• อัปเดตสถานการณ์การรับมือกับสายพันธุ์เดลตา จากทั่วโลก มาตรการผ่อนปรน คงยังไม่ใช่คำตอบในขณะนี้
  • โควิดสายพันธุ์ "เดลตา" แพร่เร็ว ก่อให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะในคนที่ยังไม่รับวัคซีน
  • คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะ 3 มาตรการที่ "ไทย" ต้องทำควบคู่กันไป หยุดไม่ได้ หย่อนไม่ได้ อย่าไปหวังว่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจะคุมโรคได้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงอัปเดตสถานการณ์โควิดสายพันธุ์เดลตา จากทั่วโลก เพื่อถอดบทเรียน และนำมาใช้ในประเทศไทย โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. สหประชาชาติ ออกมาประกาศว่า สายพันธุ์เดลตากระจายใน 98 ประเทศทั่วโลก กำลังจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ให้กับมนุษยชาติ เพราะสายพันธุ์นี้มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจากเดิม

จากนั้น 30 ก.ค. สหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า สิ่งที่คาดการณ์ไม่ทันกับไวรัส เพราะไวรัสสายพันธุ์เดลตารุนแรง และไปเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยกระจายไปแล้ว 132 ประเทศ ที่สำคัญคือ ในหนึ่งสัปดาห์ มีคนติดเชื้อเกือบสี่ล้านคน ในบางพื้นที่ ในหนึ่งเดือนมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น 80% รวมถึงอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 80% ในบางพื้นที่ เช่น แอฟริกา ขณะที่ "ไทย" เอง เข้าไปอยู่ในประเทศสีเข้ม ที่มีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก เมื่อวันที่ 5 ส.ค.

...



ด้าน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าติดตามโรคระบาดต่างๆ ในสหรัฐฯ ออกแนวทางปฏิบัติล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. แก้ไขจากแนวคิดเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ เวลานี้มีการแพร่ระบาดของเดลตา ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนยังไม่ไปถึงจุดที่ควรจะเป็น โดยแนะนำ เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้เร็วมากขึ้น และแนะนำให้ใส่หน้ากาก ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยออกมาบอกว่า ฉีดเยอะพอ บางรัฐส่งสัญญาณว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก และกลับมาใช้ชีวิตแบบอิสระได้แล้ว ตอนนี้กลับมาแนะนำว่า ขอให้ประชาชนอเมริกัน ไม่ว่าจะไปที่ใด ขอให้พิจารณาเรื่องการใส่หน้ากาก

เหตุผลเพราะมีการรวบรวมตัวเลขติดเชื้อใหม่ 7 วัน ปลายเดือน มิ.ย. อัตราเฉลี่ยผู้ติดเชื้อ 7 วัน ในอเมริกา อยู่ที่ราว 12,000 ราย ปลายเดือน ก.ค. ขึ้นไปที่ 60,000 ราย แปลว่าใน 1 เดือน อัตราติดเชื้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว แสดงว่าเหตุการณ์ต่างๆ ย้อนกลับไปในช่วง ธ.ค.63 - ม.ค. 64 เริ่มกลับมา ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ มีการฉีดวัคซีนไปเยอะพอสมควร โดยขณะนี้ทั้ง 50 รัฐของสหรัฐฯ มีสายพันธุ์เดลตากระจายไปแล้วกว่า 80%

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มีการพูดว่า สายพันธุ์เดลตามีการเพิ่มขึ้น แม้จะมีคนฉีดวัคซีนครบสองโดสประมาณ 50% แต่พอเจอสายพันธุ์เดลตา มีการเพิ่มของการติดเชื้อ และสายพันธุ์เดลตาก่อให้เกิดปัญหาในสหรัฐฯ ขณะนี้ 80-87% จากต้นเดือน มิ.ย. ที่อยู่ราว 8-14% ผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 13,500 รายต่อวัน และเพิ่มมากว่า 92,000 ราย ในช่วง 3 ส.ค. 64 แสดงให้เห็นว่าในสหรัฐฯ ขณะนี้มีการกระจายของสายพันธุ์เดลตา และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เริ่มต้น

สหราชอาณาจักร จนถึง ณ วันนี้ สายพันธุ์เดลตา สัดส่วนกว่า 90% แทนที่สายพันธุ์อัลฟาที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไปเรียบร้อย ข้อมูลเมื่อ 21 มิ.ย. - 19 ก.ค. จากการตรวจรหัสพันธุกรรม พบผู้ป่วยสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,788 คน ครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 30% เป็นคนฉีดครบเรียบร้อยแล้ว แปลว่า คนฉีดวัคซีนครบ ไม่ได้สื่อว่าจะไม่ติดเชื้อ โดยวัคซีนที่ฉีดในสหราชอาณาจักร คือ mRNA และไวรัลเวกเตอร์ ของแอสตราเซเนกา

