คำเตือนจากประเทศสหรัฐ อเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ ระบุ “โควิดสายพันธุ์เดลตา” หรือ “อินเดีย” ระบาดหนัก ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการไอและเป็นไข้แต่ลงปอดได้เร็ว ขอให้ประชาชนใส่หน้ากาก 2 ชั้น โดยใส่หน้ากากอนามัยไว้ข้างในและทับด้วยหน้ากากผ้าอีกชั้นหนึ่ง

และควรใส่เฟซชิลด์อีกชั้นด้วยจะป้องกันได้มากเมื่อออกนอกบ้าน

ประเด็นต่อมา...หน้ากากอนามัยป้องกันไวรัสในละอองไอ (aerosol) ขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนได้เพียง 20% เท่านั้น ส่วนหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสใน aerosol ได้เพียง 5-65% แล้วแต่ชนิดของผ้า ส่วนเฟซชิลด์จะป้องกันไวรัสใน aerosol ได้ถึง 68-96% และหน้ากาก N95 ป้องกันไวรัสใน aerosol ได้ถึง 95%

ในระยะ 1.5–2.0 เมตร หากใส่หน้ากาก N95+เฟซชิลด์ จะป้องกันได้ถึง 97% ใส่หน้ากากอนามัย+หน้ากากผ้า+เฟซชิลด์ จะป้องกันได้ถึง 96–97%

ในช่วงที่โควิดสายพันธุ์อินเดียระบาดหนัก จึงควรใส่หน้ากาก N95+เฟซชิลด์ หรือหน้ากากอนามัย+หน้ากากผ้า+เฟซชิลด์ จะปลอดภัยมากเมื่อออกไปนอกบ้านและเจอคนจำนวนมาก

...

ท่ามกลางอันตรายจากการแพร่ระบาดไวรัสร้ายโควิด-19 ยังมีปัญหาเรื่อง “ขยะติดเชื้อ”

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย หยิบยกกรณีข่าวปลายสัปดาห์ที่แล้ว...อันตรายจากขยะติดเชื้อโรงพยาบาลพระนั่งเกล้ากองทิ้งใกล้ชุมชน

ขยะติดเชื้อเกือบ 1,000 ถุงจากโรงพยาบาลถูกนำมากองทิ้งบริเวณทางเข้าออกของชุมชนศาลเจ้า ซอยนนทบุรี 9/1 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว สาเหตุมาจากการที่ขยะติดเชื้อเกิดขึ้นจำนวนมากจนเทศบาลนนทบุรีเผาไม่ทัน

อาจารย์สนธิ บอกว่า ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 ในข้อ 16 กำหนดให้ที่พักมูลฝอยติดเชื้อต้องแยกออกมาจากอาคารต่างหาก และหากเก็บมูลฝอยติดเชื้อไว้เกิน 7 วัน ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 10 องศาหรือต่ำกว่า

“หน้าที่การเก็บขนและกำจัดเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสถานพยาบาลต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ท้องถิ่นตามข้อบัญญัติที่กำหนด การที่ขยะติดเชื้อดังกล่าวถูกนำมากองนอกอาคารและเทศบาลเก็บขนช้ากว่ากำหนดเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน”

โดยหลักการหาก “ขยะติดเชื้อ” อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง...มากกว่า 30 องศา ระยะเวลานานเกินไปและอยู่นอกอาคารจะทำให้เกิดการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เช่น เศษเนื้อเยื่อ เลือด สารคัดหลั่ง

ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชนโดยรอบ ทั้งก๊าซไข่เน่า (H2S) และก๊าซแอมโมเนีย (NH3)รวมทั้งทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ในถุงแดงแบ่งตัวขยายเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว และอาจจะกระจายออกจากถุงแดงออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ปะปนในอากาศโดยรอบสามารถติดต่อสู่คนที่อยู่ใกล้เคียงได้ง่าย

...

หากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกอาจทำให้เชื้อโรคต่างๆไหลออกจากถุงแดงปะปนไปกับน้ำฝนไหลลงแหล่งน้ำผิวดินโดยรอบ นี่เป็นสาเหตุที่ต้องกำหนดให้ขยะติดเชื้อต้องถูกเก็บรอกำจัดในอาคารที่มิดชิดกันแดดกันฝน และต้องขนไปกำจัดวันต่อวัน...

แต่หากขนไม่ทันต้องควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 10 องศาเพื่อป้องกันการขยายแพร่ตัวของเชื้อโรค

หากถุงขยะติดเชื้อที่กองหน้าชุมชนศาลเจ้าเป็นขยะจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และกองทิ้งมานาน อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายในอากาศลักษณะของ Airborn...ลอยในอากาศเข้าจมูกและติดกับเสื้อผ้าของคนที่เดินผ่านไปมาได้ในระยะ 6 ฟุต หรือ 2 เมตร หากมีลมพัดอาจไป ไกลถึง 5.5 เมตร

และ...สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 3 ชั่วโมง

ใกล้ตัวขึ้นมาอีกนิด ถ้าหากต้องทิ้งขยะ “หน้ากากอนามัย” และ “ชุดตรวจโควิด” ใช้แล้วในช่วงวิกฤติการระบาดโควิด-19 อาจารย์สนธิ ย้ำว่า การทิ้งลงในถังขยะชุมชนจะยิ่งทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายมากขึ้น...“หน้ากากอนามัย” และ “ชุดตรวจโควิด” ที่ใช้แล้วจะมีไวรัสเกาะอยู่ที่ผิวพลาสติกได้นาน 2-3 วัน

รวมทั้งอาจแพร่กระจายในอากาศได้นานถึง 3 ชั่วโมง

...

