จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพใน 122 ประเทศ จาก 163 ประเทศ พบว่า การระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการให้บริการป้องกันและรักษาโรค NCDs มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) ของประเทศเข้าร่วมทำการสำรวจหยุดชะงักการให้บริการบางส่วนหรือทั้งหมดในการรักษาความดันโลหิตสูง การรักษาโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน (คิดเป็นร้อยละ 49) การรักษามะเร็ง (ร้อยละ 42) และการรักษาภาวะหัวใจและหลอดเลือดฉุกเฉิน (ร้อยละ 31)
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2564 เป็น “ปีแห่งผักและผลไม้สากล” (International Year of Fruits and Vegetables, 2021) เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของผักและผลไม้ในเวทีระดับนานาชาติ และระดับโลก ซึ่งปัจจุบันกระแสใส่ใจสุขภาพมีมากขึ้น จากผลสำรวจสถานการณ์การกินผัก และผลไม้ในประเทศไทย ปี 2561- 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีแนวโน้มกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้เพียงพอ ร้อยละ 34.50 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 38.7 ในปี 2562
นายวอร์เรน ทีเค ลี เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายชัดเจน ให้เกิดระบบอาหารที่ดี ประชาชนสามารถบริโภคผักผลไม้ได้ 3 ส่วนในทุกมื้ออาหาร ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำกับดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่เกษตรกรจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อเป้าหมายในด้านสุขภาพและรายได้
นายลี แนะนำให้เริ่มจากภาคการผลิต เกษตรกรจะต้องมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การขนส่ง การค้าปลีก เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารอย่างทั่วถึง ปราศจากสารปนเปื้อน สามารถเข้าถึงผักและผลไม้ได้มากขึ้น สร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยด้านโภชนาการ แบบมีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค
นอกจากนั้น การมีผักและผลไม้ในราคาที่ซื้อหาได้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค รวมทั้งความปลอดภัยในผักและผลไม้ด้วย ส่งเสริมให้ผู้บริโภควางแผนโภชนาการในครอบครัวสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างสุขภาพที่ดีของครอบครัวและทุกคน การส่งเสริมการเข้าร่วมกันในกลุ่มเกษตรกร พ่อค้ารายย่อยที่ความเชื่อมโยงสินค้าเกษตรไปสู่ผู้บริโภค เพราะเกษตรกรจำเป็นต้องรู้ว่าจะผลิตอาหารแบบไหนที่เป็นที่ต้องการของตลาด
นายลี ย้ำว่า ส่วนสำคัญที่ภาครัฐต้องประกาศให้ “ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ และการกินผักและผลไม้ปลอดภัยและเพียงพอ” เป็นวาระแห่งชาติ ปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่ความยั่งยืนเพราะเป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพประชากรและสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ
“ผมคิดว่าต้องสร้างเสริมรณรงค์ให้ข้อมูลกลุ่มผู้บริโภครวมทั้งในชุมชน โรงเรียนและการแทรกแซงต่างๆ การให้การศึกษาด้านโภชนาการก็มีความสำคัญ เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง รวมทั้งการใช้สื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย เพื่อเผยแพร่การให้ข้อมูลต่อครอบครัว ต่อผู้ปกครองของนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว ให้เกษตรในเมืองสร้างเสริมความสามารถในการเข้าถึง ผักและผลไม้ ของคนในเมืองโดยเฉพาะใน กทม. ที่จะให้ได้กินและเสริมรายได้กับผู้มีรายได้ต่ำได้” นายลี กล่าว
ดร.เรณู การ์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงภาวะทุพโภชนาการของไทยว่า 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีแนวโน้มสูงขึ้น มีการตาย 1 คนต่อ 1 นาที การที่พบว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกือบร้อยคนต่อวัน เพราะเป็นโรคอ้วนและมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นอยู่แล้วจึงทำให้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ง่าย
ระบบอาหารจึงมีความใกล้ชิดกับสุขภาพเป็นอย่างมาก และยังพบอีกว่า มีโฆษณาอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ไม่มีโฆษณาผักและผลไม้ ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ โฆษณาเน้นไปที่เด็ก ดังนั้นจึงต้องควบคุมอาหารรอบโรงเรียนก่อน พร้อมๆ กับให้มีการนำเสนออาหารที่มีประโยชน์ ราคาไม่แพงและปลอดภัย ควรเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อจะได้ไม่ต้องแก้ปัญหาสุขภาพในผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า
“รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้ ดังจะเห็นได้จากไทยเป็นประเทศผู้นำระดับโลกในด้านโภชนาการและอาหารในหลายเรื่อง หากมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับผักและผลไม้อีกก็จะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับประเทศอื่นในภูมิภาค” ดร.เรณู การ์ด กล่าว
ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก หรือ UN Food System Summit จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลกระหว่าง 26- 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำจากทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐมนตรีด้านเกษตรและอาหาร เร่งหารือและจัดทำนโยบายแผนงานปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายการส่งเสริมการผลิตผักและผลไม้ที่สะอาดมีคุณภาพได้มาตรฐานและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ปรับเปลี่ยนสู่ยุคนิวนอร์มอล
ผักและผลไม้ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีศึกษาเชื่อมโยงกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืน การผลิต การบริโภค การหมุนเวียนนำขยะอาหารมาเป็นปัจจัยการผลิตใหม่อีกครั้ง และสะท้อนว่าทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนสำคัญในการผลักดันอาหารไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะนโยบายการจัดสรรจากรัฐที่ควรให้มีการผลิตและการบริโภคผักผลไม้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ การส่งเสริมการผลิตบริโภคผักผลไม้ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อให้การบริหารจัดการสอดคล้องกับเป้าหมายและแนวคิดโมเดลการผลิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน
เวทีความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่มีต้นแบบรูปธรรมและความรู้ทางวิชาการมาร่วมออกแบบความพร้อมของประเทศไทยสู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการเชื่อมมองแนวคิดในระดับสากล เชื่อมโยงสู่รูปธรรมการปฏิบัติระบบอาหารที่มีการดำเนินงานในสังคมไทย โมเดลความสำเร็จที่ยั่งยืนในระบบอาหารที่ครอบคลุม และบทเรียนการดำเนินงานของประเทศไทยที่พร้อมเพื่อนำไปสู่การริเริ่ม ที่จะถกแถลงการณ์พัฒนาเชิงโครงสร้างและกลไกในการสนับสนุนภาคการเกษตรระบบอาหารของประเทศไทย นำไปสู่การพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนหรือ SDGs ต่อไป