ในการต่อสู้กับโควิดเมื่อปีที่แล้ว เราจะมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ต้นน้ำ (ลดจำนวนผู้ป่วยใหม่) กับปลายน้ำ (ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน อัตราการหาย) แต่ตอนนี้เรามียุทธศาสตร์กลางน้ำขึ้นมา คือ วัคซีน ที่ช่วยลดความรุนแรง เสียชีวิต ซึ่งจะมีผลโดยตรงเชิงบวก ยิ่งฉีดเยอะ ส่งผลเชิงบวกกับอัตราการรอด การเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ถ้าวัคซีนฉีดได้เยอะพอ ก็มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจนว่าจะส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อด้วย 

ข้อมูลวันที่ 8 ส.ค. 64 ทั่วโลกหลังจากมีการฉีดวัคซีน อัตราการติดเชื้อเริ่มลดลง และกลับขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบัน พบอัตราการติดเชื้อ 5-7 แสนรายต่อวัน เสียชีวิตราว 7 พัน - หมื่นกว่าราย ตอนนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 4,414,063,632 โดส ฉีดวันละ 42,600,503 โดส (ประชากร 7,884,751,830 คน)  

ขณะที่ สหรัฐฯ เริ่มมีการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา จากนั้นทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็เกิดเหตุอีก เมื่ออัตราการติดเชื้อในสหรัฐฯ บางวันแตะหลักแสน ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีน แต่การเสียชีวิตไม่เยอะไปตามส่วน เดิมเสียชีวิตสูง 2-3 พันรายต่อวัน ตอนนี้อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่เลขสามหลัก ไม่ถึงห้าร้อยต่อวัน เชื่อว่าเป็นผลของการฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 350,627,188 โดส ฉีดวันละ 712,389 โดส (ประชากร 333,159,223 คน) 58.5% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 50.1% ได้ครบโดส

ทั้งนี้ ในสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับรูปแบบเพื่อรับมือวิกฤติโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดย CDC ประกาศให้ประชาชนที่แม้จะฉีดวัคซีนครบ ก็ให้กลับมาใส่หน้ากาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และพื้นที่ที่คนเยอะ มีคนมาทำกิจกรรมเยอะ โดยประกาศนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ CDC ประกาศให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบไม่ต้องใส่หน้ากาก เมื่อเดือน พ.ค. ประมาณ 11 สัปดาห์

ขณะที่ ร้านค้า สถานประกอบการต่างๆ เร่งออกมาตรการให้ลูกค้าที่จะมาใช้บริการ ให้มีการใส่หน้ากาก แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนครบ ขณะเดียวกันรัฐกลางของ "โจ ไบเดน" มีการเชิญชวนให้คนมาฉีดวัคซีน เพื่อแลกของกำนัล รวมถึงในแต่ละรัฐด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันก็มีการออกมาตรการภาคบังคับให้บุคลากรที่ทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน

นอกจากนั้น CDC ยังออกมาย้ำว่า คนที่ฉีดครบเรียบร้อย สามารถแพร่กระจายเชื้อใกล้เคียงกับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่สิ่งที่ชัดเจน สิ่งที่ดีคือ คนที่ฉีดวัคซีนครบเรียบร้อยแล้ว เวลาป่วย โอกาสรุนแรงจะน้อยลง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

ที่ผ่านมา เรามีการจับตาสถานการณ์ที่สหราชอาณาจักร เนื่องจากมีประชากรใกล้เคียงกับไทย ประมาณ 68-69 ล้านคน หลังจากฉีดวัคซีนเมื่อ 8 ธ.ค.63 ทุกอย่างเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ อัตราติดเชื้อลดลง และเริ่มมีการติดขึ้นมาใหม่ในช่วงนี้เอง จากสายพันธุ์เดลตา ที่ครอบคลุมกว่า 90% แทนสายพันธุ์อัลฟาเดิมเรียบร้อยแล้ว ขณะที่อัตราการติดเชื้อจากเดิมสองหลัก ตอนนี้ตัวเลขกลับขึ้นมาเป็น 3-5 หมื่นราย แต่อัตราการเสียชีวิตยังต่ำ คือ หลักสิบถึงหลักร้อย แม้ช่วงนี้จะเพิ่มขึ้นมาบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เราเฝ้าจับตาอยู่

...



ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ออกมาประกาศให้วันที่ 19 ก.ค.64 ที่ผ่านมา เป็นวัน Freedom Day เนื่องจาก สหราชอาณาจักร ฉีดวัคซีน 70% อย่างน้อยหนึ่งโดส และ 60% ฉีดครบโดส ดังนั้นควรถึงวันที่เลิกใส่หน้ากาก และใช้ชีวิตได้เหมือนก่อนที่จะมีโควิด-19 รวมถึงให้มีการเปิดกิจกรรมต่างๆ ทั้งผับ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ฯลฯ แต่ตัวเลขการแพร่กระจายไม่ได้วิ่งขึ้นมากมาย เชื่อว่าสาเหตุหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะประกาศ Freedom Day แต่ที่สำคัญ คนจำนวนไม่น้อยในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คุ้นเคยกับการใส่หน้ากาก

ขณะที่ บุคลากรทางการแพทย์ ลงนามร่วมกัน และเสนอนายกรัฐมนตรี ท้วงติง Freedom Day สิ่งที่กลัวคือ หากคนบอกว่าไม่ใส่หน้ากาก และเกิดมีการกลายพันธุ์ของเชื้อเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ และหลุดจากวัคซีน ก็จะเกิดการแพร่ระบาดใหม่ กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว

ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร ฉีดวัคซีนแล้ว 86,207,851 โดส ฉีดวันละ 181,407 โดส (ประชากร 68,281,783 คน) 70.4% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 58.7% ได้ครบโดส

...

ส่วนในฝรั่งเศส เดิมเป็นประเทศที่ไม่ค่อยฉีดวัคซีน แต่เมื่อเริ่มเจอเหตุการณ์พีก จึงระดมฉีดเต็มที่ ปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้ว 77,681,231 โดส ฉีดวันละ 517,893 โดส (ประชากร 65,432,916 คน) 68.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 57.3% ได้ครบโดส แต่ฝรั่งเศสก็เจอเหตุการณ์เดียวกันกับสหราชอาณาจักร คือ อัตราการติดเชื้อลดลง และเริ่มเพิ่มขึ้น เมื่อสายพันธุ์เดลตาเริ่มเข้ามาในฝรั่งเศส จนถึงเวลานี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นมาหลักหมื่น และยังไม่มีท่าทีลดลง แต่อัตราการเสียชีวิตยังเป็นตัวเลขสองหลัก

เมื่อถามว่า ฝรั่งเศสจัดการอย่างไร ซึ่งฝรั่งเศสได้ประกาศเข้าสู่การระบาดรอบที่ 4 (Fourth Wave) จากสายพันธุ์เดลตา และรัฐบาลออกมาตรการให้ผู้เข้ารับบริการในสถานให้บริการต่างๆ ต้องมี Health Pass คือ มีหลักฐานยืนยันข้อใดข้อหนึ่ง ใน 3 ข้อนี้ คือ

  • มีหลักฐานแสดงว่าได้รับวัคซีน 
  • มีผลการตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 ในระยะเวลาใกล้การใช้บริการ
  • มีหลักฐานยืนยันว่าเพิ่งหายจากการติดเชื้อ COVID-19 


รวมถึง รัฐบาลออกมาตรการปรับ หากสถานให้บริการต่างๆ ไม่ตรวจ Health Pass และปล่อยให้เข้าใช้บริการ จะถูกปรับประมาณ 1,500 ยูโร จากเดิมที่ประกาศจะปรับ 45,000 ยูโร แต่หากทำผิดซ้ำ ก็จะมีการปรับเพิ่มขึ้น พร้อมบังคับให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในระบบดูแลสุขภาพ ต้องได้รับการฉีดวัคซีน

...


ที่อิตาลี ก็เป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเยอะแล้ว 71,240,657 โดส ฉีดวันละ 403,547 โดส (ประชากร 60,364,365 คน) 65.2% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 56.7% ได้ครบโดส แต่ก็เจอเหตุการณ์เดียวกัน มีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันอยู่ที่หลักพัน และอัตราการเสียชีวิตต่ำเป็นเลขสองหลัก

ทั้งนี้ หลังจากที่สายพันธุ์เดลตาระบาดในอิตาลี รายงานวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบสายพันธุ์เดลตาระบาดในประเทศ 94.8% ขณะที่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พบเพียง 22.7% ดังนั้นจะเห็นว่าสายพันธุ์เดลตากระจายได้รวดเร็ว รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับแก้มาตรการเกี่ยวกับการเดินทางในประเทศ (12 มิถุนายน) มี Health Certificate แสดงว่าต้องรับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือผลการตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลาใกล้การใช้บริการ หรือเพิ่งหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ถึงจะเข้าไปใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงให้กับพื้นที่ต่างๆ ที่จะไปใช้บริการ 

