นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง ครบ 63 ปี วันที่ 1 สิงหาคม 2564 นี้ MEA มีภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในทุกมิติ ภายใต้แนวทาง “63 Year MEA Stay Strong เข้มแข็ง…แล้วไปต่อด้วยกัน”
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวต่อไปว่า MEA เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยในปีที่ 63 นี้ MEA พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องให้มีความเพียงพอ มั่นคงปลอดภัย สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของเมืองมหานคร ทั้งภารกิจการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน
พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Metro Grid) ขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งเสริมโครงการ Solar Rooftop รวมถึงพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ทันสมัยในอนาคตรองรับการเป็นมหานครอัจฉริยะ "Smart Metro" สู่การเป็น Smart City ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ COVID-19 โดยมีภารกิจเร่งด่วนออกแบบติดตั้งจัดการระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงพยาบาลสนาม ทั้งในด้านระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบปั๊มน้ำและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ และแผนรองรับการจ่ายไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการให้กับโรงพยาบาลสนามต่างๆ เช่น รพ.สนามศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา (เอราวัณ 2) รพ.สนามพลังแผ่นดิน รพ.สนามสมุทรปราการรวมใจ 5 (WHA) รพ.สนามราชพิพัฒน์ ศูนย์พักคอยตันปัน เป็นต้น
นอกจากนี้ MEA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ทุกภาคส่วนโดยสนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการพลังไฟฟ้าให้กับ รพ.บุษราคัม ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของจำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่างๆ ส่งมอบอาหารกล่องจำนวน 100,000 กล่อง ในโครงการ Food For Fighters รวมถึงการเร่งลงพื้นที่ส่งมอบถุงยังชีพและหน้ากากอนามัยจำนวนกว่า 300,000 ชิ้น ให้แก่ชุมชนในพื้นที่บริการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกัน MEA ยังพร้อมสนับสนุนหน่วยงานฯ โรงพยาบาลสนามทุกแห่ง โดยเฉพาะในด้านระบบไฟฟ้า พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และให้บริการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าจากผลกระทบ COVID-19 นั้น ล่าสุด MEA ได้ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าประจำเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2564 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดโดยอัตโนมัติ โดยสามารถตรวจสอบค่าไฟฟ้าและสิทธิ์ส่วนลดในแต่ละรอบเดือนได้ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า MEA Smart Life Application หรือผ่าน Line : MEA Connect อีกทั้ง ยังมีมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนธันวาคม 2564 อีกด้วย นอกจากนี้ MEA มีมาตรการผัดชำระค่าไฟฟ้าโดยขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดต่อเพื่อแจ้งความประสงค์ อีกทั้ง อำนวยความสะดวกให้ชำระค่าไฟฟ้าบางบิลผ่านระบบออนไลน์ผ่านช่องทาง MEA Smart Life Application หรือช่องทาง MEA e-Service เว็บไซต์ https://eservice.mea.or.th โดยนำรหัส QR Code/Barcode ไปชำระผ่านระบบ Internet Banking (ไม่จำกัดวงเงิน) หรือ ชำระได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้าน 7-Eleven (จำกัดวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท)
ในด้านงานบริการ MEA มุ่งมั่นพัฒนานำเทคโนโลยี มาปรับใช้ในการทำงานทั้งภายใน และให้บริการภายนอกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วย MEA Smart Service โดยพัฒนาเว็บไซต์ www.mea.or.th รวมถึงแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น MEA Smart Life Application หรือ Line MEA Connect ที่สามารถตรวจสอบและชำระค่าไฟ แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง อีกทั้งยังมีบริการด้านไฟฟ้าออนไลน์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้วยระบบ MEASY รวมทุกบริการทั้งขอติดตั้งไฟฟ้าใหม่ ขอติดตั้งไฟฟ้าเพิ่มชั่วคราว ขอเพิ่ม-ลดขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ตลอดจนการของดการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวก็สามารถรับบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้พัฒนาระบบให้เป็นช่องทางในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อีกด้วย นอกจากนี้ MEA ยังได้ปรับเปลี่ยนงานบริการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบ New Normal ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพงานบริการต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกระดาษ โดยเฉพาะบริการ MEA e-Bill ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารับเอกสารในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ Email เพื่อลดการใช้กระดาษ พร้อมช่องทางการติดต่อ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter : @mea_news, Instagram : meafanclub และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ไฟฟ้ายุคใหม่อีกด้วย
