ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก อุตสาหกรรมอาหารทะเลสร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจไทยมหาศาลกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี¹ แต่ชีวิตของแรงงานยังคงเผชิญความยากลำบากในหลายมิติ และยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีกในวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 สาเหตุหลักมาจากปัญหาค่าจ้างต่ำ ไม่เพียงพอต่อความอยู่รอด และการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการรูปแบบต่างๆ ยิ่งหากแรงงานผู้หญิงด้วยแล้ว ยิ่งลำบากกว่าแรงงานผู้ชาย จนกล่าวได้ว่ามีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ที่สุด
Summary:
● แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยประสบปัญหาค่าแรงไม่เพียงพอต่อการมีชีวิตรอด ส่วนใหญ่ (58%) มีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน (ค่าแรงขั้นต่ำรายวัน X 30 วัน)
● การจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ เช่น สัญญาปากเปล่า ทำงานไม่เป็นเวลา ฯลฯ เพิ่มความไม่แน่นอนทางรายได้ของแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างทำของที่จ่ายตามน้ำหนักหรือปริมาณที่แรงงานทำได้
● 80% ของแรงงานผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน และน้อยกว่าแรงงานผู้ชายราว 3,000 บาทต่อเดือน หลายคนไม่ได้สิทธิลาคลอด
“ฉันขายมอเตอร์ไซค์ได้เงิน 20,000 บาท เตรียมเอาไว้คลอดลูก วิธีการเดินทางตอนนี้ฉันปั่นจักรยานเอา ตอนจะคลอด ฉันคิดว่าต้องนั่งรถเมล์ไป”
“ปกติคลอดลูกในไทย ถ้าไม่ผ่าคลอดก็ใช้เงินราวๆ 10,000 บาท แต่ฉันต้องผ่าคลอดด้วย เลยกลัวว่าเงินที่เตรียมไว้จะไม่พอ ถ้าเป็นแบบนั้นอาจจะต้องยืมเพื่อน ... ตั้งแต่ฉันตั้งท้องก็ไปทำงานไม่ไหวเลยต้องลาออก แล้วกลัวว่าถ้าต้องเลี้ยงลูกในไทยค่าใช้จ่ายจะสูง ไม่อยากให้เป็นภาระของสามี เลยตั้งใจว่าจะกลับบ้านไปคลอดลูกที่เมียนมา แต่ชายแดนก็มาปิดอีก สุดท้ายก็เลยจำเป็นต้องคลอดลูกที่ไทย”
- เฮมา หญิงชาวเมียนมาวัย 26 ปี
เรื่องราวข้างต้นเป็นชีวิตของ เฮมา แรงงานข้ามชาติหญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย เธอเดินทางจากบ้านเกิดมาเพื่อมองหาอนาคตที่ดีกว่าในประเทศไทย แต่สิ่งที่เธอเล่ากลับทำให้เราเห็นภาพของชีวิตภายใต้ระบบที่เต็มไปด้วยช่องว่างและความเหลื่อมล้ำมากมาย
แง่มุมเล็กๆ ที่เฮมาเผยข้างต้น เป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนภาพใหญ่ของปัญหาค่าแรงและคุณภาพชีวิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยได้เป็นอย่างดี
แม้ปัจจุบันปัญหาบางจุดได้รับการแก้ไขจนทำให้ใบเหลือง IUU ถูกยกเลิกไป แต่คุณภาพชีวิตในความเป็นจริงของแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้จริง มีความไม่แน่นอนและไม่เท่าเทียมสูง และเมื่อเกิดภาวะวิกฤติอย่างโรคระบาดโควิด-19 ชีวิตของพวกเขาที่ยากลำบากอยู่แล้วก็โดนซ้ำเดิมให้ตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นไปอีก
แรงงานข้ามชาติได้ค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพมีการจ้างงานที่ไม่แน่นอน
เรื่องราวของเฮมามาจากรายงานวิจัยชีวิตไม่มั่นคงและโรคระบาด : บทสำรวจปัญหาค่าจ้างและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย จัดทำโดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition) จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาค่าแรงและคุณภาพชีวิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยภายใต้บริบทปัจจุบันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิจัยชิ้นนี้ทำการสำรวจแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเล 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1. กลุ่มประมง (Fishing) ได้แก่ แรงงานในเรือประมง
2. กลุ่มประมงต่อเนื่อง (Pre-processing) ได้แก่ แรงงานที่ท่าเรือ ตลาดกุ้ง ล้งปลา ล้งกุ้ง เป็นต้น
3. กลุ่มโรงงานแปรรูปอาหารทะเล (Processing Factory) ได้แก่ แรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลประเภทต่างๆ
