รัฐบาลยัน พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ยังไม่สะเด็ดน้ำ รอรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายก่อน ส่วนปัญหาวัคซีนไฟเซอร์ส่งไม่ครบ จบด้วยดีเมื่อมีการส่งเพิ่มให้ตามโควตา ขณะที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายวัน แม้ต่ำกว่า 2 หมื่นรายและรักษาหายแซงหน้าผู้ติดเชื้อใหม่ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง แต่ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตพุ่งทำนิวไฮถึง 235 ศพ พบหญิงท้องตายด้วย 1 ป่วยอาการหนักเพิ่มพรวดเป็นกว่า 5,450 คน พบเชื้อเดลตามาครบเกือบทุกจังหวัด เว้นสุพรรณบุรี ด้าน “หมอประสิทธิ์” หวังติดเชื้อลดได้ใน ก.ย.-ต.ค.เมื่อฉีดวัคซีนได้มากขึ้น
ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตากรณีรัฐบาลเล็งออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พบว่า ครอบคลุม ถึงผู้จัดหาและบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเข้ามาตามที่เคยระบุ ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตรายวันต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก
“วิโรจน์” จี้ “เสี่ยหนู” อย่าฟอกเหมาเข่ง
...
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 ส.ค.ที่พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงกรณีรัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า พรรคยืนยันว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค.รัฐบาลหรือคำสั่งของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข จะต้องได้รับการปกป้องให้ไม่ต้องรับผิด และสิ่งที่ได้เห็นจากการชี้แจงทั้งหมดของนายอนุทิน คือการเอาบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า มาเป็นข้ออ้างเหมาเข่งนิรโทษกรรมให้รัฐบาล ทั้งสิ้น บุคคลในระดับนโยบายควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่ากลัว ถ้าไม่คิดว่าตัวเองทำอะไรผิดต่อการทำให้วันนี้มีผู้ป่วยกว่า 800,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย การงุบงิบรวบรัดตัดตอนออกเป็น พ.ร.ก.สะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากล เป็นพฤติกรรมเยี่ยงคณะรัฐประหารที่อ้างความดีและขี้ขลาดหวาดกลัวในข้อเท็จจริง หากเขียนเพื่อให้บุคลากรด่านหน้าสบายใจ ควรออกเป็น พ.ร.บ.ต้องเขียนขอบเขตให้ชัดเจนว่าบุคลากรด่านหน้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับผู้ออก
นโยบายที่จะจำกัดความรับผิด
สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการออกกฎหมายและระเบียบชดเชยเยียวยาประชาชนที่ตาย หรือเพื่อเลี้ยงดูฟูมฟักเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ต่างหาก แต่รัฐบาลนี้ไม่ทำ กลับไปกลัวประชาชนจะฟ้องร้องความรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งนี่จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายอีกเส้นที่จะเผาไหม้รัฐบาลประยุทธ์เอง
หวดออก พ.ร.ก.กลบแก้โควิดเหลว
ขณะที่ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ แม้หัวข้อกฎหมายจำกัดไว้เพียงบุคลากรสาธารณสุข แต่มีจุดมุ่งหมายรวมการนิรโทษกรรมเหมาเข่งให้รัฐบาลหรือไม่ เปิดดูเนื้อหาสอดไส้การจำกัดความผิดรวมถึงบุคคล คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน หมายถึง รัฐบาล ศบค.ทั้งองคาพยพและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่รัฐบาลบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว จัดหาวัคซีน ล่าช้า ส่อทุจริตไม่โปร่งใส ทำได้ดีอย่างเดียวคือใช้ กฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องความผิดตัวเองและพวกพ้อง วัคซีนไฟเซอร์บริจาคจากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดส ควรครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าตัวจริง ไม่ปล่อยให้สังคมตั้งคำถาม ทวงถามวัคซีน ไฟเซอร์ที่ได้มาเพียงพอกับแพทย์หรือไม่ รวมถึงกรณีสังคมสงสัย จ.บุรีรัมย์ได้รับจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เป็นอันดับ 3 ทั้งที่ไม่ใช่จังหวัดผู้ติดเชื้อมากสุด แต่ รมว.สาธารณสุขใกล้ชิดมากที่สุดใช่หรือไม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุขต้องชี้แจง
ภท.โต้บิดเบือนไม่มีนิรโทษฯ
