำไปใช้งานหลากหลายประเภท เช่น ถุงชา แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยในงานพิมพ์แบบสามมิติ เส้นใยผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้งานในบ้าน เป็นต้น

คาดว่าจะใช้วัตถุดิบน้ำตาลจากอ้อยของเกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 110,000 ตัน และจะมีกำลังการผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพที่ 75,000 ตันต่อปี เป็นโรงงานแห่งแรกของโลกที่ออกแบบมาให้บูรณาการรวมกันอย่างสมบูรณ์ โดยกระบวนการผลิตและการใช้พลังงานตอบสนองความต้องการสำหรับวัสดุยั่งยืนในตลาดโลก ทั้งปัจจุบันและอนาคต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th