BCG โมเดล...“ทางเลือก-ทางรอด” ของประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 โมเดลที่กำลังถูกผลักดันจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านยุทธศาสตร์การ “ฟื้นฟู” และการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยการสร้างสมดุล ให้ “เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” โดยนำองค์ความรู้การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดความเข้มแข็ง นั่นก็คือ การนำคุณค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม มาเชื่อมโยงกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อรักษา ความสมดุลและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โมเดล มี 3 องค์ประกอบ B = Bioeconomy คือการนำทรัพยากรชีวภาพมา “ผลิตให้คุ้มค่าที่สุด” โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย C = Circula economy คือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และ G = Green economy คือระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมรวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
...
“ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุมมีการรายงานดัชนีเศรษฐกิจสีเขียว (Global Green Economy Index) ของประเทศ ไทยที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 45 ในปี 2557 มาอยู่ในอันดับที่ 27 ในปี 2561 และตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) มีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 55 ในปี 2560 มาอยู่ในอันดับที่ 43 ในปี 2563 พร้อมประกาศเดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใน 7 ปี (พ.ศ.2564–2570) โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กำหนดพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด คือ ราชบุรี ลำปาง ขอนแก่น จันทบุรี และพัทลุง ผ่าน 13 มาตรการ แกนหลักในการขับเคลื่อน” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะกรรมการและ เลขานุการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว กล่าวถึงความคืบหน้าแผนขับเคลื่อน BCG โมเดลของประเทศไทย
13 มาตรการแกนหลักในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1.พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญาเพื่อวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว 2.เพิ่มพูนทรัพยากรชาติด้วยการผสานพลังของรัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานวิจัย โดยการส่งเสริมเอกชนในการปลูกและดูแลป่าทุกประเภทในพื้นที่ของรัฐด้วยกลไกและจัดสรรคาร์บอนเครดิต 3.พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG ในแต่ละภูมิภาคเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เชื่อมโยงการเกษตรทางเลือก/ เกษตรสมัยใหม่ การแปรรูป การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน 4. ปรับระบบการเกษตร สู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และมูลค่าสูง เน้นเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย 5.พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทาง และอาหารท้องถิ่น
6.สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากฐานชีวภาพให้มีขั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น อาทิ สารสกัด สารประกอบฟังก์ชัน อาหารฟังก์ชัน ชีวเคมีภัณฑ์ 7.สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG 8.สร้างโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข, ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียว 9.ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสีเขียวและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 10.ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย สารสกัด ชีวเคมีภัณฑ์ ยา วัคซีน และการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ
...
11.ส่งเสริมสตาร์ตอัพ 12.สร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ในทุก
ระดับ และ 13.เชื่อมโยงกับสากลในทุกมิติ ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุนจากต่างประเทศด้วยการให้สิทธิประโยชน์ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เช่น สมาร์ทวีซ่า (Smart Visa) เป็นต้น
“BCG โมเดล เป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐและภาควิชาการ ขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ 2.การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ 3.ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และ 4.เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน ขยะ โรคระบาด การกระจายรายได้” ดร.ณรงค์ ระบุแน่นอน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อย และประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน
...
ดังนั้น การเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ BCG โมเดล จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า ในวิกฤติ...มีโอกาสเสมอ และเราหวังว่า ประเทศไทยหลังโควิด-19 จะต้องดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา การฟื้นฟูและพัฒนาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าต้องก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทั้งโรคระบาด ทรัพยากรเสื่อมโทรม มลพิษ ขยะล้นเมือง โลกร้อน ฯลฯ
แต่จะทำอย่างไร BCG โมเดลถึงจะบรรลุจุดมุ่งหมาย ภายใน 7 ปีตามที่วางไว้ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนี่คือโจทย์ข้อใหญ่ที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลต้องทำให้สำเร็จให้ได้เพื่อประเทศไทยจะได้กลับสู่ภาวะปกติสุขอีกครั้ง.
...
ทีมข่าววิทยาศาสตร์