ปรากฏการณ์ที่ โควิด-19 ทะลุจาก ครัวเรือน ไปยัง โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด กันอ่วมอรทัย โรงพยาบาลงดรับคนไข้นอก คนไข้ฉุกเฉิน เพราะเตียงเต็ม ห้องผู้ป่วยเต็ม เท่ากับว่า ปราการด่านสุดท้าย ที่จะรับมือกับโควิด-19 แตกไปเรียบร้อย ถือว่าเป็นระยะอันตรายขีดสุด ที่จะทำให้ ไวรัสโควิด-19 จะกระจายพันธุ์ และกลายพันธุ์ เนื่องจากการขาดการรักษาพยาบาลและขาดแคลนวัคซีนต้านโควิด
จะไปหลงละเมอ กรอกหูชาวบ้านว่า เรามีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก ต่อไปเราจะเป็น ศูนย์กลางการกระจายวัคซีน อีกต่อไปไม่ได้แล้ว แต่ควรจะถอยกลับมาตั้งหลัก กลับลำนโยบายที่ประกาศไปแล้ว ยอมรับสภาพว่าต้องยอมเจ็บเพื่อให้จบ
ภาพของคนไข้โควิด ที่ต้องไปกางเตียงนอนกันที่หน้าโรงพยาบาล ลานจอดรถโรงพยาบาล ดีหน่อยก็ระเบียงทางเท้าของโรงพยาบาล ภาพของคนป่วยโควิดที่ติดกันทั้งครอบครัว มีทั้งเด็กที่ยังไม่ประสากับคนแก่ที่ไร้เรี่ยวแรงจะต่อสู้ อนาถ และ อนาถา เป็นที่สุด
การที่จะดันทุรัง มาตรการเปิดประเทศ ก็เท่ากับการนำไปสู่ความสูญเสียทั้งงบประมาณและสุขอนามัยของประชาชน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ไปจัดฉากกันเสียอย่างดี หรือจะขยายไปที่ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา จนถึง พัทยา เท่ากับเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำชัดๆ
เพราะต้องมีการระดมฉีดวัคซีนไปยังจุดเดียวให้มากที่สุด จัดงบประมาณลงไปให้มากที่สุด และระดมคนไปให้มากที่สุด ถามว่า ล็อกดาวน์ ร้านปิด กิจกรรมไม่มี เครื่องบินโดยสารภายในประเทศไม่บิน เครื่องบินต่างประเทศก็ไม่มาเพราะจะมาก็ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ เดินทางไม่สะดวก และต้องลงจอดที่ภูเก็ตหรือกระบี่เท่านั้น
นักท่องเที่ยวต่างประเทศหาย นักท่องเที่ยวในประเทศก็หาย ขนาด สมาคมท่องเที่ยว เขายอมรับเองว่า ไม่มีนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติ โควิด-19 ระบาดหนักขนาดนี้ ใครจะมีกะใจไปเที่ยวได้ลงคอ วัคซีนก็ไม่มีให้ฉีด ทุกคนก็รักชีวิต ที่ไปโฆษณาว่ายอดจองเท่านั้นเท่านี้ มีแต่ตัวเลข คนที่รับกรรมก็คือ ผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐใดๆทั้งสิ้น
...
ที่เชียงใหม่ ธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยวปิดไปแล้วร้อยละ 70 จะเป็นเพราะนโยบายพาคนกลับบ้านด้วยส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะขายรถขายบ้านขายสร้อยขายนาฬิกาขายแหวนจนหมดแล้วส่วนหนึ่ง สุดท้ายเราก็ได้ไม่คุ้มเสีย
ยกตัวอย่าง โครงการโมโตจีพีที่ จ.บุรีรัมย์ ทุกปีจะ ได้รับงบประมาณจากรัฐ ปีละ 300 ล้านบาท ระดมฉีดวัคซีนไปที่บุรีรัมย์กว่า 1 ล้านโดส ในสถานการณ์ที่โควิดระบาดหนักจนในที่สุด ต้องงดจัดงาน แล้วจะอย่างไรกับงบประมาณวัคซีนที่ดำเนินการไปแล้ว เพราะรายการนี้ เป้าหมายคือ การดึงนักท่องเที่ยว แฟนคลับรถแข่งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานจะเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ลำพังชาวบุรีรัมย์ จะให้ไปนั่งเชียร์แข่งรถระดับโลกกันขอบสนามคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
ปัญหาสำคัญก็คือเราฉีดวัคซีนไปแล้วแค่ 15 ล้านโดส จากเป้าหมาย 100 ล้านโดส และ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องฉีดให้ในจังหวัดเป้าหมายเท่านั้น แต่ต้องฉีดให้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 60 เข้าใจว่า พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ และ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ต้องทำหน้าที่กระตุ้นการท่องเที่ยวให้ดีที่สุด
แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง เรียงลำดับปัญหาอะไรก่อนอะไรหลัง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th