ด้าน นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงว่าฝ่ายการเมืองตรงข้ามนำเสนอความจริงแค่บางส่วนเพื่อด่ารัฐบาล พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาเพื่อปกป้องคนทำงาน ให้มั่นใจในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ฝ่ายการเมืองไปตีความโดยมีอคติบังตา ทำให้สังคมเข้าใจผิด จนกระทบกับคนทำงานด้วย หาว่าออกมาเพื่อละเว้นความผิดให้ฝ่ายการเมืองเพียงไม่กี่คน เหนืออื่นใดกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ถูกผลักดันโดยฝ่ายการเมือง เกิดจากแพทย์ พยาบาลที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ไม่มียาตรงตัว ไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่นอน เวลาปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านทำเต็มที่ แต่มีความกังวล เมื่อมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้ามา สธ.จึงตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย มีกรม (สบส.) สนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลัก ดูแลหาทางช่วยเหลือให้คนทำงานได้มั่นใจ เรื่องมีอยู่แค่นี้
ยังไม่มีข้อสรุป พ.ร.ก.จำกัดผิดฯ
จากนั้นในช่วงบ่าย ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แล้วได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนถึงกรณีมีเสียงคัดค้านการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ซึ่งนายอนุชายืนยันว่า ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ต้องรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนก่อน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และยังต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูในรายละเอียด ตอนนี้ยังไม่มีการพิจารณาอะไร และกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ส่งเรื่องมา ต้องหารือกันอีกหลายส่วนเพื่อความรอบคอบต่อไป
ครม.อัดงบ สธ.-ฉีดวัคซีนสู้โควิด
...
นอกจากนี้ นายอนุชายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ได้อนุมัติงบกลาง 12,669,218,318 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ค่าล่วงเวลา (OT) ค่าตอบแทนคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา บุคคลภายนอก ค่าใช้สอยและค่าจ้างเหมาบริการอื่นๆ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.64 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขขอขยายระยะเวลาปฏิบัติงานแก้ปัญหาโควิด-19 จาก 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) เป็น 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) จากเดิมที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ค.อนุมัติวงเงินไว้ 12,576,629,322 บาท ที่ประชุม ครม.ยังได้อนุมัติงบฯวงเงิน 1,877,455,000 บาท กรณีให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกสถานพยาบาล
กฤษฎีกาแจงยังไม่ได้ร่าง พ.ร.ก.ฯ
ด้านนายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ตามที่มีการเสนอข่าวว่าได้มีการเสนอร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ มาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วนั้น สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาขอชี้แจงว่าร่างกฎหมายนี้ไม่มีการเสนอมายังสำนักงานฯ เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแต่อย่างใด
สหรัฐฯให้อีก 5 ล้านเหรียญช่วยไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า วันเดียวกัน เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่คำกล่าวของนางลินดา โทมัสกรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน รพ.เมดพาร์ค ถนนพระราม 4 เนื่องในโอกาสการเยือนไทยระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค.โดยกล่าวตอนหนึ่งว่าในฐานะตัวแทนของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยินดีที่ได้เห็นการดำเนินการของไทยในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯมอบให้ตนได้พบกับบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า พวกเขาได้รับวัคซีนที่เราได้จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสให้ไทยแล้ว เรายังภูมิใจที่จะจัดส่งวัคซีนอีก 1 ล้านโดสให้เร็วๆนี้ และจะมอบความช่วยเหลือ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 165 ล้านบาทให้กับไทย เพื่อสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนและเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทย พร้อมมอบเงินอีก 50 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,650 ล้านบาท ให้ภาคีองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มเปราะบางจากเมียนมา ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น หวังว่าเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยให้ไทย องค์กรนอกภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศสามารถตอบโต้วิกฤตการณ์โควิด-19 และตอบสนองต่อความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนฝั่งไทย
...