4. กลุ่มฟาร์มกุ้ง (Shrimp Farming) ได้แก่ แรงงานในฟาร์มกุ้ง
เมื่อรวมทั้ง 4 กลุ่ม มีผู้ได้รับการสำรวจจำนวน 588 คน (ชาย 316 คน หญิง 272 คน) จาก 8 จังหวัด (ระยอง สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี พังงา สตูล ระนอง) โดยมีสัดส่วนเป็นชาวเมียนมา 78% และชาวกัมพูชา 22% นอกจากนั้น รายงานนี้ยังได้สัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานอาหารทะเลอีก 21 คนในเดือนมกราคม 2564 ที่จังหวัดสมุทรสาคร
เป็นที่ทราบกันดีว่าแรงจูงใจสำคัญของแรงงานข้ามชาติคือการหนีความยากจนในประเทศบ้านเกิดมาหางานที่มีรายได้เพียงพอจะเลี้ยงตัวเองและส่งกลับไปยังครอบครัว อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจนี้กลับเป็นการเสี่ยงโชคอยู่พอสมควร เพราะเมื่อดูจากผลสำรวจพบว่ามีแรงงานเกินครึ่งหรือ 58% มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน (ค่าแรงขั้นต่ำรายวัน X 30 วัน)
กฎหมายแรงงานของไทยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายวันเอาไว้ โดยไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติ ครอบคลุมทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยกำหนดไว้ที่ระหว่าง 313-336 บาทต่อวันแล้วแต่จังหวัด นี่เป็นจำนวนเงินที่รัฐไทยมองว่าเป็นขั้นต่ำที่สุดที่จะทำให้แรงงานหนึ่งคนมีชีวิตรอดได้ในแต่ละวัน ดังนั้น การที่แรงงานจะมีรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายแต่ละเดือน เท่ากับการนำค่าแรงขั้นต่ำรายวันมาคูณ 30 วัน ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือนเฉพาะในกลุ่มจังหวัดที่งานวิจัยนี้ทำการสำรวจ อยู่ที่ระหว่าง 9,390-10,050 บาทต่อเดือน หรือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9,699 บาทต่อเดือน”
ขณะที่ผลสำรวจรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยแบ่งเป็นกลุ่ม พบว่าแรงงานประมงมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 11,365 บาท ฟาร์มกุ้ง 10,757 บาท แปรรูปอาหารทะเล 8,423 บาท และประมงต่อเนื่อง 7,839 บาทเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าแรงงานประมงเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างต่อเดือนสูงที่สุด เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2561” ที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเป็นแบบรายเดือน ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำคูณด้วย 30 วัน และให้จ่ายโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้างโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้ค่าแรงกลุ่มประมงจะมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองแล้ว แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ซึ่งอาจสูงได้ถึง 14 ชั่วโมงต่อวันหรือมากกว่า จึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับมีความสมเหตุสมผลแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น กฎกระทรวงดังกล่าวประกาศออกมาในช่วงที่ไทยพยายามแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายเพื่อปลดล็อกจากการได้ใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรป มันจึงไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมักจะได้รับค่าจ้างรายวัน ไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน ส่งผลให้เกิดช่องว่าง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงต่อตัวแรงงาน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำเพียงพอสำหรับการดำรงชีพตนเองในหนึ่งวันเท่านั้น ยังคงมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ลักษณะการจ้างงานแรงงานอาหารทะเลกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประมงนั้น พบว่ามีการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการอยู่มาก เช่น การใช้สัญญาปากเปล่า การให้ทำงานไม่เป็นเวลา ไม่มีการการันตีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน ฯลฯ ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 เห็นได้ชัดว่าจำนวนวันทำงานลงอย่างมาก แรงงานบางคนเหลือแค่ 2 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างแค่นั้นซึ่งไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ อีกทั้งกฎหมายไทยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องมีนายจ้างเพียงรายเดียวระบุในใบอนุญาตการทำงาน ทำให้แรงงานรับงานกับนายจ้างอื่นเพื่อหารายได้เสริมไม่ได้ หากแอบทำเพื่อหารายได้เพิ่มก็มีความเสี่ยงทางกฎหมายเพิ่มขึ้น