อิสราเอล เป็นอีกประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปเยอะมาก ประชากร 8,808,673 ล้าน ฉีดวัคซีนแล้ว 11,588,381 โดส ฉีดวันละ 119,085 โดส 64.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 59.6% ได้ครบโดส และยังเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศให้คนออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องรักษาระยะห่าง แต่ปรากฏว่าหลังการเปลี่ยนรัฐบาล ก็เริ่มมีคนกลับมาติดเชื้อ



ตอนนี้ อิสราเอล พบผู้ติดเชื้อหลักพันต่อวัน และไต่ขึ้นไปยังไม่หยุด แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก เนื่องจากรัฐบาลโดยผู้อำนวยการกระทรวงการสาธารณสุข (Health Ministry Director-Nachman Ash) ให้สัมภาษณ์ว่า อาจต้องพิจารณาการล็อกดาวน์อีก หากการแพร่ระบาดเพิ่มจนอาจทำให้ระบบการดูแลสุขภาพล่ม ทั้งนี้ หากต้องล็อกดาวน์ อาจเกิดในเดือนกันยายนในช่วงวันหยุด (Jewish Holidays) ซึ่งน่าจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจมากกว่าจะเลื่อนไปเดือนตุลาคม ทั้งยังได้รีเซ็ตเมืองที่มีการแพร่กระจายของเชื้อได้ 


ที่ออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้พบว่า ออสเตรเลีย ไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ของผู้ป่วยโควิดอยู่หลายเดือน กระทั่งพบ 2 คนที่ซิดนีย์ ป่วยสายพันธุ์เดลตา ก่อนแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน ตอนนี้ออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อต่อวันเป็นตัวเลขสามหลัก และอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก 

แม้ออสเตรเลีย จะมีการฉีดวัคซีนไม่เยอะ ซึ่งมีประชากรเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ฉีด 1 โดส และครึ่งหนึ่งฉีดครบโดส ซึ่งนอกจากจะขวนขวายในการหาวัคซีนมาฉีดแล้ว ออสเตรเลีย ยังเข้มในการจัดการ ข้อมูลเมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ออสเตรเลีย มองว่าสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มก่อเกิดความรุนแรง ติดเชื้อหนัก ควบคุมได้ยาก ขณะที่การควบคุมพื้นที่ต่างๆ บางพื้นที่ล็อกดาวน์เต็มพื้นที่ และพบการติดเชื้อในเด็กเยอะขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อรับมือ โดยรัฐบาลลงมาควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว มีการล็อกดาวน์ ควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ระหว่างเมือง พร้อมประกาศให้ประชาชนทราบว่าสายพันธุ์นี้ไม่ใช่แค่แพร่เร็ว แต่อาจจะรุนแรง และมีอาการรุนแรงด้วย


ขณะที่ รัสเซีย แต่เดิมมีการฉีดวัคซีนน้อย แต่ตอนนี้เร่งมาก ปัจจุบัน รัสเซีย ฉีดวัคซีนแล้ว 66,216,817 โดส ฉีดวันละ 579,461 โดส (ประชากร 146,003,297 ล้าน) 25.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 18.4% ได้ครบโดส ซึ่งสามารถลดความชันของกราฟได้ ทั้งการติดเชื้อและการเสียชีวิต แต่ยังอยู่ที่ระดับ 2-3 หมื่นรายต่อวัน และเสียชีวิตเลขสามหลัก แต่ถือว่าคงที่



ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยเอง อัตราผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และมีผู้เสียชีวิตต่อวันอยู่ที่สามหลัก ข้อมูล 8 ส.ค. 64 ฉีดวัคซีนแล้ว 19,632,537 โดส ฉีดวันละ 401,677 โดส (ประชากร 69,993,382 ล้าน) 21.8% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 6.1% ได้ครบโดส เมื่อเป็นขาขึ้น สิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการคือ การฉีดวัคซีน โดยตนเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ถ้าเราทำได้สำเร็จ อาจทำให้ตัวเลขลดลงได้

ทั้งนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลของแต่ละประเทศ สามารถสรุปข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตาได้ดังนี้ 