ผปค.นร.นานาชาติขอผ่อนผันเปิดสอบ
นอกจากนี้ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายแชน ยิ้มรัตนบวร ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนนานาชาติ ยื่นหนังสือถึง ผอ.ศบค.ขอให้ผ่อนคลายมาตรการอนุญาตให้กลุ่มโรงเรียนนานาชาติใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนจัดสอบวัดความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (SAT) ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ แต่มาตรการ ศบค.ขยายไปถึงวันที่ 30 ก.ย. ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะจัดสอบได้หรือไม่ จึงขอความอนุเคราะห์จาก ศบค.เปิดให้นักเรียนนานาชาติ 2,000 คน ได้สอบ SAT ด้วย
ป่วยใหม่ต่ำ 2 หมื่น ตายพุ่งนิวไฮ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 10 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,843 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,424 คน จากเรือนจำและที่ต้องขัง 398 คน และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 795,951 คน ผู้หายป่วยเพิ่ม 22,806 คน หายป่วย สะสม 578,140 คน อยู่ระหว่างการรักษา 211,223 คน อาการหนัก 5,450 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,106 คน เสียชีวิตเพิ่ม 235 ศพ เป็นชาย 122 คน หญิง 113 คน มากสุดอยู่ใน กทม. 111 ศพ เสียชีวิตที่บ้าน 2 คน อยู่ที่ กทม. และนราธิวาส นอกจากนี้ ยังพบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 คน ที่ จ.ปทุมธานี ทำให้ ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 6,588 คน ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 9 ส.ค. มีการฉีดไป 501,330 โดส ทำให้ ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 21,171,110 โดส
พบคลัสเตอร์ผุดเพิ่ม 9 แห่ง
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 10 ส.ค. ได้แก่ กทม. 4,226 คน สมุทรสาคร 1,639 คน สมุทรปราการ 1,006 คน ชลบุรี 1,005 คน นนทบุรี 959 คน ปทุมธานี 528 คน นครปฐม 509 คน พระนครศรีอยุธยา 396 คน อุบลราชธานี 387 คน สระบุรี 373 คน พบคลัสเตอร์ใหม่ในต่าง จังหวัด 9 แห่ง ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร 3 แห่ง อยู่ใน อ.เมือง 2 แห่งคือ โรงงานไก่แช่แข็ง พบผู้ติดเชื้อ 81 คน โรงงานเซรามิก 28 คน และบริษัท อุปกรณ์ความปลอดภัย อ.กระทุ่มแบน 96 คน โรงงานบรรจุภัณฑ์พลาสติก อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 16 คน จ.ชลบุรี 2 แห่งคือ บริษัทกระดาษแข็ง อ.ศรีราชา 14 คน บริษัทเครื่องปรับอากาศ อ.เมือง 20 คน จ.พระนครศรีอยุธยา 2 แห่งคือ โรงงานขนมขบเคี้ยว อ.อุทัย 26 คน บริษัทอุปกรณ์การแพทย์ อ.เสนา 14 คน บริษัทเคมีภัณฑ์ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี 16 คน
...