การจ้างงานแบบไม่เป็นทางการที่เป็นปัญหามากอย่างหนึ่งคือการจ้างงานในลักษณะ “จ้างทำของ” (Piece Work) คือการที่นายจ้างจ่ายตามน้ำหนักหรือตามปริมาณที่แรงงานผลิตหรือแปรรูปได้ การจ้างงานลักษณะนี้มีความไม่แน่นอนทางรายได้สูงมาก และเป็นการผลักภาระและการรองรับความเสี่ยงเกือบทั้งหมดไปให้แรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มประมงต่อเนื่องที่มีสัดส่วนการจ้างงานแบบการจ้างทำของมากถึง 33% รองลงมาคือกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล มีสัดส่วนอยู่ที่ 14%
"ในช่วงที่ปกติ ถ้าฉันทำงานครึ่งเดือนก็จะได้ค่าแรง 4,000-4,500 บาท แต่ช่วงหลังนี้มีงานให้ทำน้อยมาก ตอนนี้ฉันทำงานครึ่งเดือนได้เงินแค่ 600-800 บาทเท่านั้น โชคดีสามีของฉันยังมีงานที่โรงงาน เราเลยยังพอมีเงินซื้อข้าวกิน แต่ฉันก็เห็นหลายคนได้กลับไปทำงานตามปกติแล้ว เลยสงสัยว่าทำไมฉันยังไม่ได้กลับไปทำงานแบบคนอื่นบ้าง"
โซ หญิงวัย 45 ปี หนึ่งในแรงงานของโรงงานแปรรูป บริษัทที่เธอทำงานด้วยนั้นได้หยุดการผลิตนานกว่าหนึ่งเดือนระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาด และไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างในช่วงหยุดงาน
ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นเครื่องฉุดรั้งที่ทำให้แรงงานไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือก้าวพ้นความยากจนได้อย่างที่หวัง เมื่อมีรายได้ไม่มั่นคง และไม่เป็นธรรม พวกเขาก็ไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ ทำได้เพียงรอรับเงินค่าจ้างไปเรื่อยๆ หาเช้ากินค่ำ เหลือเงินออมน้อยนิด และไม่สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงสถานการณ์โควิด หนำซ้ำหลายคนก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากนายจ้าง ถูกปล่อยให้รับมือกับวิกฤติเพียงลำพัง
ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ยิ่งซ้ำเติมแรงงานผู้หญิง
ลำพังปัญหาค่าจ้างไม่พอเลี้ยงชีพก็เป็นอุปสรรคสำคัญอยู่แล้ว แต่ปัญหาทั้งหมดยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มแรงงานผู้หญิง ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วย “ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ”
ปัญหาช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศจะเกิดขึ้นทั่วโลกในแทบทุกอุตสาหกรรม และแม้จะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ช่องว่างที่ว่าก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นในประเด็นนี้แต่อย่างใด
รายงานฉบับนี้พบว่าแรงงานที่เป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน หรือราว 30% และเมื่อแยกตามกลุ่มแรงงาน (ยกเว้นกลุ่มประมงที่เป็นผู้ชายทั้งหมด) โดยพบว่ากลุ่มที่ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศน้อยที่สุดคือกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งผู้หญิงได้รับค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย 13% รองลงมาคือกลุ่มฟาร์มกุ้ง 30% และกลุ่มประมงต่อเนื่องที่มักจะมีรูปแบบการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการมากที่สุด มีช่องว่างถึง 41% เลยทีเดียว
ในภาพรวม แรงงานผู้ชายที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือนมีสัดส่วนอยู่ที่ 38% ขณะที่แรงงานผู้หญิงที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือนมีสัดส่วนมากถึง 80% เลยทีเดียว ในกรณีของแรงงานฟาร์มกุ้งที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนที่สูงถึง 10,757 บาทตามที่ระบุข้างต้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแรงงานกลุ่มนี้มีสัดส่วนผู้หญิงที่เราสำรวจเพียงแค่ 38% นั่นเอง ต่างจากกลุ่มที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่ำที่สุดคือกลุ่มประมงต่อเนื่องที่มีสัดส่วนผู้หญิงสูงถึง 68%