  • สายพันธุ์เดลตา ไม่เพียงแพร่ระบาดได้เร็ว (เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา ประมาณ 60%) แต่มีหลักฐานว่าก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ยังพบผู้ที่มีอาการรุนแรงในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยลง ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายปัจจัย
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ (รายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า ไม่แตกต่างจากผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่อาการมักไม่รุนแรง)
  • รายงานจากมหาวิทยาลัย Wisconsin พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังสามารถพบมีปริมาณไวรัสในจมูกและคอ ไม่แตกต่างไปจากผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน (เป็นรายงานการศึกษาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์) 
  • หลายประเทศพบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง
  • สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนที่มากพอ จะมีส่วนสำคัญในการลดการแพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิต แต่ย้ำ ไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ในการยกเลิกหรือผ่อนคลายการระวังตนเอง (ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมากในพื้นที่ที่จำกัด)
  • การแพร่ระบาดในกลุ่มคนจำนวนมาก (หลายหมื่นคนต่อวัน) ต้องระวัง อาจนำไปสู่การเกิดการกลายพันธุ์ และสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็วจะไปทดแทนสายพันธุ์เดิม หรือสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดช้ากว่า
  • ความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อในโลก


"ศึกโควิด-19 เราไม่รู้จริงๆ ว่าปลายทางจะอยู่ตรงไหน หวังว่าเทคโนโลยีเราจะชนะ กับความสามารถของไวรัสที่กลายพันธุ์ แต่ทั้งหมดนี้ประชาคมโลกต้องช่วยกัน ถ้าตราบใดยังปล่อยให้มีการแพร่ระบาดเยอะ ก็จะเกิดการกลายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ ความปลอดภัยจากโควิด-19 ในประเทศใดประเทศหนึ่ง จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดในโลกนี้ ยังติดอย่างมากมาย พูดง่ายๆ จะบอกว่า ประเทศฉันปลอดภัย ในขณะที่ประเทศอื่นยังติดเยอะ บอกเลยว่า ไม่ได้ เพราะการเดินทางระหว่างประเทศง่ายมาก ของชิ้นหนึ่งที่ถูกส่งต่อระหว่างประเทศ มีสิทธิ์นำไวรัสเข้าไปด้วย และมันเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงแนวทางการจัดการกับโควิดสายพันธุ์เดลตา สำหรับประเทศไทย การลดความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติที่เกินศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพ โดยยุทธศาสตร์ต้นทางที่เราต้องเร่งลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อ ขึ้นอยู่กับ 3 มาตรการสำคัญ คือ มาตรการทางการปกครอง มาตรการทางการสาธารณสุข (การบริหารจัดการควบคุมโรค การพัฒนา ศักยภาพการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การบริหารจัดการเตียง สถานพยาบาล รวมถึง Home Isolation) และมาตรการส่วนบุคคล และทางสังคม คือ การรักษาระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ (การชี้แจงเหตุและมาตรการ วินัย) ซึ่งทั้ง 3 มาตรการนี้ต้องทำควบคู่กันไป หยุดไม่ได้ หย่อนไม่ได้ อย่าไปหวังว่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะคุมโรคได้

รวมถึง การเร่งฉีดวัคซีน ต้องฉีดมาก และฉีดให้เร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง สูงวัย 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 12 สัปดาห์, การเร่งค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อ (ATK; RT-PCR) ซึ่งยี่ห้อที่นำเข้ามาในขณะนี้ถือว่าแม่นยำกว่า 90% ซึ่งจะทำให้เราค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ขณะเดียวกันก็นำเข้าระบบการรักษาให้เร็ว, การได้รับยาที่เร็ว ซึ่งตอนนี้มีนโยบายออกมาแล้ว ในกลุ่มคนที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่เยอะ แต่หากเป็นคนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะกลายเป็นคนที่มีอาการรุนแรง เหล่านี้จะมีการแจกยา แต่ต้องลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้มีการติดตามได้ รวมถึงพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ติดเชื้อ (Home Isolation, Community Isolation) แต่ต้องรู้กระบวนการว่าอยู่บ้านอย่างไรไม่ให้แพร่เชื้อ รวมถึงจะต้องมีระบบติดตามอาการ หากพบว่ามีอาการเปลี่ยนไปในทางที่รุนแรงขึ้นจะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษา



"ผมก็หวังว่ากราฟนี้จะเกิดขึ้นได้จริง เราเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปแล้ว และหวังว่าตอนนี้ การเร่งการฉีดวัคซีนให้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันมาตรการทางสังคมที่กลับมาควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ และมาตรการทางวัคซีน เมื่อไหร่เกิน 50% ผมเชื่อว่าเรามีแนวโน้มที่จะทำให้กราฟตกลงมา และเข้าสู่ระยะที่เราจะปลอดภัยมากขึ้นจากโควิด-19" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว.