• ข้อควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ป่วย "โควิด-19" ระหว่างแยกกักตัว
  • ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว กักตัวที่บ้านเพื่อรักษา แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา จนผ่านไปแล้ว 14 วัน ต้องทำอย่างไร
  • ไขคำตอบ กักตัวที่บ้านครบ 14 วันแล้ว ไปขอตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลได้หรือไม่ มีภูมิแล้ว เมื่อใดถึงจะรับวัคซีนโควิด-19 ได้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังคงน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุกคนก็ได้แต่ภาวนา ให้สถานการณ์ดีขึ้นได้โดยเร็ว โดยเฉพาะในหลายจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม เพราะหลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นข่าว ผู้ป่วยโควิด เสียชีวิตในบ้านพัก รวมถึงเสียชีวิตอยู่ริมถนน แน่นอนว่า ปัญหานี้เกิดจาก การบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ ที่รอรับการรักษา หลังจากทราบผลตรวจ RT-PCR 

สำหรับผู้ป่วยโควิด ตามข้อมูลจากกรมการแพทย์ คือ จะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย นับจากวันที่เริ่มมีอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจจะยังมีเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เป็นระยะเวลาประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย

...

ขณะที่ "กระทรวงสาธารณสุข" ได้พยายามหาหนทางมากมาย เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ โดยเฉพาะการติดเชื้อในชุมชน ที่มีอัตราการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก โดยหนึ่งในทางออกคือ ต้องพยายามยับยั้งไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ด้วยการตรวจคัดกรอง แยกผู้ป่วยออกจากชุมชน ซึ่งผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง จะต้องรับการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือ เข้ารับการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) เนื่องจากสถานพยาบาลหลายแห่ง ไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยรายใหม่แล้ว

  • แยกกักในชุมชน (Community Isolation)

ส่วนใหญ่จะจัดในสถานที่ที่มีพื้นที่กว้าง เช่น หมู่บ้าน วัด โรงเรียน หรือ ที่พักอาศัยคนงาน เพื่อจัดตั้งศูนย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้ 24 ชั่วโมง โดยสามารถประสานนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลได้ หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลง แต่หลักเกณฑ์ผู้ป่วยที่กักตัวแบบนี้นั้น ต้องเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น

  • แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่หมอวินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ระหว่างรอแอดมิตโรงพยาบาล และแพทย์เห็นว่าสามารถดูแลรักษาที่บ้านระหว่างรอเตียงได้ รวมทั้งเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ตรวจพบติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ และเลือกที่จะกักตัวรักษาตนเองอยู่ที่บ้าน

โดยสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องทำในช่วงรักษาตัว คือ สังเกตอาการตนเอง ด้วยการวัดอุณหภูมิและ Oxygen Saturation ทุกวัน และหากมีอาการแย่ลง คือ หอบ, เหนื่อย, ไข้สูง, ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

ข้อควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ป่วยโควิด ในระหว่างแยกตัว มีดังนี้

1. ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัว และงดการออกจากบ้านในระหว่างแยกตัว

2. อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย

3. หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร

4. หากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือมาปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน

...

5. ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ

6. กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม

7. ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ

8. แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์

9. ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดหาอาหารมาให้ แล้วแยกรับประทานคนเดียว

10. การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งให้ใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิด

แต่เมื่อหลายคนเลือกที่จะแยกกักตัวที่บ้าน กลับต้องเจอปัญหามากมาย เช่น การโทรเบอร์สายด่วน แล้วไม่มีคนรับ ติดต่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ลงทะเบียนแล้วไม่มีผู้ติดต่อกลับ ทำให้มีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจำนวนหนึ่งต้องเคว้งคว้าง และเมื่อครบ 14 วัน ก็ไม่รู้จะทำตัวอย่างไรต่อไป

ปัญหานี้ทำให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมายอมรับว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการดูแลและประสานงานนำส่งผู้ป่วยไม่ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะสายด่วน สปสช. 1330 ที่ผ่านมามีจำนวนการโทรเข้าสูงถึงกว่า 5,000 ครั้ง/วัน แม้ว่าจะได้เพิ่มจำนวนคู่สายและจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ โดยทำงานให้บริการกันอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการโทรเข้ามาเพื่อเข้าระบบดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน โดยโทร 1330 กด 14 จะใช้เวลารอสายนานมาก

...

ดังนั้น สปสช. จึงได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ขึ้น โดยเปิดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คลิกที่นี่) เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแล

แต่การแก้ปัญหาครั้งนี้ ดูเหมือนจะยังไม่รองรับผู้ติดเชื้อที่พุ่งทะลุหลักหมื่นต่อวัน เพราะยังคงมีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ยังรอการติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ ซึ่ง นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว รักษาตัวโดยกักตัวที่บ้าน แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาจนผ่านไปแล้ว 14 วันนั้น ตามหลักการถ้าคนกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการป่วยใดๆ เลย เมื่อกักตัวครบ 14 วันหลังตรวจพบเชื้อ ถือว่าคนไข้หายจากโควิดแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จำเป็นต้อง Social Distancing อีกจำนวน 2 อาทิตย์

...

ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่รักษาแบบ Home Isolation หรือ ที่โรงพยาบาล หลังจากรักษา 14 วันผ่านไป จะบอกให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตปกติได้ แต่ขอให้ Social Distancing อีก 2 อาทิตย์ เพราะตามที่ทุกคนรู้ คือ โควิดสายพันธุ์เดลตา เชื้อเยอะ การแพร่กระจายเยอะ ซึ่งแนวทางปฏิบัติของกรมการแพทย์คือ จะไม่ตรวจเชื้อผู้ที่เพิ่งหายป่วยภายใน 2 อาทิตย์ เพราะถ้าตรวจเจอซากเชื้อ ก็ไม่ได้ทำอะไร ยิ่งทำให้เกิดความสับสน

และเมื่อครบกำหนด Social Distancing อีก 2 อาทิตย์แล้ว ก็ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดแล้วเช่นกัน แต่คำว่าใช้ชีวิตตามปกติ จะต้อง Social Distancing ต่อไป เพราะอย่างที่บอก โควิด ทำลายล้างทุกทฤษฎี เดี๋ยวนี้มีการติดเชื้อซ้ำ อาจจะด้วยสายพันธุ์ที่แตกต่าง ไม่มีอะไรมารับประกันได้ ฉะนั้นอย่ามั่นใจเกินไป เช่นเดียวกับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้การันตี 100% ว่าคุณจะไม่ติดเชื้อ

หลังตรวจเจอโควิดไปแล้ว 14 วัน จะรู้ได้ยังไงว่าเชื้อหมด

นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า ต่อให้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจนครบ 14 วัน ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะไม่ตรวจซ้ำ เพราะถ้าตรวจเจอ อาจจะเป็นซากเชื้อ ยิ่งทำให้คนไข้สับสน แต่ยอมรับว่า อาจจะมีบางคนที่ยังมีเชื้ออยู่แต่น้อยมาก โดยส่วนใหญ่เกือบ 100% จะไม่แพร่เชื้อแล้ว ถ้าไปตรวจจะเป็นการเปลืองทรัพยากร หรือสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ ควรตรวจคนที่สงสัยจะเป็น ดีกว่าคนที่กำลังจะหาย

กักตัวครบ 14 วันแล้ว ไปขอตรวจที่โรงพยาบาลได้ไหม

ถ้ากักตัวเองครบแล้ว ต้องการใบรับรอง สามารถไปตรวจได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดของกรมแพทย์ คือ โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเลิดสิน และ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพราะโรงพยาบาลทั่วไปคงไม่รับตรวจ โดยต้องพกใบยืนยันการติดเชื้อโควิดมาด้วย โดยจะออกใบให้ว่าคุณได้กักตัวจนครบ 14 วันแล้ว

หลังหายจากโควิด ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานเมื่อใด

ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อ จะมีภูมิต้านทานหลังหายป่วยแล้ว ถ้าคนปกติภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นภูมิจะตกลง แต่ต่อให้ช่วงที่มีภูมิ ถ้าได้รับเชื้อมากๆ เข้าไปอีก ก็อาจจะติดเชื้อซ้ำได้ เพราะการติดเชื้อซ้ำสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด ในต่างประเทศได้มีรายงานออกมาแล้วว่า เพิ่งหายไม่นาน ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังบอกไม่ได้ว่าทำไม ฉะนั้นจำเป็นต้องอัปเดตความรู้อยู่ตลอดเวลา

เพิ่งหายติดเชื้อโควิด ต้องรับวัคซีนตอนไหน

โดยหลักการแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็คือประมาณ 2-3 เดือน หลังติดเชื้อ แต่อย่างที่บอกว่าไม่มีทางรู้ได้ว่าภูมิจะลดลงเมื่อไหร่ ฉะนั้นระยะเวลา 2-3 เดือนก็ควรที่จะรับวัคซีนได้แล้ว


สุดท้าย "อธิบดีกรมการแพทย์" อยากแนะนำให้ประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังตัวเองให้ดี โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมลฑล เพราะอัตราการติดเชื้อเยอะมาก ฉะนั้นช่วงนี้ แม้กระทั่งคนในครอบครัว ถ้ามีคนออกไปข้างนอก เราอาจจะต้อง เว้นระยะห่าง Social Distancing เพื่อช่วยกันกดการแพร่กระจายเชื้อให้ลดลงมากกว่าครึ่ง เพราะถ้ามันยิ่งหนักเกินไป ระบบสาธารณสุขจะรับไม่ไหว.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : Sathit chuephanngam