ที่น่าวิตกไม่แพ้กันคือปัญหาการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลอดและดูแลลูก และปัจจัยนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานหญิงจำนวนหนึ่งต้องออกจากงานหลังตั้งครรภ์ หลายคนต้องขายทรัพย์สินส่วนตัว หรือเป็นหนี้ยืมสิน เพื่อเตรียมเงินสำหรับการคลอดและดูแลลูก เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยความไม่เป็นธรรมในหลายมิติเช่นนี้ คงไม่ผิดมากนักถ้าจะบอกว่าแรงงานผู้หญิงเป็นแรงงานที่มีคุณภาพชีวิตแย่ที่สุด
อย่ามองแรงงานเป็นแค่ฟันเฟืองทางธุรกิจ ควรจ่ายค่าแรงให้เป็นธรรม
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความสนใจและแรงสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นจริงคือแนวคิด “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” (Living Wage)
โดยทั่วไปการประเมินค่าจ้างขั้นต่ำถูกคำนวณจากพื้นฐานว่า “เงินเท่าไหร่จึงจะเพียงพอต่อการใช้ประทังชีวิต” อย่างไรก็ตาม การคำนวณแบบนี้เริ่มถูกมองว่าไม่สมเหตุสมผล และค่าแรงพื้นฐานที่แท้จริงควรถูกประเมินโดยอิงจาก “เงินที่จะทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
สำหรับในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการใช้แนวคิด “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ทำให้เราเห็นภาพได้ง่ายว่าการจ่ายเงินค่าจ้างในระดับที่ให้แรงงานมีชีวิตรอดเท่านั้น คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อให้แรงงานไม่ถูกมองเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในระบบอุตสาหกรรม แต่เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคม รูปแบบการคิดค่าจ้างจึงควรจะถูกปรับปรุงให้อยู่ในระดับที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“แม้ปัจจุบัน วิธีการคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิต จะยังเป็นที่ถกเถียงและยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ทาง CSO Coalition มองว่าการรับประกันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายเดือนจะเป็นบันไดขั้นแรกที่สามารถนำไปสู่การพูดคุยเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้แรงงานอาหารทะเลไทย ตลอดจนแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และที่สำคัญ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้จริงในอนาคต”
ทั้งนี้ CSO Coalition ยังมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการปรับปรุงการจ้างงานดังนี้
ข้อเรียกร้องต่อภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย :
พัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการให้แรงงานทุกคนได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนเป็นอย่างน้อยที่สุด, แจ้งข้อกำหนดและเงื่อนไขการทำงานให้แรงงานเข้าใจก่อนเซ็นสัญญา แรงงานควรได้รับสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีภาษาของประเทศตนเอง มีการระบุเงื่อนไขและสภาพการจ้าง และได้รับสำเนาของสัญญาจ้างงานเก็บไว้ ให้สิทธิและความช่วยเหลือเกี่ยวกับการคลอดลูกแก่แรงงานผู้หญิง
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย :
กำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นรายเดือนแทนที่รายวัน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน, พิจารณาจำนวนค่าแรงขั้นต่ำใหม่ โดยให้ความสำคัญกับหลักประกันว่าแรงงานจะมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว, กวดขันต่อการตรวจสอบภาคธุรกิจไม่ให้เกิดการเอาเปรียบแรงงาน, สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่การจ้างงานแบบเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงการมีสัญญาจ้างงาน และช่วยเหลือด้านรายได้แก่แรงงานที่รับจ้างอย่างไม่เป็นทางการ