ยันได้ไฟเซอร์ตามเกณฑ์ทุกคน
จากนั้นที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ลอตที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า กระทรวงเริ่มส่งวัคซีนลอตแรก วันที่ 3 ส.ค. ถึงพื้นที่ 4 ส.ค. เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นเข็มที่ 1 สำหรับกลุ่มเสี่ยงเข็ม 1 ที่ยังไม่ได้ วัคซีน ยืนยันว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทุกคนจะได้รับตามเกณฑ์ อย่ามองว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคในการเข้าถึง เพราะต้องมีการพิจารณาหลักวิชาการว่า กรณีใดบ้างที่เหมาะสมในการฉีด ข้อมูลนี้จะประกอบกับการสำรวจผู้ต้องการรับวัคซีนไฟเซอร์ของทุกโรง พยาบาล และวัคซีนไฟเซอร์ต้องมีการเตรียมการ มีการผสมวัคซีน จึงต้องมั่นใจว่าเตรียมการพร้อม บุคลากรที่ยังไม่ได้วัคซีนจากการส่งไปลอตแรกนี้ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ส่วนคลินิกให้แจ้งที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจะจัดส่งวัคซีนไปให้ ยืนยันว่าไม่ตกหล่น และตรวจสอบได้
จัดเพิ่มให้ รพ.ที่ได้ไม่ครบ
นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า กรณี รพ.สนามธรรมศาสตร์ และ รพ.ขอนแก่น บุคลากรทางการแพทย์ออกมาระบุว่า ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไม่เพียงพอตามจำนวน ขณะนี้จัดส่งไปครบถ้วนแล้ว การจัดส่งรอบ แรกอาจมีตกหล่น จะจัดส่งรอบใหม่เพิ่มเติม อย่าเพิ่งด่วนสรุป หรือเสียกำลังใจ ส่วนจังหวัดอื่นๆที่ได้รับ วัคซีนน้อยกว่าจำนวนรายชื่อที่ส่งมานั้น ในรอบแรกที่จัดส่งนั้น เกณฑ์การจัดสรร จะพิจารณาจากฐานข้อมูลว่ามีบุคลากรฉีดวัคซีนอยู่เท่าไร จากนั้นสำรวจจำนวนบุคลากรที่ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ รอบแรกจะส่งให้กับจังหวัดที่ส่งรายชื่อมาตั้งแต่ร้อยละ 50-75 ของจำนวนบุคลากรที่เทียบกับฐานข้อมูล ที่กระทรวงมีอยู่ ส่วนจังหวัดที่ขอมามากกว่าร้อยละ 75 จะจัดส่งให้เพิ่มเติมจนครบทุกคนแน่นอน
ฉีดไฟเซอร์เข็มแรกใน 13 จว.
นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยว่า วันที่ 10 ส.ค. กระทรวงได้จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่ม 608 ไปที่โรงพยาบาลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนยอดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ข้อมูลถึงวันที่ 9 ส.ค. ฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 33,219 โดส ฉีดเป็นเข็มที่ 2 จำนวน 13,622 คน และฉีดเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 82,993 คน รวมมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 129,834 โดส นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนเข้มข้น จะต้องผสมกับน้ำเกลือตามสูตรที่บริษัทกำหนด และเป็นข้อปฏิบัติที่เหมือนกันทั่วโลก สำหรับไทยยืนยันว่าผสมน้ำเกลือ ไม่ใช่น้ำเปล่าอย่างที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยวิธีการผสมวัคซีนนั้น กรมควบคุมโรคมีการจัดอบรมและเผยแพร่คลิปต่างๆ โดยเมื่อใส่น้ำเกลือเข้าไปแล้วจะต้องปรับขวดไปมา 10 รอบช้าๆ เมื่อผสมแล้ว 1 ขวดฉีดได้ 6 คน และ ต้องฉีดให้หมดภายใน 6 ชั่วโมง
วอนกลุ่ม 608 อย่าลังเลรับวัคซีน
นพ.เฉวตสรรยังกล่าวถึงกรณีผู้เสียชีวิตที่มีจำนวน 235 คน ว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกครอบครัวจากข้อมูลผู้เสียชีวิตเป็นการยืนยันองค์ความรู้ของเราว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ อย่าได้ลังเลที่จะไปรับวัคซีน ขณะนี้วัคซีนทุกชนิดที่มีและทั่วโลกใช้มีความปลอดภัยสูง ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
