นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในขณะนี้ มีรายงานพบการทยอยตายของ “กุ้งก้ามกราม” ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และราชบุรีมากผิดปกติ จากการวิเคราะห์คาดว่ามีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อก่อโรค

เนื่องจากมีปัจจัยโน้มนำทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น สภาพพื้นบ่อไม่เหมาะสม มีปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อมากเกินไป คุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยงไม่เหมาะสม ค่าคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ค่าปริมาณแอมโมเนียในน้ำเพิ่มสูงขึ้น เพราะหลังฝนตกพีเอชของน้ำและอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกุ้งปรับตัวไม่ทัน อาจกระตุ้นให้กุ้งก้ามกรามอ่อนแอ ตายในฟาร์มได้

“จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามหมั่นสังเกตลักษณะอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้เพื่อป้องกันความเสียหาย เช่น กุ้งมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น กินอาหารลดลง เคลื่อนไหวช้า เกยขอบบ่อ ว่ายน้ำผิดปกติ สีลำตัวเปลี่ยน เช่น สีซีด พบกล้ามเนื้อขาวขุ่น ลำตัวเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง มีรอยโรคหรือจุดสีดำบนเปลือก ลำตัว หรือรยางค์ เปลือกกร่อน รยางค์กร่อน ตับและตับอ่อนมีสีซีด หรือมีสีที่เปลี่ยนไป มีขนาดเล็กลงหรือฝ่อลีบ ลำไส้ว่างไม่มีอาหาร และพบกุ้งทยอยตาย หรือมีอัตราการตายมากผิดปกติ”

...

สำหรับแนวทางในการจัดการกรณีพบกุ้งป่วย กุ้งทยอยตาย หรือตรวจพบการติดเชื้อ รองอธิบดีกรมประมงแนะให้เกษตรกรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ เพื่อร่วมหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น ตลอดจนเข้าเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ ไม่เคลื่อนย้ายกุ้งและทิ้งน้ำจากบ่อกุ้งป่วยออกสู่ภายนอกฟาร์ม

กรณีตรวจพบกุ้งติดเชื้อไวรัสและมีอาการป่วยควรดำเนินการตัดวงจรเชื้อโรค ด้วยการใช้สารฆ่าพาหะเพื่อกำจัดกุ้งในบ่อ จากนั้นทิ้งน้ำไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำการฆ่าเชื้อไวรัสด้วยการใส่คลอรีน 65% ในอัตราไร่ละ 50 กก. ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ปล่อยน้ำลงสู่บ่อพัก หรือหากปล่อยสู่แหล่งน้ำภายนอกต้องมั่นใจว่าไม่มีคลอรีนหลงเหลืออยู่เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม หากคงเหลือให้ตากบ่ออีก 24-48 ชั่วโมง หรือเติมโซเดียมไทโอซัลเฟตและตากบ่อให้แห้งและให้หยุดกิจกรรมภายในบ่อนานไม่น้อยกว่า 14 วัน

“กรณีสามารถควบคุมอัตราการตายได้ ต้องการประคองการเลี้ยงจนจับขายได้ควรจัดให้มีการเลี้ยงที่ดี ควบคุมคุณภาพน้ำ ปริมาณออกซิเจนเพียงพอและให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ใช้อุปกรณ์การเลี้ยงร่วมกับบ่ออื่นๆ ที่ไม่พบกุ้งป่วย ไม่ปล่อยน้ำบ่อที่ตรวจพบเชื้อออกสู่ภายนอก ควบคุมปริมาณสารอินทรีย์ในบ่อ จัดการการเลี้ยงและคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เมื่อจับกุ้งขายให้ดำเนินการลดเชื้อในน้ำก่อนจับด้วยคลอรีน และจับกุ้งด้วยการลากอวน จากนั้นฆ่าเชื้อในบ่อและน้ำหลังการจับก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกฟาร์ม”

หากมีข้อสงสัยขอรับคำปรึกษาได้ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ 0-2579-4122 เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/personel/1272
หรือ Line ID : 443kvkee.