โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปีละ 70,000 ราย ในพื้นที่ 882 อำเภอ 77 จังหวัด ผลการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 210,206 ราย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่ร่วมโครงการ จำนวน 240 ราย ใน 14 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภาค
พบว่าหลังเกษตรกรได้รับองค์ความรู้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ การจัดการน้ำ จัดการฟาร์ม การทำบัญชีครัวเรือน และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และประมง ส่งผลให้เกษตรกรมีการผลิตที่เกื้อกูลกันในแต่ละกิจกรรมภายในฟาร์มของตนเอง เกิดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี สามารถพึ่งพาตนเองได้
มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6,623 บาท/ครัวเรือน จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัว ไข่ไก่ ไก่พื้นเมือง และปลา ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เฉลี่ยปีละ 30,416 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็น ลดรายจ่ายจากการบริโภคผลผลิตของตนเองปีละ 28,416 บาท/ครัวเรือน ลดรายจ่ายจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่ทำด้วยตนเองเกือบปีละ 2,000 บาท/ครัวเรือน อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ พันธุ์สัตว์
เกษตรกรมีเงินเก็บออมเฉลี่ยปีละ 12,277 บาท/ครัว เรือน ขณะที่หนี้สินลดลงเฉลี่ยปีละ 28,846 บาท/ครัวเรือน
และในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกลุ่มนี้มากนัก เกษตรกรยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก แม้จะไม่มีรายได้แต่ยังคงมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน อีกทั้งยังให้มีแรงงานคืนถิ่นกลับเข้าสู่ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย
จากการประเมินโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรถึงร้อยละ 95 ได้เห็นความสำคัญและผลสำเร็จที่ตามมา จึงได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
...
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช.
สะ–เล–เต