- ปริมาณขยะในประเทศไทย ปี 2563-2564 พบ "ขยะติดเชื้อ" เพิ่มมากขึ้นช่วงโควิด-19
- ชุดตรวจโควิด-19 (Rapid Antigen Test) ใช้แล้วทิ้งอย่างไรให้ปลอดภัย
- ผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ทิ้งขยะอย่างไร ไม่ให้โควิดระบาดเพิ่ม
รู้จัก "ขยะติดเชื้อ" ปริมาณเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19
จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย พบว่า ในปี 2563 มีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 25.37 ล้านตัน โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้องเพียง 9.13 ล้านตัน และมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.88 ล้านตัน
ขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้น 47,962 ตัน โดยส่วนมากเกิดในสถานบริการสาธารณสุข พบว่าได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 47,440 ตัน (ร้อยละ 98.91)
"ขยะมูลฝอยติดเชื้อ หรือ ขยะติดเชื้อ หมายถึง ขยะที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความเข้มข้น หากมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับขยะนั้นแล้ว สามารถทำให้เกิดโรคได้ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุดป้องกันตนเอง หรือชุด PPE หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งจะต้องมีวิธีการทิ้งและกำจัดอย่างถูกต้อง"
โดยในปี 2564 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ย 63 ตัน/วัน แบ่งได้ดังนี้
...
- มูลฝอยติดเชื้อทั่วไปที่เก็บขนและกำจัดจากสถานบริการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิก ปริมาณทั้งสิ้น 8,299 ตัน หรือเฉลี่ย 46 ตัน/วัน
- มูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) หน่วยบริการตรวจเชิงรุก ศูนย์บริการฉีดวัคซีนและสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่างๆ เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย ปริมาณทั้งสิ้น 3,094 ตัน หรือเฉลี่ย 17 ตัน/วัน
ชุดตรวจโควิด-19 ใช้แล้วทิ้งอย่างไรให้ปลอดภัย
ที่ผ่านมา "หน้ากากอนามัย" ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นที่สุดในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้อนุมัติให้ใช้ชุดตรวจโควิด-19 หรือ Rapid Antigen Test หรือ Antigen Test Kit สามารถวางจำหน่ายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรควบคุมได้แล้ว ชุดตรวจโควิดเอง เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อเช่นกัน
ในกรณีใช้ชุดตรวจตรวจหาเชื้อแล้วพบว่า เป็นผู้ป่วยโควิด-19 หากไม่ทิ้งอย่างถูกต้อง ชุดตรวจที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งก็จะเป็นตัวที่ทำให้เชื้อกระจายไปในวงกว้าง ดังนั้นการทิ้งอย่างถูกวิธีจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยมีวิธีดังนี้
1. นำชุดตรวจที่ใช้แล้วแยกทิ้งจากขยะทั่วไป
2. ราดหรือฉีดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำใส่ถุงที่ปิดสนิท สามารถทิ้งรวมกับขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วในถุงสีแดง โดยมัดปิดปากถุงให้แน่น หรือเขียนหน้าถุงว่า "ขยะติดเชื้อ"
3. แยกทิ้งในถังรองรับขยะติดเชื้อ หรือแจ้งไปยังหน่วยงานจัดการขยะในท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพมหานครแจ้งไปยังสำนักเขตเพื่อเข้าจัดเก็บอย่างถูกหลักการกำจัดขยะติดเชื้อ
...
ในกรณีผู้ป่วยโควิดที่กักตัวอยู่บ้าน หรือ Home Isolation การทิ้งขยะของคนกลุ่มนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยแฟนเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ซึ่งเป็นแฟนเพจที่ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ ได้แนะนำว่า หากใครอยู่ใน Home Isolation หรือกักตัวรอผลตรวจ ให้ใช้วิธีฆ่าเชื้อขยะของตัวเอง ราดน้ำยาฟอกขาวปิดถุงให้แน่น แยกจากขยะทั่วไป อาจติดป้ายให้พนักงานเก็บขยะเห็นชัดๆ ก็เพียงพอแล้ว หรือถ้าใส่ถุงแดงไปเลยจะทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องไม่กล้าเก็บ เพราะถ้ารัฐยังไม่มีมาตรการเก็บขยะติดเชื้อตามบ้าน ก็ทำได้เท่านี้จริงๆ
แนวทางกำจัด "ชุดตรวจโควิด"
สำหรับแนวทางในการกำจัดชุดตรวจหาเชื้อ Antigen Test Kit ให้ใช้แนวทางเดียวกับการจัดการขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว โดยจะจัดเก็บรวบรวมด้วยรถเก็บขนแยกเฉพาะขยะติดเชื้อไม่ปะปนกับขยะทั่วไป แล้วนำไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ เป็นต้น.
ผู้เขียน : J. Mashare
...
กราฟิก : Sathit Chuephanngam