ดังนั้น หากทิ้งวัสดุดังกล่าวลงในถังขยะทั่วไป จะทำให้พนักงานเก็บขยะและประชาชนที่เปิดถังขยะเพื่อทิ้งขยะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสได้โดยง่าย เนื่องจากละอองฝอย (droplet) และละอองไอ (air born particle) จากสารคัดหลั่งที่ติดมากับวัสดุดังกล่าวอาจลอยเข้าติดเสื้อผ้า หรือเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่าย

ในช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา คาดว่า...จะมีหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจากชุมชนเพิ่มขึ้นถึงวันละ 43 ล้านชิ้นต่อวันหรือคิดเป็นน้ำหนัก 30.1 ตันต่อวัน และชุดตรวจโควิดใช้แล้วเพิ่มอีกจำนวนมากในแต่ละวัน

“หากทิ้งขยะเหล่านี้กันอย่างไม่ถูกวิธี ประกอบกับภาครัฐไม่ตั้งถังขยะสีส้มให้ประชาชนได้ทิ้งขยะดังกล่าวแยกต่างหากแล้ว ย่อมก่อให้เกิดอันตรายจากการแพร่เชื้อไวรัสได้”

แนะนำว่า...ประชาชนควรนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว, ชุดตรวจโควิดรวมทั้งถุงมือ หน้ากากผ้าที่ใช้แล้วมาพ่นด้วยแอลกอฮอล์ 70% ให้ทั่วก่อน แล้วพับใส่ลงในถุงพลาสติก (ถ้าเป็นถุงสีแดงยิ่งดี)...มัดปากถุงให้แน่นแล้วหย่อนลงไปในถังสีส้ม เพื่อท้องถิ่นจะได้เก็บขนนำไปเข้าเตาเผาขยะติดเชื้อต่อไป

หลังจากนั้นต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือพ่นด้วยแอลกอฮอล์เข้มข้น 70%

ประเด็นสำคัญต่อมา...ปัญหาที่อาจทำให้ขยะติดเชื้อดังกล่าวแพร่กระจายได้โดยง่าย นับจากหนึ่ง...ท้องถิ่นไม่มีการนำถังสีส้มหรือสีแดงไปตั้งในชุมชนอย่างทั่วถึง

ถัดมา...ประชาชนนำหน้ากากอนามัยและชุดตรวจโควิดหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ใช้แล้วทิ้งลงในถังขยะชุมชนหรือใส่ในถุงขยะปะปนกับเศษอาหารทั่วไปนำมากองไว้หน้าบ้าน โดยไม่ได้ฆ่าเชื้อหรือไม่ได้ใส่ลงในถุงอีกชั้นก่อน ซึ่งต้องมัดให้แน่น

...

อีกทั้ง...พนักงานเก็บขนขยะชุมชนโดยทั่วไปไม่ได้ใส่ชุด PPE ป้องกันอันตรายจากโควิด จึงอาจได้รับเชื้อได้โดยง่าย ข้อสุดท้าย...“รัฐบาล” ต้องตระหนักเรื่องการจัดการขยะติดเชื้อในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากในประเทศจีนและยุโรปได้พิสูจน์แล้วพบว่า...การที่เชื้อโควิดแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากส่วนหนึ่งราว 10-15%

...เกิดจากการจัดการ “ขยะติดเชื้อ” ที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้นทั้งประเทศจีนและยุโรปจึงได้ออกคำเตือนให้ประชาชนปฏิบัติอย่างทั่วถึง ตลอดจนตั้ง “ถังขยะสีส้ม” รวมอยู่ในกลุ่มถังขยะหลากสีในชุมชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนแยกขยะทิ้งได้ถูกประเภท เพื่อรัฐนำไปจัดการได้ถูกวิธีต่อไป

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ฝากทิ้งท้ายว่า เมื่อถูกล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในบ้าน ทำงานที่บ้าน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ลดการติดเชื้อเพื่อชาติ หลายคนจะอยู่กับตัวเองมากขึ้น คิดถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต ทบทวนตัวเองมากขึ้น มีทั้งเหตุการณ์ที่ให้หัวเราะและน้ำตา สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า

“ชีวิตคนเรามันสั้น ทำทุกวันให้มีความสุข...ทุกคนมีความเสี่ยงมีโอกาสได้รับเชื้อ หากติดเชื้อแล้วอาจอยู่หรือตาย ถึงแม้หายแล้วปอดก็ไม่เหมือนเดิม...ต้องระวังตัวกันอย่างเต็มที่”.