ในด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม ปี 2564 เท่ากับ 50,558.43 ล้านหน่วย (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 2564) โดย MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 100 มีสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 จำนวน 9,525.93 เมกะวัตต์ และได้พัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ส่งผลให้มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.414 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 13.349 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือน มิถุนายน 2564) นอกจากนี้ MEA ยังคงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจตามแผนงาน โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 29 โครงการ ระยะทางรวม 187.5 กิโลเมตร ตัวอย่างเช่น โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-เหลือง-ส้ม-เขียว-ชมพู-ม่วง ถนนพระรามที่ 3 ถนนรัชดาภิเษก ถนนวิทยุ ถนนพหลโยธิน ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนพรานนก ถนนบรมราชนนี ถนนวงศ์สว่าง และถนนนครอินทร์ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอันเนื่องมาจากรถชน/เกี่ยวเสาไฟฟ้าล้ม หรือจากภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพให้เกิดความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและสวยงาม อีกทั้ง ล่าสุด MEA ได้เปิดใช้งานสถานีต้นทางบางซื่อ พร้อมส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ารองรับสถานีกลางบางซื่อและโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวมถึงรองรับการใช้ไฟฟ้าพื้นที่เมืองมหานครในอนาคต เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รับเทรนด์การเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกด้วย
ในส่วนการพัฒนาระบบไฟฟ้าไปสู่การเป็นมหานครอัจฉริยะนั้น MEA ได้ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานคร ซึ่งเป็นโครงข่ายสำหรับการส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบดิจิทัลครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีสมาร์ทมิเตอร์วัดพารามิเตอร์ด้านไฟฟ้าที่จ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าและหม้อแปลงจำหน่าย ร่วมกับระบบบริหารจัดการที่มีการรับส่งข้อมูลได้แบบสองทาง (Two-way Communication) มีคุณสมบัติในการ Monitor และแสดงผลได้ทันที (Real-time) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าในภาวะวิกฤติด้านพลังงาน และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์บริเวณที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น
ในส่วนการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด นั้น ล่าสุด MEA ได้ดำเนินการส่งมอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้า MEA EV Chargerในโครงการศึกษาวิจัย MEA EV Smart Charging System จำนวน 50 เครื่อง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกในเขตพื้นที่ให้บริการ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งพร้อมใช้งานให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MBK CENTER, CP Tower และ Riverine Place Condominium เป็นต้น รวมถึงมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด หรือ EA ในการพัฒนาระบบการให้บริการและขยายแผนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่ของ บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถชาร์จผ่าน QR Code ที่สถานีฯ หรือผ่าน MEA EV Application ได้ทันที นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ วิจิตรา ดิเวลลอปเม้นท์ ให้บริการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้าใต้ดินโครงการ เธอ ลาดพร้าว 93 เป็นการให้บริการในรูปแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One-Stop Service) รวมถึงติดตั้ง EV Charging Station ในโครงการฯ เพื่อยกระดับความมั่นคง ปลอดภัย ระบบไฟฟ้าหมู่บ้านจัดสรรแบบครบวงจร ซึ่งผู้ประกอบการหมู่บ้านจัดสรรที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลและรับบริการในรูปแบบดังกล่าวได้ สำหรับด้านพลังงานสะอาด MEA พร้อมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ภายในบ้านอยู่อาศัย อาคารหรือสถานประกอบการ ในเขตพื้นที่ให้บริการ ซึ่งหากต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ MEA เพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกัน MEA ยังมีโครงการช่างไฟฟ้ามืออาชีพ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมยังมีโอกาสได้รับการอบรมการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EV Charger รวมถึงร่วมให้บริการด้านไฟฟ้าแบบครบวงจรผ่าน Application MEA e-Fix เสริมสร้างรายได้เป็นเครือข่ายตัวแทน MEA ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ในด้านการบริหารองค์กร MEA ได้รับรางวัล Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) 2021 Regional Edition ในสาขา Master Entrepreneur Award ในฐานะผู้นำองค์กรที่มีความมุ่งมั่นและสามารถสร้างความเติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสาขา Inspirational Brand Award ที่มอบให้กับองค์กรชั้นนำที่มีความโดดเด่นในด้านการบริหารงานอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมจนได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ MEA ยังได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กร ระดับ AAA แนวโน้มอันดับเครดิต Stable ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่องโดยทริสเรทติ้ง สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะรัฐวิสาหกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงนโยบายทางการเงินที่รอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว (Green Office) ระดับประเทศ ตามโครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียว (Green Office) ประจำปี 2563 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ MEA ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ซึ่งตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินงานที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
ในวันนี้ MEA ยังคงมุ่งมั่นภารกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคง และปลอดภัย ซึ่ง MEA มีความพร้อมที่จะรับมือ และสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชนทุกคนให้สามารถผ่านวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ โดย MEA พร้อมที่จะให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living