กลายเป็นวิวาทะสำคัญในวงการแพทย์ หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตัดสินใจจัดซื้อชุดตรวจโควิด ที่เรียกว่า “เอทีเค” จากประเทศจีน 8.5 ล้านชุด ในราคา 600 ล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลแจกให้ประชาชน ตามโครงการตรวจหาโควิด-19 โครงการพิเศษของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

อภ.ยืนยันว่าชุดตรวจเอทีเค ที่ตกลงจะซื้อจากบริษัทเลอผู่ของจีนผ่านการตรวจสอบมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยแต่มีเสียงคัดค้านจากกรมแพทย์ชนบท ระบุว่าต้องการชุดตรวจที่มีคุณภาพและมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อใช้แทนวิธีการตรวจเดิม ที่จะต้องใช้เวลาถึง 2 วันจึงรู้ผล

ทำให้การรักษาผู้ป่วยล่าช้า กลายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก หรือเสียชีวิตมากขึ้น พร้อมทั้งชี้ว่า อภ.ให้ราคาถูกสุดเป็นเกณฑ์ตัดสิน และยี่ห้อที่ อภ.เลือกซื้อมีข้อกังขา ในเรื่องความแม่นยำมากที่สุด องค์การอาหารและยา (อย.) สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับ สั่งให้บริษัทจีนเรียกคืนกว่า 8 ล้านชุด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ความเห็นของชมรมแพทย์ชนบทตรงกับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานคณะทำงานกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีชุดตรวจเอทีเคเพียง 2 บริษัทที่องค์การอนามัยโลกรับรอง ได้แก่ เอ็มพีกรุ๊ปกับบริษัทแอบบอท ไม่มีชื่อบริษัทจีน

คณะทำงานเสนอต่อเลขาธิการ สปสช. ให้ซื้อเอทีเคจากเอ็มพีกรุ๊ป ที่ผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลกในราคาชุดละ 140 บาท ด้วยวิธีจัดซื้อพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะนี้ อภ.ชะลอการจัดซื้อไว้ก่อนและอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของ สปสช. เพื่อให้ใช้ชุดตรวจที่ได้มาตรฐานสากล

แต่จะต้องรีบตัดสินใจโดยเร่งด่วน เพราะขณะนี้โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและร้ายแรง มีผู้ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นคน เสียชีวิตกว่าร้อยคน บุคลากรด้านการแพทย์อ่อนล้า ขาดเตียงรับผู้ป่วยรายใหม่ๆ มีผู้ติดเชื้อยกครัวและตายในบ้าน แทบจะเป็นรายวัน นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือน 100 วันอันตราย

...

ใน 100 วันข้างหน้า อาจมีผู้ติดเชื้อถึง 35 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากรไทยอาจเสียชีวิตถึง 3 หมื่นคน จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดกว่า 40 ล้านคน การเร่งตรวจด้วยเอทีเคเป็นมาตรการหนึ่งที่จะนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาให้ทันกาล แต่การจัดซื้อเอทีเคจะต้องโปร่งใส ขอให้ดูการจัดซื้อวัคซีนเป็นบทเรียน.