ระบบไม่เสถียร สร้างสำนึกใหม่ พื้นฐานด้านสาธารณสุขของไทยนั้นถือว่ามีการวางระบบจนเป็นรากฐานที่ทำให้มีความแข็งแกร่งจนติดอันดับต้นๆของโลก
ที่สำคัญก็คือการเข้าถึงหมอเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
30 บาท รักษาทุกโรค ที่เริ่มต้นในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ
ระบบ อสม. เป็นกลไกสำคัญที่ไม่มีประเทศใดเหมือน
การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้นมานั้นคือปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพ
เพราะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบที่มีความเสียสละและความสามารถจนได้รับการยกย่องนับหน้าถือตาได้
เป็นคุณูปการสำคัญที่ทำให้ยืนระยะอยู่ได้
แต่ทุกอย่างก็ต้องได้รับการพิสูจน์ว่า “ของจริง” หรือเปล่าเมื่อต้องเจอกับปัญหาใหญ่และหนักอย่างการระบาดของเดลตา (อินเดีย)
ที่ยังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นรายวัน
ที่สำคัญก็คือทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยที่ว่าแน่ๆ แทบพังทลายเอาเลยทีเดียว เนื่องจากปัญหาการบริหารและจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะความขัดแย้งในวงการแพทย์ที่เป็นเรื่องใหญ่อยู่ในเวลานี้ แม้แรกยังสงวนท่าทีไม่ค่อยแสดงออกให้สังคมได้เห็น
ใครล้ำเส้นมากไปหน่อยก็จะได้รับการทักท้วง ท้วงติง ปรามเพื่อให้นำไปคิดไตร่ตรอง เพื่อหาวิธีที่เหมาะสม
แต่ระยะหลังไม่มีใครสนใจใครกันแล้ว...
โดยเฉพาะปัญหาละเอียดอ่อนอย่างเรื่องวัคซีนตั้งแต่ไม่มีของจนกระทั่งมีของแต่จัดสรรขัดหูขัดตาและความรู้สึก
“หมอ” กับ “หมอ” ก็เลยออกมาฟาดฟันกันเอง
...
ทั้งๆที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นมา เพราะแค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนก็เดือดร้อนสาหัสอยู่แล้ว แต่ “หมอ” ซึ่งได้รับความนับหน้าถือตา
กลับมาทะเลาะกันเอง...แล้วชาวบ้านจะพึ่งใครได้
มีเสียงพูดกันมาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นก็เพราะ “นักการเมือง” เข้าไปเกี่ยวข้องสั่งการจนทำให้ทุกอย่างเละไปหมด
ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องจริง...
แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงกันว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพจริง
ยังเป็น “ภาพลวงตา” มากกว่า
โดยเฉพาะบุคลากรส่วนใหญ่ แม้จะมีดีมีคุณภาพ แต่อีกหลายส่วนก็ยังไม่ถึงมาตรฐานที่ควรจะเป็น
เพราะโควิด-19 ระบาดครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
ทั้งๆที่โควิด-19 เป็นเหตุใหญ่ และท้าพิสูจน์ระบบและบุคลากร
แต่เอาเข้าจริงยังสอบไม่ผ่านเลย...
“สายล่อฟ้า”