เดลตาครองกรุงเทพฯแล้ว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จากการติดตามจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 31 ก.ค. ถึงวันที่ 6 ส.ค. สุ่มตรวจสายพันธุ์ทั่วประเทศ 1,632 คน พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มากที่สุดตามคาด จำนวน 1,499 คน คิดเป็นร้อยละ 91.9 ตามด้วยสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 129 คน คิดเป็นร้อยละ 7.9 และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 0.2 โดยพบที่ จ.ภูเก็ต 3 คน พัทลุง 1 คน ในจำนวน 1,632 คน เป็นตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1,157 คน พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 1,104 คน คิดเป็นร้อยละ 95.4 สายพันธุ์อัลฟา 53 คน คิดเป็นร้อยละ 4.6 ส่วนภูมิภาค จำนวน 475 คน พบสายพันธุ์เดลตา 395 คน คิดเป็นร้อยละ 83.2 สายพันธุ์อัลฟา 76 คน คิดเป็นร้อยละ 16 สายพันธุ์เบตา พบ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8
เชื้อกระจายครบทุกจังหวัด
“ภาพรวมของประเทศในวันนี้ กล่าวได้ว่า สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดครอบคลุมประเทศ 75 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ยกเว้น จ.สุพรรณบุรี ตัวอย่างที่ส่งมาตรวจอาจยังไม่พบ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อเดลตา ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า เราพบสายพันธุ์เดลตาครบทุกจังหวัดแล้ว และอีกไม่นานผู้ติดเชื้อในประเทศไทยทุกคนก็น่าจะพบสายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก สำหรับสายพันธุ์เบตา ซึ่งพบ 4 คน ได้แก่ จ.ภูเก็ต 3 คน พัทลุง 1 คน โดยภาพรวมตั้งแต่พบสายพันธุ์เบตา ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีอำนาจการแพร่ระบาดไม่มากนัก ส่วนที่เคยพบสายพันธุ์เบตานอกพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ที่ จ.บึงกาฬ 5 คน กรุงเทพฯ 3 คน ทั้งสองพื้นที่ไม่พบการระบาดเพิ่มเท่ากับยุติลงแล้ว ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ พบ 3 คน ในสถานที่กักกันของรัฐ ถือว่าควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์เบตาต่อไป รวมทั้งสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้แก่ สายพันธุ์แลมบ์ดา ยังไม่พบ และขอให้ ประชาชนเคร่งครัดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่ม ล้างมือบ่อยๆ เพื่อช่วยกันหยุดการแพร่ระบาด ถ้าเราควบคุมโรคได้เร็ว โอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคก็ลดลง” นพ.ศุภกิจกล่าว
หลายประเทศเด็กติดเชื้อมากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะ แพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์โลกจากวิกฤติเดลตาว่า เชื้อเดลตาไม่เพียงระบาดเร็วกว่าอัลฟาร้อยละ 60 แต่มีหลักฐานว่าก่อให้เกิดอาการรุนแรงและอันตรายกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และขณะนี้พบผู้ที่มีอาการรุนแรงในกลุ่มอายุน้อยลง ผู้ที่รับวัคซีนครบไม่ว่าชนิดใดมีโอกาสติดเชื้อและแพร่ได้ อีกทั้งหลายประเทศพบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทั้งนี้ สัดส่วนประชากรที่รับวัคซีนมากพอ มีส่วนสำคัญลดการแพร่ระบาดและเสียชีวิต การแพร่ระบาดในกลุ่มคนจำนวนมาก อาจนำไปสู่การเกิดกลายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ที่แพร่เร็ว ดังนั้นการเร่งลดโอกาสการแพร่ระบาดต้องเน้น 3 ประสาน ทั้งมาตรการทางการปกครอง ทางการสาธารณสุข และมาตรการส่วนบุคคลและทางสังคม ควบคู่การฉีดวัคซีนให้มากและเร็ว
หวังผู้ติดเชื้อลดใน ก.ย.–ต.ค.
