มหันตภัยไวรัสร้ายโควิด-19 ไม่ได้เป็นแค่เพียงมฤตยูร้ายที่คร่าชีวิตมนุษยชาติไปแล้วมากมาย แถมยังมีผู้ที่เจ็บป่วยสะสมทั่วโลกขณะนี้หลายล้านคน ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ เชื้อไวรัสมรณะนี้ยังสร้างความเสียหายทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆตามมามากมาย
จากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะค่อยๆดีขึ้นหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้ปี 2565 จีดีพีของประเทศน่าจะค่อยๆขยับเพิ่มขึ้น
แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะยังคงหนักหนาสาหัสอยู่ แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป และนั่นย่อมหมายถึงการต้องจัดทำแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการฟื้นฟูประเทศ หลังวิกฤติใหญ่ในครั้งนี้ผ่านพ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมบุคลากรให้พร้อมเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่จะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง
จึงเป็นหน้าที่หลักของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญในการผลิตกำลังคนให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศ จะต้องเตรียมแผนและขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
...
“สอศ.ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศ โดยเฉพาะ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่ 1.โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2.โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3.หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4.เทค-โนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ 5.อาหารและเกษตร 6.ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ 7.แม่พิมพ์
ทั้งยังรวมไปถึง อุตสาหกรรมในอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS) 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (AVIA-TION AND LOGISTICS) 3. อุตสาหกรรมดิจิทัล (DIGITAL) 4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BIOFUELS AND BIOCHEMICALS) และ 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB) เพื่อให้พร้อมกับการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลายลง ภาคอุตสาหกรรมและการผลิตของประเทศจะได้แข่งขันกับนานาประเทศในอนาคตได้ โดยสิ่งที่ สอศ.กำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญก็คือ “การสร้างคุณภาพนำปริมาณ” ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆกันในทุกมิติ ทั้งหลักสูตรและวิธีการสอน การพัฒนาครู สถานศึกษาได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมถึงตัวของผู้เรียน...” ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เล่าถึงการเตรียมการผลิตกำลังคนในอนาคต
เลขาธิการ กอศ. ยังได้ฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า มิติของการพัฒนาหลักสูตร สอศ.จะร่วมกับสถานประกอบการจัดทำหลักสูตร โดยสถานประกอบการต้องการเด็กที่มีสมรรถนะด้านใดก็กำหนดหลักสูตรการผลิตให้ครอบคลุม และให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NOF) ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ที่จะให้การรับรองสาขาวิชาชีพนั้นๆ รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานของรายได้ ส่วนวิธีการจัดการศึกษาจะมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบทวิภาคีเป็นหลักเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากสถานประกอบการจริง มิติครูผู้สอน ครูจะต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของสถานประกอบการ ได้เข้าฝึกทักษะการปฏิบัติงาน และใช้เครื่องไม้เครื่องมือจริงในสถานประกอบการ โดยสมรรถนะที่ครูได้พัฒนาเพิ่มเติมนี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อยื่นขอ วิทยฐานะเป็นความก้าวหน้าของครูได้ด้วย มิติสถานศึกษา จะได้รับการสนับ-สนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย สอดคล้อง กับสาขาที่จัดการ เรียนการสอน โดยจะไม่จัดงบฯแบบ “เบี้ยหัวแตก” แต่ต้องทุ่มงบฯเพื่อซื้ออุปกรณ์ฝึกเด็กให้มีศักยภาพตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ อุปกรณ์ที่ซื้อคงไม่ใช่ระดับพื้นฐาน จะอยู่ระดับปานกลาง ส่วนอุปกรณ์ขั้นสูงที่มีราคาแพงมากๆ
...
สอศ.จะให้เด็กไปฝึกฝนกับภาคเอกชนที่ได้ประสานความร่วมมือเอาไว้แทน และท้ายที่สุด มิติผู้เรียน เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะสาขาวิชาชีพที่เรียน พัฒนาสมรรถนะด้านภาษาที่สอง เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น และพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัล
“เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ สถานศึกษาสามารถจัดการอาชีวศึกษาได้สอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ และตรงกับความต้องการของประเทศ สอศ.จึงได้จัดกลุ่มสถานศึกษาจำแนกตามสาขาวิชาที่เปิดสอน เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป (Standard) กลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะ (Expert) กลุ่มความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะ (Excellent Center) นอกจากนี้ยังดำเนินการคัดเลือกสถาน-ศึกษากลุ่มความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพของ คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ให้เป็น ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) จำนวน 25 แห่ง 25 สาขาวิชา/สาขางาน โดย กลุ่มวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ CVM จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการลงทุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตคนป้อนอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve โดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน จะมีการคัดเลือกผู้บริหารมือฉมังเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญนี้ด้วย ผมเชื่อว่าแผนงานที่ สอศ.กำหนดไว้นี้จะสามารถผลิตกำลังคนเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมและกอบกู้ประเทศหลังวิกฤติโควิด–19 ผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน” ดร.สุเทพ ตอกย้ำตบท้าย
...
ทีมการศึกษา มองว่า แม้จะยังไม่มีใครที่สามารถการันตีได้ว่ามหันตภัยร้ายโควิด-19 จะหายไปจากประเทศไทยเมื่อใด แต่ความพยายามในการเตรียมผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมเพื่อป้อนสถานประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หลังสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างน้อยการได้วางแผนผลิตกำลังคน เพื่ออนาคตของประเทศก็ช่วยให้เราสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ทันท่วงทีเมื่อถึงเวลาต้องฟื้นฟูประเทศ
ไม่ต้องเสียเวลาห่วงหน้าพะวงหลังจนเสียโอกาส...!!!
...
ทีมการศึกษา