นพ.ประสิทธิ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า ประเมินมาตรการกับความร่วมมือของคนไทยขณะนี้ดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ กทม.เท่าที่เห็นการ์ดไม่ตก เริ่มเห็นความชันกราฟการติดเชื้อใหม่ใน กทม.เริ่มลดลง ไม่เพิ่มในอัตราเร็วอย่างที่เคย หากรักษาระยะเช่นนี้และเร่งฉีดวัคซีน ตอนนี้เราฉีดได้ร้อยละ 22 ของประชากรไทย หากฉีดถึงจุดหนึ่งน่าจะเห็นผล ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะจัดการได้อยู่ ยังไม่ได้หลุดจากเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าไม่มีตัวแปรอื่นมากระทบ เนื่องจากบางพื้นที่ยังพบการทำกิจกรรมที่ไม่ทำตามมาตรการ เช่น การจัดพบปะ การรวมกลุ่มทำกิจกรรม ถ้าเกิดคลัสเตอร์ใหม่และระบบไม่สามารถควบคุมได้จะยุ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าทุกคนทำได้จริง คู่ขนานการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายที่น่าจะทะลุร้อยละ 25 ในเดือน ส.ค.และไต่ยอดขึ้นเรื่อยๆ ก.ย.-ต.ค.เชื่อว่าวัคซีนน่าจะมีมากพอที่จะเห็นผลบวก คู่ขนานมาตรการต่างๆที่ไม่หย่อนลง น่าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดใน ก.ย.-ต.ค. ทั้งปลายปีมีไฟเซอร์เข้ามาอีก 20 ล้านโดส เชื่อว่าจะสามารถยื้อสถานการณ์ไปได้จนมีวัคซีนรุ่น 2 ปีหน้า เว้นแต่จะมีอะไรมากระทบจนเกิดคลัสเตอร์ใหม่ที่ทำให้ติดเชื้อมาก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขขณะนี้ยังไม่ถึงจุดพีก ตัวเลขใน กทม.และต่างจังหวัดยังขึ้นด้วยความชันน้อยลง ยังไม่ดิ่งลง แสดงว่าเรายังไม่ถึงยอดของตัวกราฟ
ไทยตายน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก
ส่วนนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 776,108 คน อยู่ในอันดับที่ 37 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตสะสม 6,353 ราย อยู่อันดับที่ 60 ของโลก อย่างไรก็ตาม หากเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตกับจำนวนประชากร 1 ล้านคน พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 148 ของโลก มีผู้เสียชีวิต 91 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 553 ราย โดยประเทศเปรูเป็นอันดับหนึ่งมีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 5,883 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ตามด้วยฮังการี 3,118 ราย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 2,975 ราย หากเปรียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าอินโดนีเซียเป็นอันดับที่หนึ่งมีผู้เสียชีวิต 392 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ตามด้วยมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า กัมพูชา ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน และลาว ดังนั้น จะพบว่า ไทยไม่ได้แย่ไปสักทีเดียว สถิติการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะ และต่ำกว่าหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้ว
ส่งไฟเซอร์เติมให้คนด่านหน้า
สำหรับภาพรวมโควิด-19 ในส่วนภูมิภาค ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดวันที่ 10 ส.ค.โรงพยาบาลต่างๆ เดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาเป็นบูสเตอร์โดสให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนทำงานด่านหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึง รพ.ธรรมศาสตร์รังสิต รพ.ขอนแก่น รพ.ปัตตานี ที่เกิดประเด็นได้วัคซีนลอตแรกไม่ครบ และได้รับน้อยกว่าที่แจ้งไปมาก จนบางแผนกต้องจับสลากคนที่ได้ฉีด แต่ล่าสุด รพ.แต่ละแห่งได้ออกมายืนยันแล้วว่า ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบตามจำนวนที่แจ้งแล้ว
เอาผิดตั้งวงก๊งเหล้าใน รพ.สนาม
ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ยังพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงถึง 495 คน ขณะเดียวกัน นายประเสริฐ สาวีรัมย์ สาธารณสุขอำเภอเมืองบุรีรัมย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน EOC อ.เมืองบุรีรัมย์ สาธารณสุขจังหวัด และ จนท.ฝ่ายปกครอง เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ไชยา สระโสม พงส.สภ.เมืองบุรีรัมย์ ให้ดำเนินคดีกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 8 คน ที่จับกลุ่มมั่วสุมดื่มสุราใน รพ.สนาม ภายในอาคารพัสดุ อบจ.บุรีรัมย์ (เขากระโดง) ต.เสม็ด อ.เมือง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดจับภาพได้ ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของ รพ.สนามอย่างชัดเจน และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังรับเรื่องร้องเรียน ตร.ได้ติดต่อประสานไปยังผู้ป่วยทั้ง 8 คน ที่ขณะนี้กลับไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ในภูมิลำเนา อ.ปะคำ อ.แคนดง อ.นาโพธิ์ และ อ.พุทไธสง เบื้องต้นมี 4 คนรับสารภาพว่าดื่มสุราจริง 3 คนปฏิเสธ และติดต่อไม่ได้ 1 คน อย่างไรก็ตาม ตำรวจจะเรียกตัวทั้งหมดมาสอบปากคำเพิ่มเติมต่อไป หลังจากพ้นการกักตัวแล้ว
ลุงใบ้ติดเชื้อคาดถูกญาตินำมาทิ้ง
วันเดียวกัน นางเพชลดา ธนูญศักดิ์ ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่าได้รับการแจ้งจาก ตร.สภ.เดิมบางนางบวช ว่าพบชายสูงอายุ มีอาการไม่สบาย นั่งอยู่ที่ประตูทางเข้า วัดท่านางเริง ม.5 ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช เมื่อไปตรวจสอบพบชายคนดังกล่าวสื่อสารไม่ได้เพราะเป็นใบ้ พบบัตรคนพิการ ระบุอายุ 66 ปี อยู่ที่เขตธนบุรี กทม. และนำตัวไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.เจ้าพระยายมราช อ.เมืองสุพรรณบุรี พบติดเชื้อ รพ.จึงตรวจสวอบอีกครั้ง ถ้าผลรอบ 2 ออกมาเป็นบวกจะส่งรถมารับไปรักษาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าชายคนดังกล่าวอาจถูกญาตินำมาปล่อยทิ้งไว้ เพราะติดเชื้อโควิดเพราะปัจจุบันรถโดยสารหยุดเดินรถ จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะเดินทางมาโดยลำพัง
สลดสื่อทีวีดังติดโควิดตายคาที่พัก
ขณะที่ช่วงเย็นวันที่ 10 ส.ค. นายวันชัย คงเกษม ผวจ.สมุทรปราการ เป็นประธานฌาปนกิจศพนายทองปาน แจ้งจำรัส อายุ 66 ปี ผู้สื่อข่าวอาวุโสช่อง 3 และอดีตผู้สื่อข่าวไทยรัฐ จังหวัดสมุทรปราการ ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี ท่ามกลางความโศกเศร้าของสื่อในพื้นที่ที่มาร่วมไว้อาลัย ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับการติดต่อจากนายทองปาน เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีอาการป่วย หายใจติดขัด ไร้เรี่ยวแรงจนพลัดตกลงเตียงพับในห้องพักที่เป็นห้องเช่าเล็กๆ ใน อ.พระประแดง จึงติดต่อไปยังสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือด่วน และเมื่อเข้าไปดูนายทองปาน พบว่าจนถึงบ่ายสองวันเดียวกัน ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยนายทองปานขณะนั้นยังพอพูดได้ระบุว่ามีโรคประจำตัว เป็นเบาหวาน ความดัน เริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. พอวันที่ 9 ส.ค.เริ่มมีอาการหนัก จึงจัดหายาให้ทาน พร้อมติดต่อญาติ และใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิดมาตรวจพบติดเชื้อ ญาติจึงได้ประสานไปยัง รพ.หนองบัวลำภู ภูมิลำเนาของนายทองปาน พร้อมทั้งประสานรถกู้ชีพให้นำไปส่ง โดยนัดออกเดินทางในเวลา 04.00 น.ของวันที่ 10 ส.ค. แต่เวลา 23.40 น. ได้รับแจ้งว่านายทองปานเสียชีวิตแล้ว
ติดเชื้อยกครัว-ตายคาบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม.ยังพบติดเชื้อโควิด-19 รอเตียงรักษาจนเสียชีวิตคาบ้านอีก 2 ราย รายแรก เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 9 ส.ค. พ.ต.ท.เรืองวิทย์ ฉัตรดวงเด่น รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ลำผักชี ไปสอบสวนกรณีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในหมู่บ้านอมรทรัพย์ ถนนอยู่วิทยา แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. พบศพนายประสิทธิ์ ท่วมกระโทก อายุ 49 ปี นอนอยู่ในห้องนอน จากการสอบสวนทราบว่าภายในบ้านมีผู้พักอาศัยอยู่ 3 คน ผู้ใหญ่ 2 คน และหลานสาวอายุประมาณ 7 ขวบ ทั้งหมดติดเชื้อโควิด-19 อยู่ระหว่างรอเตียง ผู้ตายขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งนำร่างผู้เสียชีวิตส่งชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ รายต่อมา ในช่วงสายวันที่ 10 ส.ค. ร.ต.ท.จักรกฤช สุวรรณวงศ์ รอง สว.(สอบสวน) สน.พหลโยธิน ได้รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เหตุเกิดที่บ้านไม่มีเลขที่ ภายในชุมชนริมคลองวัดลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม. พบศพนายกิตติกร จำปี อายุ 15 ปี สอบสวนทราบว่า บ้านหลังดังกล่าวมีผู้อยู่อาศัยรวม 7 คน ตาและยายของนายกิตติกรป่วย เป็นโรคโควิค-19 แต่ไม่สามารถไปรักษายังโรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีผลแล็บยืนยัน นายกิตติกรป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จึงติดเชื้อไปด้วย ขณะนี้ตากับยายและครอบครัวมีอาการป่วยอยู่ภายในบ้าน ยังไม่มีโรงพยาบาลรับไปรักษาแต่อย่างใด
มะกันแนะหลีกเลี่ยงมาไทย
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 โลกเมื่อวันที่ 10 ส.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสม 204,133,257 คน เสียชีวิตสะสม 4,316,105 คน ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ยกระดับคำเตือนด้านการเดินทางมาไทย เป็นระดับสูงสุดระดับ 4 มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงมาก ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศไทย แต่ถ้าจำเป็น ควรแน่ใจว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว กระนั้นควรรับทราบด้วยว่าถึงฉีดครบโดสก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่ดี เพราะไทยกำลังเผชิญสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์ ซีดีซีสหรัฐฯ ยังแนะนำด้วยว่า ระหว่างอยู่ในไทย ต้องสวมหน้ากากอนามัยที่ปิดจมูกและปากอย่างมิดชิดตลอดเวลา ยกเว้นเวลาอยู่ในที่โล่งอากาศถ่ายเท แต่ถ้ายังไม่ฉีดวัคซีนให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดและรักษาระยะห่างทางสังคมหลีกเลี่ยงฝูงชน ส่วนการขึ้นเครื่องกลับสหรัฐฯ ต้องรับการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางไม่เกิน 3 วัน และเข้ารับการตรวจอีกครั้งหลังพำนักอยู่ในสหรัฐฯแล้ว 3-5 วัน ส่วนผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ให้กักตัวเองอยู่ในบ้านเพิ่มอีก 10 วัน นอกจากนี้ ซีดีซีสหรัฐฯ ยังยกระดับคำเตือนการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสและอิสราเอล เป็นระดับ 4 เช่นเดียวกับไทย